พิพากษาพันธมิตร
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เพียงยกฟ้องสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับพวก หากยังพิพากษาว่า ม็อบพันธมิตรฯ ปิดล้อมรัฐสภา “มิได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ” เพราะถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 176
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เพียงยกฟ้องสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับพวก หากยังพิพากษาว่า ม็อบพันธมิตรฯ ปิดล้อมรัฐสภา “มิได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ” เพราะถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 176
แกนนำพันธมิตรฯ จึงออกมาดิ้นรน “เคารพคำพิพากษาของศาลฯ แต่ไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่าคำพิพากษามีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงหลายประการ” ซึ่งก็เป็นสิทธิ แต่จำไว้ด้วยเวลาที่คนอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฯ
พันธมิตรฯไม่ได้ดิ้นพล่านเพียงเพราะต้องการให้ 4 จำเลยถูกลงโทษ หากยังจำเป็นต้องปกป้องตนเอง ที่กำลังโดนอีกหลายคดี ทั้งยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ซึ่งยืนกรานว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ หากศาลฎีกาฯพิพากษาเป็นบรรทัดฐานว่า ปิดล้อมรัฐสภาไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ แล้วยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน จะเหลืออะไร
พันธมิตรฯ พยายามยกมติ ป.ป.ช.มาโต้แย้ง ซึ่งตลกดี ก็มติ ป.ป.ช.นี่ไงที่ส่งให้ศาลตัดสิน แล้วยังยกมติกรรรมการสิทธิฯ ชุดที่หมอพรทิพย์ร่วมเป็นอนุกรรมการ ซึ่งหาว่าการระดมยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ม็อบ อาจเข้าข่ายความผิดฐานฆ่า และพยายามฆ่า
เสียดายกรรมการชุดนี้ไม่อยู่ถึงปี 53 ถ้าสั่งใช้แก๊สน้ำตามีความผิดฐานฆ่า และพยายามฆ่า แล้วสั่งใช้กระสุนจริง จะผิดฐานอะไร
พันธมิตรฯยังอ้างคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ซึ่งยังต้องรอศาลสูงสุด หากย้อนอ่านคำพิพากษา ก็อิงมติ ป.ป.ช.และมติ กสม.ว่าการสลายม็อบไม่เป็นไปตามขั้นตอน แล้วถ้าย้อนไปก่อนนั้น เมื่อครั้งสั่งคุ้มครองชั่วคราว ศาลปกครองฯเองก็ชี้ว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ
แม้ศาลปกครองสูงสุดไม่จำเป็นต้องยึดตามศาลฎีกาฯ แต่คำพิพากษาศาลฎีกาฯก็อยู่บนหลัก 2 ข้อคือ การปิดล้อมรัฐสภาไม่ให้ ครม.แถลงนโยบายจะถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ และแม้เกิดผู้บาดเจ็บสาหัสจากการสลายม็อบด้วยแก๊สน้ำตา แต่ผู้สั่งการก็มิได้จงใจ (เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นอันตรายถึงเพียงนั้น) หลังจากนั้นสถานการณ์ก็ติดพัน ม็อบโกรธแค้นพยายามบุกรัฐสภาและ บช.น.จึงสั่งตำรวจให้ยุติไม่ได้
องค์กรทางกฎหมายใดที่บอกว่าการปิดล้อมรัฐสภา ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ปิดสถานที่ราชการ ขัดขวางเลือกตั้ง ฯลฯ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับบิดเบือนกฎหมายเสียเอง (แต่ก็มีแล้วไง ตอนเป่านกหวีดปี 56-57)
แม้แต่ศาลอุทธรณ์ซึ่งลดโทษจำคุก 6 แกนนำพันธมิตรฯ จาก 2 ปีเหลือ 8 เดือนในคดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาล ก็ยังชี้ว่า“การที่จำเลยกับผู้ชุมนุมเข้าไปครอบครอง โดยอ้างว่าเป็นเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ เป็นการพิทักษ์รักษาสถาบันชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ได้หมายความให้ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นและทำผิดกฎหมายบ้านเมือง หากละเมิดกฎหมายแล้วจะอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบไม่ได้”
บ๊ายบาย “ม็อบมีเส้น” แม้ยังมีเส้นอยู่ เพราะไม่โดนข้อหาหนักอย่างพวกเสื้อแดง แต่นับจากนี้ก็ต้องทยอยขึ้นศาล เหลือเครดิต เหลือพลังทางการเมืองไม่มาก ไม่สามารถเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจในปัจจุบัน
ยามใดที่ไล่ขยี้ยิ่งลักษณ์ทักษิณ ก็ดูเหมือนมีกองเชียร์เพียบ แต่เมื่อไหร่ที่เห็นต่าง คัดค้านรัฐบาลทหาร เมื่อนั้นก็เหลือแค่หยิบมือราคามีแค่นี้เอง