TRUE ล้างขาดทุนสะสม

การตัดสินใจลดทุน-ลดพาร์ครั้งนี้ แม้จะมีกระแสข่าวสะพัดมาโดยเฉพาะจากผู้บริหารว่า TRUE จะสามารถกลับมามีกำไรอีกครั้ง จึงเป็นเครื่องหมายคำถามมากกว่าความน่าชื่นชม โดยเฉพาะคำมั่นสัญญาว่าจะกลับมีกำไรอีกครั้ง ได้รับการเอ่ยมาทุกปี ในระยะ 5 ปีหลังนี่ แต่ไม่เคยเป็นจริงเลย


ฟอกตัวครั้งใหม่ของหุ้น TRUE เมื่อผู้ถือหุ้นไฟเขียวล้างขาดทุนสะสม 3.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งทำการลดทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว ด้วยการลดมูลค่าหุ้นด้วยการลดพาร์ 10 บาท เหลือ 4 บาท

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 มีมติเสียงข้างมากอนุมัติแผนการล้างขาดทุนสะสมของบริษัท โดยการโอนทุนสำรองตามกฎหมายจำนวน 34.88 ล้านบาท และจำนวนสุทธิของส่วนเกินมูลค่าหุ้นและส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัท จำนวน 110,563.60 ล้านบาท

รวมทั้งทำการลดทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว ด้วยการลดมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้น (Par value) จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 4 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมของบริษัท ณ สิ้นปี 2557 ที่มีอยู่จำนวน 37,152.25 ล้านบาท ทั้งนี้ หลังจากทำตามกระบวนการดังกล่าวแล้ว จะส่งผลให้คงเหลือผลขาดทุนสะสมอีกเพียงเล็กน้อย จำนวน 33.41 ล้านบาท

นี่ถือเป็นการทำความสะอาดบ้านครั้งสำคัญ หลังจากที่บริษัทมีปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องทุกปี จนวนเวียนกับวัฏจักร “กู้-เพิ่มทุน-กู้-เพิ่มทุน” ซ้ำซาก แม้ว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจจะต่อเนื่องมากเพียงใด

การลดขาดทุนสะสมดังกล่าว เป็นไปตามสูตรวิศวกรรมการเงินที่ใช้กันชาชินนั่นคือ ลดทุนลงเท่ากับที่ขาดทุนไป ส่งผลให้ตัวเลขยอดขาดทุนสะสมก็หายไปจากบัญชี

 

เหตุผลของการลดทุนคือ เพื่อจะกลับมาทำกำไร และจ่ายปันผลรอบใหม่นั่นเอง!!

 

การลดทุนดังกล่าวซึ่งทำด้วยการลดพาร์ 10 บาท เหลือ 4 บาท มีการพูดกันมานานแล้ว แต่เพิ่งลงมือกระทำจริงจัง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทำได้ไม่ยาก เพราะความจริงแล้วเป็นเพียงการปรับตัวเลขให้ใกล้เคียงตามมูลค่าทางบัญชีเท่านั้นเอง

สิ่งที่ตัดสินใจดังกล่าว ถือว่าเป็นกระบวนการเพื่อหยุดยั้งสิ่งที่เรียกกันว่า ยุทธการถมไม่เต็ม ที่เกิดขึ้นมายาวนานหากมองย้อนกลับไปนับแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นต้นมากว่า 20 ปี ผลประกอบการและราคาหุ้นของ TRUE วิ่งสวนทางกันมาตลอด

ที่ผ่านมาราคาหุ้นของ TRUE  ถือเป็นการฉีกตำราทฤษฎีของนักลงทุนเน้นคุณค่าอย่างสิ้นเชิงชนิดที่ต้องเผาตำราทิ้งกันเลยทีเดียว  เพราะบริษัทที่ไม่เคยปรากฏว่าผลประกอบการมีกำไรเลย (ยกเว้นกำไรพิเศษบางไตรมาส) แต่อาศัยวิศวกรรมการเงิน และความช่ำชองพิเศษของนักลงทุนรายใหญ่บางกลุ่ม ทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นลงเพิ่มขึ้นอย่างไม่แยแสกับปัจจัยพื้นฐานแม้แต่อย่างใด

