KTC แพะตัวใหญ่ของแบงก์ชาติ
ตอนแรกสุด ใครๆ ก็ทำไขสือบอกว่าเป็นแค่ข่าวลือ แต่ท้ายสุด นอกจากไม่ใช่ข่าวลือแล้ว.... ยังเป็นยิ่งกว่า "เดอร์ตี้บอมบ์" ที่ทำลายล้างไม่เลือกที่... สำหรับมาตรการควบคุมบัตรเครดิต ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของเจ้าหนี้ที่แบงก์ชาติที่มี "เจตนา ประสงค์ร้าย" ชัดเจน
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
ตอนแรกสุด ใครๆ ก็ทำไขสือบอกว่าเป็นแค่ข่าวลือ แต่ท้ายสุด นอกจากไม่ใช่ข่าวลือแล้ว…. ยังเป็นยิ่งกว่า “เดอร์ตี้บอมบ์” ที่ทำลายล้างไม่เลือกที่… สำหรับมาตรการควบคุมบัตรเครดิต ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของเจ้าหนี้ที่แบงก์ชาติที่มี “เจตนา ประสงค์ร้าย” ชัดเจน
ราคาหุ้นของ บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ร่วงต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์ จากระดับ 130.00 บาทที่คอยประคองตัวเอาไว้ มาอยู่ที่ล่าสุดแถวๆ 100.00 บาท และยังมีโอกาสหลุดร่วงมาใต้ 100.00 บาทได้อีก
นักวิเคราะห์ทุกสำนัก มองว่าKTC เป็นบริษัทที่ได้รับความเสียหายมากสุดเพราะรายได้หลักมาจากธุรกิจบัตรเครดิตเป็นหลัก ไม่เหมือนธนาคารพาณิชย์ที่แม้จะเสียไม่ต่างกัน แต่มีสัดส่วนขอความเสียหายไม่มากนักเมื่อเทียบกับกำไรรวม
ไม่ใช่เรื่องแปลก เวลาที่แบงก์ชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ ออกมาพูดถึงความห่วงใยเรื่องหนี้ครัวเรือนพร้อมๆ กัน …ธุรกิจบัตรเครดิตกลายเป็นเป้าเด่นเสมอมา ทั้งที่ว่าไปแล้ว เป็นมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีเจตนาเท่านั้นเอง
ย้อนดูตัวเลขของแบงก์ชาติเองว่าด้วยหนี้ครัวเรือน เมื่อล่าสุดคือเดือนมิถุนายน 2560 พบว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนทั้งระบบของไทย อยู่ที่ 11.480 ล้านล้านบาท คิดเป็นหนี้ของธนาคารพาณิชย์ 4.912 ล้านล้านบาท หนี้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 3.382 ล้านล้านบาท
ส่วนหนี้จากบัตรเครดิตมีอยู่ 1.080 ล้านล้านบาท
คำถามคือ ยอดหนี้บัตรเครดิต ที่คิดเป็น 0.9% ของยอดหนี้ครัวเรือนรวม ทำไมถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้ายของหนี้ครัวเรือนทุกครั้งที่มีการเอ่ยถึง …. คำตอบน่าจะเพราะหนี้บัตรเครดิต เป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน ดังนั้นจึงสามารถคิดดอกเบี้ยลูกค้าได้มากกว่าหนี้รูปแบบอื่นๆ….
