พาราสาวะถี

นับจากวันนี้เชื่อได้เลยว่าจะมีบทสัมภาษณ์ บทวิเคราะห์และการเขียนถึงคดีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รอการพิพากษาอีก 1 เดือนข้างหน้ากันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสื่อไทยหรือสื่อต่างประเทศก็ตาม ซึ่งทุกมุมมองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เชียร์หรือพวกที่อยู่ตรงข้าม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจทั้งสิ้น เพราะคดีนี้มันไม่ได้เกี่ยวเฉพาะเป็นเรื่องส่วนตัวอดีตนายกฯหญิงเท่านั้น หากแต่หมายถึงความเป็นไปของสถานการณ์และทิศทางของบ้านเมืองด้วย


อรชุน

นับจากวันนี้เชื่อได้เลยว่าจะมีบทสัมภาษณ์ บทวิเคราะห์และการเขียนถึงคดีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รอการพิพากษาอีก 1 เดือนข้างหน้ากันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสื่อไทยหรือสื่อต่างประเทศก็ตาม ซึ่งทุกมุมมองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เชียร์หรือพวกที่อยู่ตรงข้าม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจทั้งสิ้น เพราะคดีนี้มันไม่ได้เกี่ยวเฉพาะเป็นเรื่องส่วนตัวอดีตนายกฯหญิงเท่านั้น หากแต่หมายถึงความเป็นไปของสถานการณ์และทิศทางของบ้านเมืองด้วย

วันนี้บทสัมภาษณ์ อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากเว็บไซต์ประชาไทต่อกรณีคดีของยิ่งลักษณ์ก็มีเรื่องชวนให้คิดไม่ใช่น้อย โดยเจ้าตัวมองว่า ความผิดนี้เป็นความผิดทางการเมือง จึงควรได้รับผิดทางการเมือง เช่น ถูกประชาชนลงโทษไม่ได้รับเลือกตั้ง หรืออื่นๆ ที่ทำให้หยุดนโยบาย โดยการต่อสู้ด้านอื่นๆ เช่น ฟ้องศาลปกครอง ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำให้ความผิดทางการเมืองกลายเป็นความผิดทางแพ่ง ทางการปฏิบัติราชการและอื่นๆ ซึ่งต้องแยกกัน

การคอร์รัปชั่นเอาผิดได้ แต่ตัวนโยบายต้องรับผิดชอบทางการเมืองมากกว่าการรับผิดทางกฎหมายแบบนี้ พวกต้านระบอบทักษิณเห็นทัศนะเช่นนี้คงคิดว่า อาจารย์รายนี้เป็นพวกทักษิณแน่ แต่ความจริงแล้วอรรถจักร์เป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเขาเห็นว่าผิดตั้งแต่คิดนโยบายแล้ว แต่เขากลับเห็นว่าการดำเนินคดีกับยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวหรือผิดหลักการที่ควรเป็น

การพยายามเอาผิดทางกฎหมายกับนโยบายของรัฐบาลเช่นในกรณีนี้ เป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับสังคมไทย เพราะสิ่งนี้สอดคล้องกับการสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้กระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งหมายถึงกระบวนการตัดสินใจในการกระจายทรัพยากรว่าจะให้ใคร ที่ไหน อย่างไร ถูกกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มระบบราชการ กลุ่มทหาร และกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล ซึ่งกลุ่มพวกนี้อาจเรียกว่า Deep State หรือรัฐพันลึก

นี่คือการรวมกลุ่มกันที่จะสร้างระเบียบชุดหนึ่งขึ้นมาที่จะจรรโลงให้การตัดสินใจทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แม้ว่ากลุ่มนี้จะบอกว่าทำตามความต้องการประชาชน แต่คุณไม่ได้ผูกกับประชาชนเลย กรณีคดีจำนำข้าวจึงสะท้อนให้สังคมไทยต้องตระหนักและกังวลว่า คนที่อยู่ในรัฐพันลึกกำลังเล่นเกมกับสังคมไทย กำลังถือว่ากลุ่มตนเองเท่านั้นคือผู้ที่กำหนดอนาคตของประเทศไทย รวมทั้งแผนนโยบาย 20 ปีที่เขาวางไว้ มันแปลว่าเราไม่สามารถขยับออกไปอย่างทันสถานการณ์ได้

ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าคดียิ่งลักษณ์จะออกมาอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องมองข้ามไปให้ไกลกว่านั้นก็คือว่า คดียิ่งลักษณ์เป็นตัวชี้อนาคตสังคมไทย ท้ายที่สุดแล้ว รัฐพันลึกจะคุมสังคมไทย อาจจะอยู่อีก 10 ปี 20 ปี หรืออย่างที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บอกว่าคงอยู่อีกนาน สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับกลุ่มคณาธิปไตยภายใต้ฉากประชาธิปไตย และคณาธิปไตยกลุ่มนี้คือคณาธิปไตยที่ครองอำนาจในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และประสงค์ที่จะครองต่อไปให้ยาวนานที่สุด สังคมไทยควรต้องคิดเรื่องนี้กันให้มาก

ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนขนาดกลางและขนาดเล็กที่เคยสนับสนุนคณะรัฐประหาร จงตระหนักว่าในอนาคตอีกไม่นานนี้ กลุ่มทุนขนาดกลางและขนาดเล็กจะถูกเบียดขับออกจากเวทีเศรษฐกิจ เพราะรัฐพันลึกที่เป็นกลุ่มทุนจะขยายออกไปมากขึ้นๆ จนกระทั่งเขี่ยนักธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ออกจากเวทีทางเศรษฐกิจ ซึ่งนี่คือรัฐพันลึกที่กำลังขยายตัวมากขึ้น

ขณะนี้ รัฐพันลึกไม่ใช่แค่ข้าราชการอีกต่อไป แต่ยังรวมกลุ่มทุนใหญ่ๆอีกมากมาย โมเดลประชารัฐและกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังประชารัฐก็คือการสมานสามัคคีกันของทุนกลุ่มหนึ่งหรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจกลุ่มหนึ่งร่วมกับรัฐ-ระบบราชการที่นำโดยทหาร สิ่งที่น่ากังวลคือระบบราชการไทยที่เทอะทะ ไร้ประสิทธิภาพ ท้ายสุดแล้วก็จะกลายเป็นผู้รับใช้กลุ่มทุนในรัฐพันลึก ไม่ใช่ผู้ที่คอยกำกับอีกต่อไป

ในสมัยก่อนเทคโนแครตมีเสียง แต่วันนี้อ่อนแอลง กรณีกฎหมายต่างด้าวชี้ให้เห็นชัดว่า ระบบราชการไทยตามไม่ทัน ออกกฎหมายมารัฐบาลหยิบไปใช้หน้าแตก คุณไม่สามารถยืนอยู่ในโมเดลรัฐพันลึกที่เป็นความสามัคคีกันของทุนในสมัยแรกที่ทุนเพิ่งเริ่มต้น ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมารัฐระบบราชการ เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และคัดเลือกกลุ่มทุนบางกลุ่มให้ได้ประโยชน์ก่อน

ดังนั้นกลุ่มทุนในสมัยนั้นก็จะยอมกับระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ แต่ในวันนี้กลุ่มทุนขยายตัวใหญ่กว่ารัฐระบบราชการ มีประสิทธิภาพมากกว่า คุณจะใช้ระบบราชการมาคานเขา มันเป็นไปไม่ได้ ระบบราชการต่างหากที่จะกลายเป็นเครื่องมือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในรัฐพันลึกคือกลุ่มทุนจะยึดระบบราชการที่คิดว่าจะต่อรองได้ นำได้ เหมือนที่คณะรัฐประหารคิด จะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

หากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเช่นกรณีจำนำข้าว ถูกเอาผิดในทางกฎหมาย (ต้องแยกระหว่างการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดกับการคอร์รัปชั่น ซึ่งอย่างหลังต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย) ย่อมหมายความว่าการเลือกนโยบายของประชาชนจะไม่มีความหมายอีกต่อไป รัฐบาลที่ตั้งใหม่จะสยบยอมอยู่ภายใต้รัฐพันลึก

กล่าวคือ เมื่อก่อนรัฐเองมีอิสระโดยสัมพันธ์กับทุนในระดับหนึ่ง เพราะทุนยังอ่อนแอ แต่ปัจจุบันรัฐถูกทุนเข้าไปยึดหมดแล้ว เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปที่จะใช้ระบบราชการมาคานกับทุน เพราะมันแตกต่างกันเกือบ 40 ปี ทุนขยายมากกว่าและทุนกลุ่มนี้ไม่มีอะไรขวางกั้นได้เลย แต่ก็มีคำถามตามมาว่า แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจะสามารถทัดทานกลุ่มทุนได้อย่างนั้นหรือ

คำตอบของอรรถจักร์ก็คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดจะต้องพะวงกับเสียงประชาชน เขาต้องลดทอนการขยายตัวของกลุ่มทุนที่ลงไปกระทบส่วนต่างๆ ลดการผูกขาดบางเรื่องลงไป เพื่อเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น เขาจะไม่ทำให้กลุ่มทุนที่ใหญ่โตขยายต่อไปได้สะดวกมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดประชาชนก็ยังพอจะมีที่หายใจได้มากกว่าในบรรยากาศต่อไปจากนี้

ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าคดียิ่งลักษณ์จะเพิ่มอุณหภูมิทางการเมืองจนก่อความวุ่นวาย แต่นัยที่ลึกและกว้างกว่านั้น มันกำลังบ่งบอกถึงอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของประชาชนที่ลดน้อยถอยลงทุกขณะ และการรุกคืบเข้ามาถือครองอำนาจของรัฐพันลึก และด้วยการรุกคืบเช่นนี้เองการเรียกร้องถามหาว่าเลือกตั้งตามโรดแมปจะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องสนใจใส่ใจอีกต่อไป เพราะเลือกตั้งมาแล้วทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม

Back to top button