TRUE ในยุคของชื่อเดิมคือ บริษัท เอเชีย เทเลคอม หรือ TA เติบโตมาได้จากการก่อหนี้ผ่านการกู้เงิน และออกตราสารหนี้ ผสมกับการเพิ่มทุน (เพื่อสร้างพันธมิตรธุรกิจ หรือเพื่อแก้ปัญหาส่วนผู้ถือหุ้น) เป็นระยะๆ มาโดยตลอด ซึ่งยังผลให้มาร์เก็ตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัทในปัจจุบันมากถึง 278,069.59 ล้านบาท แต่มีส่วนผู้ถือหุ้นต่ำมาก บางปีอยู่ที่ระดับเพียงไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท

ที่ผ่านมานับแต่เข้าระดมทุนจดทะเบียนเมื่อปลายปี 2536 TRUE ทำการเพิ่มทุนย่อยๆ หลายครั้ง แต่มีการเพิ่มทุนใหญ่ 2 ครั้งที่เป็นจุดพลิกผันสำคัญ ในปี 2554 และ 2557

ในปี 2554 TRUEเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 77,757.42 ล้านบาท เป็น 145,031.79 ล้านบาท แต่ได้เงินมาจริงแค่ 1.31 หมื่นล้านบาท จากความต้องการเงินเข้าไปซื้อกิจการต่อจากกลุ่มฮัทชิสัน ที่ถอนตัวออกจากการร่วมทุนกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดยหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากการร่วมทุนดังกล่าว เข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์มือถือ 3G ที่ดัดแปลงและพัฒนาจากคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ ก่อนคู่แข่งรายที่กำลังรอการประมูลคลื่น 3 จี ในระบบคลื่น 2,100 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้แบรนด์TrueMove H เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อหวังปลดล็อกปัญหาเรื่องระยะเวลาสัมปทานโทรศัพท์มือถือที่จะหมดลงในปี 2556

 

การเพิ่มทุนดังกล่าว เกิดจาก TRUE มีโครงสร้างหนี้เป็นจำนวนมาก เมื่อจะลงทุนใหม่ ต้องเพิ่มทุน เพื่อนำมาลงทุน และปรับลดโครงสร้างหนี้โดยไม่ต้องกังวลถึงโครงสร้างหนี้เดิมที่อาจส่งผลให้ไม่สามารถลงทุนได้ โดยอ้างเหตุผลแอบอิงว่า เงินที่เหลือจากการนำไปลงทุน จะนำไปมาหักลดหนี้เงินกู้เร่งด่วนที่ต้องชำระคืนบางส่วน

แม้เงื่อนไขของการขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนั้น จะขายต่ำกว่าราคากระดาน แต่หลังการเพิ่มทุนครั้งนั้น ราคาหุ้นของ TRUE ที่ซื้อขายในตลาด วิ่งขึ้นโดดเด่นอีกครั้ง ด้วยความคาดหวังของนักลงทุนว่า บริษัทจะกลับมามีกำไรได้อีกครั้ง แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะผลประกอบการของ TRUE ยังไม่กระเตื้องขึ้น เพราะปรากฏตัวเลขขาดทุนสุทธิเลวร้ายมากขึ้น

ฐานะของการเงิน TRUE ดูดีขึ้นบ้าง เมื่อปลายปี 2556 สามารถตั้งกองทุน TRUEIF มูลค่า 7 หมื่นล้านบาทได้สำเร็จ สามารถขายสินทรัพย์ที่ประกอบด้วย1.เสาโทรคมนาคม 13,000 เสา 2.โครงข่ายใยแก้วนำแสง อุปกรณ์ระบบสื่อสัญญาณ 45,000 คอร์กิโลเมตร และ 9,000 ลิงค์ 3.โครงข่ายบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด 1.2 ล้านพอร์ต (ต่อมาตัดทิ้งเสาโทรคมนาคม 7.5 พันเสาที่มีข้อพิพาทกับ กสท ออกไป) แต่มีคนท้วงติงว่าเงินที่ได้รับมาถูกนำไปใช้หนี้มากกว่าใช้ลงทุนเพื่อสร้างรายได้ใหม่

