ผ่าทางตันขาขึ้น
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยเมื่อปิดตลาดวันอังคารที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา คือการที่มีแรงซื้อของกองทุนในประเทศถั่งโถมเหมือนกินยาผิดซอง ดันให้ราคาหุ้นหลักของตลาดขับเคลื่อนให้ดัชนี SET ทะลวงแนวต้านสำคัญปิดตลาดเหนือ 1,580 จุดมาได้สวยงาม มูลค่าซื้อขายเยอะพอประมาณ แม้ต่างชาติจะขาย
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยเมื่อปิดตลาดวันอังคารที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา คือการที่มีแรงซื้อของกองทุนในประเทศถั่งโถมเหมือนกินยาผิดซอง ดันให้ราคาหุ้นหลักของตลาดขับเคลื่อนให้ดัชนี SET ทะลวงแนวต้านสำคัญปิดตลาดเหนือ 1,580 จุดมาได้สวยงาม มูลค่าซื้อขายเยอะพอประมาณ แม้ต่างชาติจะขาย
ในขณะที่ ดัชนีล่วงหน้า set50futures ปิดท้ายตลาดด้วยแรงเหวี่ยงขาขึ้นชัด แถมต่างชาติและกองทุนรุมทำ long แบบร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้ขาขึ้นดูดี ส่งผลให้สัญญาณเทคนิคก็ดูดีไปหมดทั้ง macd, rsi, stoch, bollinger band, candlestick รายวันสวย แม้สัญญาณรายสัปดาห์ไม่ชัดเจน
แถมคืนเดียวกัน ดัชนีของตลาดหุ้นนิวยอร์กอย่างดาวโจนส์เฉลี่ยอุตสาหกรรม ก็บวกแรง และราคาน้ำมันก็ทะยานทำนิวไฮในรอบ 1 เดือนจากข่าวการลดกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบีย และการเลื่อนประชุมโอเปกเร็วกว่ากำหนด เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดน้ำมันโลก
ปรากฏการณ์เช่นนี้ ส่อเค้าชัดเจนว่า กำลังจะเกิดภาวะการซื้อขายที่เรียกว่า breaking out หรือ breakouts ในตลาดหุ้นไทยเสียที หลังจากที่รอคอยกันรอมานานนับเดือน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายสำคัญของรอบคือ แตะแนวต้าน 1,600 จุด
ภาวะ breaking out จะเป็นจังหวะที่ทำให้ตลาดเป็นขาขึ้นอย่างฉับพลันยาวนาน แต่บางครั้งหมายถึงเพียงแค่ การถอนหายใจชั่วคราวของตลาดขาลงตามปกติ
โดยทั่วไปแล้ว ในยามที่ตลาดพักฐานหรือปรับฐานลง ดัชนีหรือราคาหุ้นจะดูดซับข่าวร้ายมากขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง จนกระทั่งแรงขายแทบหมดหน้าตักเข้าเขตขายมากเกิน แรงซื้อจะกลับมาโดยอัตโนมัติไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานปัจจัยของตลาดหรือคุณภาพของสินค้าหรือหลักทรัพย์แต่อย่างใด
ในทางกลับกัน หากเป็นตลาดขาขึ้น แรงซื้อที่มากเกินจากภาวะ breaking out สัญญาณทางเทคนิค จะเข้าสู่เขตซื้อมากเกินเร็วกว่าปกติเสมอ ซึ่งนักลงทุนที่ชาญฉลาดจะต้องตัดสินใจขายเมื่อมีกำไรโดยไม่ต้องสนใจราคาสูงสุดคือ margin of safety ที่ดีสุดตามสูตรของเบนจามิน แกรห์ม แต่ก็จะมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งที่หลงระเริงจะกลายเป็นแมงเม่าปีกหักง่ายดายมาก กว่าจะรู้ตัวเงินหน้าตักก็ไม่เพียงพอให้แก้ตัวใหม่ เว้นแต่จะตัดขาดทุนขายที่ติดเอาไว้บางส่วน
คำถามสำคัญที่ใครๆ ก็อยากจะรู้ก็คือว่า ภาวะดังกล่าวนี้จะดำรงอยู่นานแค่ไหน
หากมองจากภาพรวม ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบว่า ทิศทางเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีนี้ และต่อไปในปีหน้า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากภาคการเติบโตอย่างล่าช้าปีละ 3.0-3.5% ในยามที่การส่งออกตกต่ำ และขยายตัวลำบากมาก แต่เงินทุนเก็งกำไรที่ไหลเข้ามาในประเทศอย่างเป็นปริศนาระยะสั้นว่าเกิดอะไรขึ้น และส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างไร
โจทย์ข้างต้น แม้อาจจะไม่ได้ชี้ชัดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะถึงเวลาขาขึ้นไปกี่มากน้อย แต่มุมมองและข้อมูลเชิงบวก น่าจะทำให้ตลาดหุ้น ผ่านช่วงเวลาทดสอบความอึดทางจิตวิทยาของนักลงทุน ในยามไซด์เวย์อัพยาวนาน ซึ่งสามารถจะเกิดปรากฏการณ์ breaking out ที่นักลงทุนทุกคนต้องทำความเข้าใจและรู้ให้เท่าทัน ก่อนที่จะเจอกับเรื่องลับ-ลวง-พรางให้หลงทางได้
มีคนที่พยายามให้คำตอบยามนี้ เช่น นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) (MBKET) ออกมาฟันธงชนิดไม่เกรงผิดว่า ทีมงานของเขาได้ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ลงเหลือ 1,600 จุด จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถปรับขึ้นไปได้ถึง 1,650 จุด หลังมองว่าช่วงครึ่งหลังปีนี้ดัชนีจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,500-1,600 จุดเท่านั้น
เหตุผลที่นำมาอธิบายก็ดูดีทีเดียวว่าเกิดเนื่องจากกระแสเงินทุนหรือฟันด์โฟลว์จะยังไม่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นมากนัก จากแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเติบโตน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยก็สูงกว่าภูมิภาคด้วย
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสีย และด้วยต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้ การออกตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) และการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ทำให้บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุน การออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) หรือการงดจ่ายเงินปันผลเพื่อที่จะรักษาสภาพคล่องของบริษัทไว้ ทำให้ต้องลุ้นว่าบริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นจะทำผลประกอบการให้เติบโตทันกับผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น (Dilution Effect) ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่
สำหรับค่าเงินบาทที่ในปัจจุบันนับว่าแข็งค่าขึ้นมาค่อนข้างมาก หลังมีเงินทุนส่วนใหญ่ไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ ทีมงานของ MBKET ก็มีมุมมองเชิงลบว่า อีกระยะเวลาหนึ่ง คาดว่าค่าเงินบาทจะค่อยๆ อ่อนค่าลงตามกลไกตลาด ซึ่งตีความได้ว่า จะมีผลดีแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้นแอง ไม่มีอะไรให้น่าสนใจมากนัก
มุมมองนี้ ตีความหมายได้ว่า ภาวะ breaking out ไม่น่าจะต่างกับ “ผีพุ่งไต้” เท่าใดนัก
คงต้องจับตากันว่าใครถูกใครผิด