POLAR ไม่เจ๊งก็ได้ (วะ)

ความหมายของคำว่ากิจการล้มละลาย กับขอฟื้นฟูกิจการ แตกต่างกันอย่างไร?


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ความหมายของคำว่ากิจการล้มละลาย กับขอฟื้นฟูกิจการ แตกต่างกันอย่างไร?

คำตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็ต้องบอกว่า แตกต่างกัน แต่… โดยสาระแล้ว มันก็หาได้ต่างกันไม่ เพราะถ้าบริษัทไม่ล้มละลาย ก็คงไปขอศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการไม่ได้ … โดยเฉพาะบริษัทมหาชนจดทะเบียน เพราะมันเกี่ยวกับรายละเอียดและการใช้สิทธิ์อีกมากมาย

ไม่ใช่เรื่องที่กรรมการ หรือผู้บริหาร จะมโนนึกเอาเอง…อยากจะล้มก็ล้ม อยากจะลุกก็ลุก ตามแบบศิลปินเดี่ยวที่ไม่อยากรับผิดชอบใครๆ

กรณีของหุ้นบริษัทที่เปลี่ยนชื่อมาแล้ว 4 ครั้งในรอบ 20 ปี (แถมเปลี่ยนกิจการบ่อยกว่า จนนึกไม่ออกว่าทำอะไรกันแน่ ในตอนนี้) อย่างบริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด(มหาชน) หรือ POLAR เป็นตัวอย่างของเกมไร้สาระทางการเงิน หรือ financial vanity fair …ที่บรรดา “ขาเม่า” ชอบกันนัก เป็นตัวอย่างที่ว่าได้ชัดเจน

จากชื่อเดิมของบริษัทที่หมดอนาคตในธุรกิจเส้นด้าย เพราะธุรกิจเข้าสู่ยุคตะวันตกดิน…บริษัท นครหลวงเส้นใย จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเส้นใยสังเคราะห์และเส้นด้ายไนลอน (ใช้ชื่อย่อ HTX) ที่มอบตัวต่อศาลล้มละลายกลางปี 2548 ได้ถูกนัก “ล่าประตูหลัง” เข้ามาถือหุ้นใหญ่พร้อมวิศวกรรมการเงิน เปลี่ยนชื่อไปเป็น บริษัท ลิฟวิ่งแลนด์ แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ LL (ฉายาที่ขาเม่าคุ้นเคยกันว่า “โอ้ ลาล้า”) ตามชื่อบริษัทหุ้นใหญ่ใหม่ ทำอสังหาริมทรัพย์

แล้วก็เป็นไปตามสูตร… ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา …หลังจากออกจากแผนฟื้นฟูกิจการมาได้ในปี 2551 ศาลพิพากษายกเลิกการฟื้นฟูกิจการในวันที่ 3 เมษายน 2551 และบริษัทได้ยื่นขอพ้นเหตุเพิกถอนและย้ายกลับหมวดปกติเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ และได้รับอนุมัติให้เริ่มกลับมาทำการซื้อขายในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา  LL ก็ไปไม่รอด แต่เปิดทางให้กลุ่มใหม่เข้ามา แล้วเปลี่ยนชื่อ เป็นบริษัท วธน แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ WAT เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 มีรูปเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีกิจการของตนเองชัดเจน

จากนั้นเกม M&A ก็พัลวันพัลเก จนในที่สุด เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเมื่อ 2 ปีก่อน พร้อมกับวิศวกรรมการเงินสารพัดเป็นระยะๆ พร้อมโครงการและแผนธุรกิจ “เหมือนฝัน” เท่าที่สรรหามาได้

1 ในดีลที่อื้อฉาว คือ กรณีที่ POLAR ประกาศปลายเดือนธันวาคม2559 ว่า ได้ใช้เงิน 308.00 ล้านบาทซื้อกิจการของบริษัท เดย์ โพเอทส์ จํากัด ผู้ผลิตนิตยสาร a day, a day bulletin, Hamburger และ Knock Knock ในราคาหุ้นละ 630 บาท โดยผู้ขายคือ ผู้ขายหุ้นให้ คือ บริษัท ไทยฟู้ด โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ธนวรินทร์ จำกัด ซึ่งปรากฏว่าบริษัทหลังนี้มีชื่อของนายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ผู้ถือหุ้นของ POLAR เป็นผู้ถือหุ้นร่วมด้วย (และลือว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริง)