สถานการณ์ของ TRUE ไม่ดีขึ้น เพราะสิ้นไตรมาส 2 ของปี 2557  การขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้ TRUE มีส่วนผู้ถือหุ้นลดเหลือแค่ 6,227.62  ล้านบาท จำต้องทำการเพิ่มทุนใหญ่ครั้งที่สองอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ส่วนผู้ถือหุ้นปลอดภัย เนื่องจากยังต้องขาดทุนต่อไปอีกนานพอสมควร ทำให้เป็นที่มาของการเพิ่มทุนครั้งมโหฬาร10,077.71 ล้านหุ้น  กำหนดราคาขายหุ้นเพิ่มทุน 6.45 บาท โดยแบ่งการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ส่วนที่สอง เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 4,429,427,068 หุ้น ให้แก่ China Mobile International Holdings Limited (China Mobile) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ China Mobile Limited

การเพิ่มทุนดังกล่าว ทำให้บริษัทได้เงินสดจำนวน 65,000 ล้านบาท จนทำให้ D/E ต่ำกว่า 1 เท่า จากปัจจุบัน D/E อยู่ที่ 9 เท่า และ Net D/E ต่ำกว่า 2 เท่า 

เงินส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ชำระหนี้ธนาคารทั้งหมดจำนวน 52,000 ล้านบาท ทำให้หนี้ส่วนของธนาคารจะหมดไปทันที ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่บริษัทต้องจ่ายในแต่ละปีลดลงไปถึง 4,000 ล้านบาท เหลือจ่ายดอกเบี้ยเพียงปีละกว่า 3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยประมาณปีละ 7,000 ล้านบาท ดังนั้น มีโอกาสที่บริษัทจะพลิกเป็นกำไรได้

เงินเพิ่มทุนที่เหลืออีกจำนวน 13,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งบริษัทจะนำไปใช้สำหรับประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz ที่สำนักงาน กสทช. จะเปิดประมูลในปีหน้า และที่เหลือเตรียมความพร้อมไว้สำหรับธุรกิจในหลายๆ ด้าน โดยบริษัทมองการขยายธุรกิจไปยังประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่มองว่าไปได้เร็วที่สุด คือ เพย์ทีวี

 

หลังการประกาศเพิ่มทุน สิ่งที่ตามมาคือราคาหุ้นของ TRUE จะกลับทะยานอย่างเอาเป็นเอาตายหลังการประกาศเสมอ ประเด็นการเพิ่มทุนให้ผลดีต่อ TRUE อย่างแท้จริง ก่อนจะมีการลดทุนลดพาร์ในเดือนเมษายน

 

 

อย่างไรก็ตาม มุมมองเรื่องการเพิ่มทุนของ TRUE และวิศวกรรมการเงิน แต่ข้อเท็จจริงคือ การเพิ่มทุนและวิศวกรรมการเงินดังกล่าว ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อหนี้ของ TRUE ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยธุรกิจแล้ว แม้ว่า TRUE จะมีจุดเด่นที่มีความหลากหลายครบถ้วน ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มธุรกิจด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มทรูโมบายล์ ซึ่งประกอบด้วย ทรูมูฟ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสาม และเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มในด้านจำนวนสมาชิก และรายได้ ทรูมูฟ เอช ผู้ให้บริการขายต่อบริการ 3G+ ของ กสท โทรคมนาคม (กสท) ด้วยเทคโนโลยี HSPA บนคลื่นความถี่ 850MHz และฮัทช์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเครือข่าย CDMA

ทรูออนไลน์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานรายใหญ่ที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

– ทรูวิชั่นส์ ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกทั่วประเทศ ทรูมันนี่ บริการธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ และบริการดิจิตอลคอนเทนต์ต่างๆ อาทิ บริการเกมออนไลน์ การดาวน์โหลดคอนเทนต์ และบริการเว็บพอร์ทัลภายใต้ทรูไลฟ์

ทั้งสามกลุ่มธุรกิจนี้  มีการบริหารจัดการภายใต้คอนเซ็ปต์หลักคือ ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ ที่ผสมผสานผลิตภัณฑ์บริการและโครงข่าย เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจรที่ตอบสนองตรงใจทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ต้องพึ่งพากลยุทธ์ด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว

ที่ผ่านมาการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้า และทำตลาดแบบไลฟ์สไตล์ตามนโยบายคอนเวอร์เจนซ์ ด้วยการออกแคมเปญสารพัดต่อเนื่อง เพื่อสร้างลูกค้าใหม่สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ทำให้บริการนอนวอยซ์เติบโตอย่างมาก และตลาดต่างจังหวัดก็แสดงศักยภาพว่ายังมีโอกาสโตอีกมาก โดยไม่เน้นกลยุทธ์ราคา สะท้อนให้เห็นแนวทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สร้างผลตอบแทนทางการเงินที่ตรงกันข้าม ทำให้มีตัวเลขขาดทุนจากการประกอบการต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากตัวเลขสัดส่วน ROE และอัตราส่วนกำไรสุทธิ ที่ลดลงสวนทางกับรายได้

การรุกทางธุรกิจเหล่านี้ ต้องการทุนมหาศาล แต่โอกาสที่จะทำกำไรมากมาย ก็ใช่ว่าจะง่ายดาย เพราะธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มของ TRUE นั้น มีคู่แข่งที่ชัดเจนปรากฏให้เห็นเป็นขวากหนามต่อไป (ดังจะเห็นได้จากตารางประกอบ) ในทุกกลุ่มที่ล้วนแล้วแต่แข็งแกร่งทั้งสิ้น

 

คู่แข่งทางธุรกิจของ TRUE ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ

กลุ่มบริการ

คู่แข่งขันสำคัญ

โทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มทรูโมบายล์

ADVANC และ DTAC

บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต กลุ่มทรูออนไลน์

ค่าย JAS ทำธุรกิจควบคู่ไปกับค่าย ADVANC

บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกทั่วประเทศทรูวิชั่นส์ 

บริการธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ทรูมันนี่ และบริการดิจิตอลคอนเทนต์

CTH 

GRAMMY

RS และค่ายโทรศัพท์มือถืออื่นๆ

 

แนวรบทั้ง 3 ด้านของบริษัทโดยมีคู่แข่งขันที่ไม่ด้อยกว่ากันเท่าใดล้อมกรอบอยู่ เป็นคำถามที่ท้าทายผู้บริหารบริษัท และนักลงทุนอย่างมาก แม้ผู้บริหารของ TRUE จะยังมองโลกในแง่ดีว่า มีโอกาสกลับมาทำกำไรได้ แต่ความมั่นใจในตัวเอง กับข้อเท็จจริงของการแข่งขัน ก็อาจสวนทางกันได้ หรือไม่ไปด้วยกันเสมอ

 

ตารางแสดงภาระหนี้ของ TRUE

ปี

2553

2554

2555

2556

2557

D/E (เท่า)

8.62

6.26

12.47

49.28

2.33

 

ภาระหนี้ดังกล่าวเชื่อมโยงอยู่กับกลยุทธ์การตลาดของผู้บริหาร เพราะตราบใดที่การแข่งขันในธุรกิจที่มีลักษณะเปิดศึกหลายด้านพร้อมกันยังเดินหน้าต่อไป เพราะทรูโมบายตั้งเป้าหมายจะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 1 ใน 3 หรือมีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 33% และเพิ่มสัดส่วนลูกค้าแบบรายเดือน (post paid) ให้เติบโตขึ้นจากปัจจุบันมี 3.9 ล้านราย ยังมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุน โอกาสที่จะทำให้อัตราส่วนหนี้ และตัวเลขยอดหนี้เพิ่มสูงขึ้น ความคาดหวังของนักลงทุนที่หวังว่าจะสามารถกลับมาจ่ายปันผลได้เสียที คงต้องรอไปอีกยาวนานเหมือนที่ผ่านมา

การตัดสินใจลดทุน-ลดพาร์ครั้งนี้ แม้จะมีกระแสข่าวสะพัดมาโดยเฉพาะจากผู้บริหารว่า TRUE จะสามารถกลับมามีกำไรอีกครั้ง จึงเป็นเครื่องหมายคำถามมากกว่าความน่าชื่นชม โดยเฉพาะคำมั่นสัญญาว่าจะกลับมีกำไรอีกครั้ง ได้รับการเอ่ยมาทุกปี ในระยะ 5 ปีหลังนี่ แต่ไม่เคยเป็นจริงเลย

Back to top button