PTG แตกเพื่อโต..!?
หลังบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เข้าซื้อหุ้นบริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ Coffee World, Cream & Fudge, New York 5th Av. Deli, Coffee World Restaurant และ Thai Chef Express มูลค่า 205 ล้านบาท ด้วยการลงทุนผ่านบริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด (PUN) ที่ PTG ถือหุ้น 99.99%
พลวัตปี 2017 : สุภชัย ปกป้อง (แทน)
หลังบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เข้าซื้อหุ้นบริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ Coffee World, Cream & Fudge, New York 5th Av. Deli, Coffee World Restaurant และ Thai Chef Express มูลค่า 205 ล้านบาท ด้วยการลงทุนผ่านบริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด (PUN) ที่ PTG ถือหุ้น 99.99%
การเปิดเกมรุกดังกล่าว ทำให้เห็นทิศทางธุรกิจ PTG ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือการปักหมุดขยาย “ธุรกิจนอน-ออยล์” นอกสถานีบริการทั้งในและต่างประเทศ ลดการพึ่งพาธุรกิจน้ำมันอย่างเดียว โดยพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTG หมายมั่นว่าจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการขยายไปสู่ธุรกิจด้านอาหาร และเครื่องดื่มในอนาคต
ที่สำคัญช่วยลดความเสี่ยงการพึ่งพาธุรกิจน้ำมันเพียงอย่างเดียว เพราะธุรกิจค้าน้ำมันมาร์จิ้นต่ำเพียง 2% เท่านั้น ดังนั้นแม้มียอดขายสูง แต่กำไรค่อนข้างต่ำ..จึงเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของกำไร PTG อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากโจทย์หลักนี้จึงต้องจับตาดูว่าอัตราการทำกำไรธุรกิจ Non-Oil จะเข้าเติมเต็มความแข็งแกร่งให้ PTG ระยะยาวได้มากน้อยอย่างไร เบื้องต้นปฏิเสธไม่ได้ว่า Non-Oil เป็นธุรกิจที่แม้รายได้ไม่สูงเท่ากับธุรกิจน้ำมัน แต่สร้างอัตรากำไรขั้นต้นสูง โดยธุรกิจดังกล่าวประกอบด้วย…
1)ร้านสะดวกซื้อ Max Mart ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการ PT เป็นธุรกิจย่อยที่สร้างอัตราการทำกำไรสูงและต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำ ล่าสุดบริษัทมีร้านสะดวกซื้อ Max Mart จำนวน 28 สาขา ในปี 2016 และ PT Mart ที่ในอนาคตจะเปลี่ยนมาภายใต้ Max Mart อีก 13 สาขา บริษัทตั้งเป้าขยายจำนวนร้านสะดวกซื้อ 10% ของสถานีทั้งหมด
2)ร้านกาแฟพันธุ์ไทย รายได้จากร้านกาแฟมีเติบโตประมาณ 20% ถือเป็นตัวหลักที่มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำแต่สร้างกำไรขั้นต้นกว่า 50-60% ขึ้นไป และการได้แบรนด์ Coffee World เข้าจะทำให้ธุรกิจร้านกาแฟ มีการเติบโตทางลัด ด้วยอัตราเร่งอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว
3)การให้บริการ LPG ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมธุรกิจนี้อยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี มีผู้เล่นหลักคือ สยามแก๊สและเวิลด์แก๊ส บริษัทตั้งเป้าเปิดสถานีให้บริการ LPG ให้เป็นกว่า 250-300 แห่ง ภายในปี 2561 ทำให้รายได้จากธุรกิจค้าปลีกแก๊สผ่าน PT จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะอยู่ช่วงเริ่มต้นและกำลังขยายการให้บริการ
4)การจำหน่ายน้ำมันเครื่อง (Lubricants) น้ำมันหล่อลื่น ภายใต้แบรนด์ คือ “พีที แมกซ์นิตรอน” ถูกตั้งความหวังว่าอัตรากำสูงไม่แพ้ร้านกาแฟพันธุ์ไทยเลยทีเดียว
นอกเหนือจากนี้ PTG ขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานงานทดแทน (Renewable) อาทิ การลงทุน Palm Complex ที่จะเริ่มผลิตได้ช่วงปลายปีนี้ เพิ่มช่องทางรายได้จากน้ำมันปาล์ม และธุรกิจเอทานอลที่บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาอีกเช่นกัน
แต่ทว่า PTG เลี่ยงไม่ได้ ที่ต้องเผชิญคู่แข่งสำคัญทั้งปตท.และบางจาก ที่ปักธงลงสู้ศึก Non oil Business เช่นกัน แน่นอนทั้ง 2 ราย ต่างได้เปรียบทั้งเงินทุน เครือข่ายและกลยุทธ์เจาะธุรกิจค้าปลีกแบบครบวงจร แต่ว่า PTG มีความได้เปรียบเรื่องความคล่องตัวและช่องว่างการเติบโตจากธุรกิจนี้
ส่วนเรื่องการระดมเงินเพื่อการลงทุน ภายใน 1-2 ปีนับจากนี้จะได้เห็นการใช้ “วิศวกรรมการเงิน” รูปแบบต่างๆ หนึ่งในคือการ Spin-off หรือการนำบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อซัพพอร์ตการขยายธุรกิจในเครือ PTG ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาสถานีบริการน้ำมันเมืองใหญ่ในอัตราเร่ง
ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง “แบรนด์อิมเมจ” หรือการเร่งขยายสาขาธุรกิจนอน-ออยล์ เพื่อทำให้เกิด Economies of Scale เพื่อการลดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยต่อไป