ถึงบางอ้อแล้วสินะ …ว่าเวลาแบงก์ชาติลดบริษัทบัตรเครดิตทีไร ถึงพากันศิโรราบแต่โดยดี…ไม่มีที่จะเถียง
เมื่อไม่มีคนเถียง แบงก์ชาติก็เลยแสดงอำนาจไม่มีบันยะบันยัง …เพราะของมันเคย
เหตุนำร่องของแบงก์ชาติ ฟังผิวเผินดูดี เพราะอ้างว่า “….เพื่อดูแลไม่ให้ประชาชนบางกลุ่มที่มีความเปราะบางในการก่อหนี้จนเกินความสามารถในการชำระหนี้ หลังจากพบว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลในสินเชื่อ 2 ประเภท เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.9-3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 และสินเชื่อครัวเรือนขยายตัว 3.1% เมื่อไตรมาส 1 ปี 2560…” โดยจะให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
ข้ออ้างต่อไปคือ ล่าสุดอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยสูงถึง 78.6% โดย 50% เป็นหนี้ของคนที่อายุประมาณ 30 ปีเท่านั้น และปริมาณ 1 ใน 5 ของคนช่วงอายุ 25 ปีจะเป็นหนี้เสีย โดยคนไทยมีหนี้เฉลี่ยต่อรายที่ 1.5 แสนบาท ส่งผลให้ต้องมีมาตรการออกมาควบคุมดูแลไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงต่อไป
มาตรการประกอบด้วย 2 ส่วนทั้งเรื่อง วงเงิน และดอกเบี้ยชนิด “มัดตราสังข์” แน่นหนา เสมือนไม่อยากให้ผุดให้เกิดซะงั้น ดังนี้
– มาตรการกำหนดวงเงินในบัตร ใช้สำหรับผู้ขอมีบัตรเครดิตหรือผู้ขอสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่ ไม่มีผลย้อนหลังถึงลูกค้าเก่า โดยกำหนดวงเงินแก่ผู้ขอมีบัตรใหม่ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ตามรายได้ต่อเดือน โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ รายได้ตั้งแต่ 30,000 ถึง 50,000 บาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่า และรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 5 เท่า โดยไม่จำกัดจำนวนบัตรเครดิตที่จะขอ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละธนาคาร เพราะจากการศึกษาพบว่า ปริมาณบัตรไม่มีผลต่อหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น มากกว่าการจำกัดวงเงินในบัตร
– กำหนดให้สถาบันการเงินปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยลงไม่เกิน 18% จากเดิมที่ 20% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบันที่ต้นทุนทางการเงินต่ำลง เพดานอัตราดอกเบี้ยนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เช่นกัน โดยจะมีผลบังคับกับผู้มีบัตรเครดิตทั้งรายเดิม และรายใหม่ จำนวน 19.8 ล้านบัตร
มาตรการ “ดาบสอง” นี้ แบงก์ชาติประเมินว่าจะส่งผลต่อการทำกำไรของธุรกิจบัตรเครดิตลดลงประมาณ 4 พันล้านบาทต่อปี
เรียกว่าคำนวณมาแล้วเบ็ดเสร็จ ป้องกันไม่ให้รูดปรื๊ด เหมือนอย่างที่เคยทำกันมา จนชาชิน
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดานักวิเคราะห์ “ขาทุบ” จะพากันปรับเป้า KTC ลดลงอุตลุต โดยทั้งปรับลดประมาณการและราคาเป้าหมาย ของ KTC ตลอดทั้งปี 2560 ว่าจะได้รับผลกระทบทางลบ มากกว่า 4% ในช่วง 4 เดือนสุดท้าย และไปหนักขึ้นในปี 2561 ที่จะติดลบลงไปอีกจากสิ้นปีนี้ ประมาณ 29% เนื่องจากคาดว่ากฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น
งานนี้ คนที่รับผลพวงหนักกว่าใคร หนีไม่พ้น ซีอีโอใหญ่ นายระเฑียร ศรีมงคล ว่าจะรับมือสถานการณ์ใหม่ดีแค่ไหน
ในอดีตที่ผ่านมา ภายใต้คนฝีมือรอบตัวอย่างนายระเฑียร KTC สามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้ต่อเนื่องโดยผลกระทบจาก NPLs ต่ำลงมาก และมีผลทำให้ราคาหุ้นของ KTC กลายสภาพเป็น “ดาวค้างฟ้า” ยาวนาน
มีการคาดหมายว่าพาราไดม์ใหม่ที่แบงก์ชาติสั่งลงดาบธุรกิจบัตรเครดิต จะบีบคั้นให้ผู้บริหาร KTC จำต้องเพิ่มใช้งบการตลาดสูงขึ้นในครึ่งปีหลัง กระทบต่อกำไร…แต่นี่ก็เป็นแค่การคาดเดาด้วยจินตนาการ…ยังไม่เกิดขึ้นจริง
คนที่รู้ดี และตกที่นั่งลำบากมากที่สุดยามนี้ หนีไม่พ้น ระเฑียร ศรีมงคล…. ในสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม
ส่วนจะเป็น “แพะเดียวดาย” หรือ “แพะ แบ๊ะๆๆ” ว่ากันในอนาคต
อิ อิ อิ