ดีลดังกล่าวมีขึ้นและล่มไป ก่อนที่ต่อมา ตัวเลขปิดงวดสิ้นปี 2559 (ซึ่งส่งล่าช้าไปจากกำหนดถึง 2 เดือน) จะมีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 754.50 ล้านบาท จากรายได้รวมแค่ 250.44 ล้านบาท แต่ยังมีส่วนผู้ถือหุ้นเหลือเฟือ 4,580.01 ล้านบาท และยอดหนี้สินรวมแค่ 464.00 ล้านบาท

หลังจากนั้น POLAR ก็มีข่าวแพร่สะพัดว่าเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่อีกแล้ว …แต่ที่สำคัญกว่านั้น ไม่ยอมส่งงบการเงินไตรมาสแรกของปีนี้ จนถูกตลาดออกคำสั่งห้ามการซื้อขายตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

คำสั่งพักการซื้อขายเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับกรณีที่ผู้บริหารและกรรมการของ POLAR ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการลงวันที่ 9 พฤษภาคม ต่อศาลล้มละลายกลางเนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดย…ไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยทันทีซึ่งการขอฟื้นฟูกิจการ ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ก็ควรตั้งคำถามอยู่ เพราะเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการเพิ่งมีมติอนุมัติงบการเงินประจำปี 2559 ซึ่งมีส่วนผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท และได้เปิดเผยงบการเงินดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 และต่อมาเพียง 1 วันได้ปรากฏว่ามีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 แต่บริษัทยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนได้ทราบ… สำแดงพิรุธอย่างมีเลศนัยชัดเจน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงออกคำสั่งให้ POLAR ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมและเผยแพร่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 7 มิถุนายน …โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือ กรณีการมีหนี้สินล้นพ้นตัวภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกันและไม่สอดคล้องกับที่เคยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ….รวมถึงความเห็นของคณะกรรมการในการพิจารณาหนี้ที่เกิดจากการเรียกร้องค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์เป็นภาระหนี้ทั้งจำนวนของบริษัทจนเป็นเหตุให้บริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว

ต่อมา ก.ล.ต. ก็เร่งให้ POLAR เร่งนำส่งรายงาน special audit ภายในวันที่ 24 กรกฎาคม

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ไม่เพียงแต่ไม่ยอมชี้แจงต่อตลาดฯ และไม่ดำเนินการนำส่งรายงาน special audit ต่อ ก.ล.ต. … ทำให้คำสั่งของ 2หน่วยงานไม่ขลัง และเข้าข่าย “สั่งขี้มูก” ทันทีทันใด

เรื่องของ POLAR ที่น่าจะยืดยาวเป็นละครโทรทัศน์ช่องหลากสีกลับพลิกผันชนิด 180 องศาทันที เมื่อPOLAR แจ้งต่อตลาดฯ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ว่า ศาลล้มละลายฯ ได้สั่งให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 12 กรกฎาคม ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ได้มีมติให้บริษัทถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

ปฏิบัติการ “ล้มกิจการก็ได้ ไม่ล้ม…ก็ได้” ที่เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าถอนคำร้องฟื้นฟูกิจการ เพราะ….1) ไม่ต้องการชี้แจงงบให้วุ่นวาย 2) ไม่อยากให้มีการทำ special audit 3) เกิดไปเจอว่ามีตัวเลขหนี้สินน้อยกว่าทรัพย์สิน ยังล้มไม่ได้ กะทันหัน 4) ผู้สอบบัญชี ไม่รับรองงบที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง….อย่างไหนคือคำตอบที่ถูกสุด หรือไม่มีคำตอบอะไรเลย

คนรอคำตอบคงปวดหัวไม่บันเบา

ส่วนคนที่จะต้องตอบคำถามนี้…. สมควรถูกส่งไปเรียนหนังสือใหม่ที่โรงเรียนในอำเภอ เดชอุดม อุบลราชธานี …. เนอะ

อิ อิ อิ

Back to top button