พาราสาวะถี
พากันยื่นแล้วสำหรับเจ้าตำรับม็อบมีเส้นคณะแรกของประเทศไทยระบอบสนธิ-จำลอง โดย วีระ สมความคิด พร้อม ประพันธ์ คูณมี นำคณะเสื้อเหลืองไปส่งหนังสือต่อผู้ช่วยเลขาธิการป.ป.ช.เพื่อเรียกร้องให้มีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองที่ยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พร้อมพวก
อรชุน
พากันยื่นแล้วสำหรับเจ้าตำรับม็อบมีเส้นคณะแรกของประเทศไทยระบอบสนธิ-จำลอง โดย วีระ สมความคิด พร้อม ประพันธ์ คูณมี นำคณะเสื้อเหลืองไปส่งหนังสือต่อผู้ช่วยเลขาธิการป.ป.ช.เพื่อเรียกร้องให้มีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองที่ยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พร้อมพวก
สิ่งที่เป็นเหตุผลประกอบของระบอบสนธิ-จำลองยกมา 6 ประเด็น อาทิ มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่เห็นว่าการชุมนุมของพวกตนเป็นไปโดยสงบ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล ทั้งนี้ยังเชื่อว่าเหตุความรุนแรงที่ผ่านมานั้นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเชื่อว่าหลักฐานที่นำมายื่นให้กับป.ป.ช. น่าจะเพียงพอโดยไม่ต้องไปหาเพิ่มเติมอีก
น่าสนใจตรงประเด็นการชุมนมที่เป็นไปตามหลักสากลและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐ เพราะหากป.ป.ช.รับเหตุนี้ของระบอบสนธิ-จำลอง ก็จะส่งผลต่อสิ่งที่ม็อบอีกพวกอย่างเสื้อแดงโดยนปช. ที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เตรียมที่จะไปยื่นให้รื้อฟื้นกระบวนการพิจารณาคดีสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยทันที
เพราะป.ป.ช.ชุดของ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ตีตกเรื่องที่มีการร้องให้เอาผิดกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น โดยให้เหตุผลรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามกับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด
ทั้งๆที่ในการสลายการชุมนุมครั้งนั้น ในแง่ของความสูญเสียจากการสลายการชุมนุมน่าจะรุนแรงกว่าเหตุการณ์หน้ารัฐสภาเมื่อปี 2551 เสียด้วยซ้ำ เพราะมีการใช้กระสุนจริง ทำให้มีคนตาย 99 ศพ โดยในจำนวนนั้นเกือบ 20 คดี รวมถึงคดีฆ่า 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ศาลได้ตัดสินไปแล้วว่าผู้มีเสียชีวิตถูกยิงจากฝั่งของเจ้าหน้าที่
เมื่อฝั่งระบอบสนธิ-จำลองใช้เหตุผลดังว่าไปยื่นร้องต่อป.ป.ช.ซึ่งเป็นชุดใหม่ ก็น่าจะเป็นเหตุอันชอบเช่นเดียวกันที่ฝั่งคนเสื้อแดงจะไปยื่นร้องให้รื้อฟื้นเรื่องร้องเรียน โดยที่ณัฐวุฒิได้บอกไว้แล้วว่า นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ต้องการให้คดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เป็นที่ยอมรับของสังคม ยืนยันว่าไม่มีเจตนาสร้างกระแสหรือสถานการณ์ เพราะคดีนี้มีปัญหาในกระบวนการก่อนถึงศาล ซึ่งนปช.ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของป.ป.ช.
เพราะมองว่าเป็นการวินิจฉัยคดีแบบเหมาเข่ง เช่นบอกว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลในขณะนั้นจึงบริสุทธิ์ ทั้งที่เป็นคดีที่มีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก สิ่งที่ทำให้ติดใจในบทบาทการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ในการทำสำนวนคดีก็คือ สำนวนคดีการสลายชุมนุมของระบอบสนธิ-จำลง ที่มีสมชายพร้อมพวกเป็นจำเลยนั้น อัยการสูงสุดชี้ว่าไม่ควรฟ้อง แต่ป.ป.ช.กลับยื่นฟ้องเอง
แต่คดีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงป.ป.ช.กลับตีตก โดยไม่ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาส่งฟ้องศาล ส่งผลให้คดีต้องยุติลงตั้งแต่ในขั้นตอนของป.ป.ช. ทั้งที่เป็นคดีที่มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งณัฐวุฒิเองบอกอย่างท้อแท้ใจว่า พวกตนถามหาความยุติธรรมในคดีนี้มา 7 ปี รู้อยู่เต็มอกว่าต้องตามหาต่อไป
สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้ในความกังขาของคนเสื้อแดง ตามคำบอกกล่าวของรัฐวุฒิก็คือ ประเด็นคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ควรจะแยกแยะเป็นกรณี เช่น กรณีที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ยืนยันว่าปฏิบัติตามหลักสากล แต่เหตุการณ์ที่วัดปทุมวนาราม มีผู้เสียชีวิต 6 ศพ โดยทุกคนไม่มีอาวุธ บางรายแต่งกายด้วยสัญลักษณ์กาชาด จะถือว่าเป็นการปฏิบัติโดยชอบหรือไม่ การใช้ปืนจากลำกล้องยิงจากจุดสูงเป็นหลักสากลหรือไม่ ประกาศเขตกระสุนจริงถือเป็นหลักสากลหรือไม่
คำถามเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำอธิบายของสิ่งที่เรียกว่า “สองมาตรฐาน” ได้อย่างชัดเจนที่สุด หากต้องการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงผู้มีอำนาจก็จะต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป แต่เกรงว่าคงจะเกิดขึ้นยาก เนื่องจากถ้าให้องค์กรอิสระทำงานกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว จะกลายเป็นการลูบหน้าปะจมูก เพราะมีตัวละครบางรายยังคงเฉิดฉายชูคออยู่ในคณะของผู้มีอำนาจปัจจุบัน
การตัดสินคดีจำนำข้าว 25 สิงหาคมนี้ มีสัญญาณอย่างหนึ่งให้จับตามองต่อผลที่จะออกมา แม้ดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน นั่นก็คือ การที่กสทช.จะมีการสั่งระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์พีซ ทีวี เป็นเวลา 30 วันในเร็วๆนี้ ด้วยเหตุผลเดิมคือทำผิดเงื่อนไขที่ได้เซ็นเอ็มโอยูตกลงกันไว้ พิจารณาจากเงื่อนเวลาแล้วมันช่างบังเอิญกับห้วงที่จะมีการตัดสินคดีสำคัญพอดี
หากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ถูกปิดชั่วคราว เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อช่วงก่อนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นก็เป็นอันเด่นชัดว่ามีเป้าประสงค์อย่างใด เพราะได้มีการสั่งให้ปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของนปช.ก่อนหน้า ทั้งๆ ที่ท่านผู้นำเคยยืนยันก่อนที่จะมีการเปิดว่าไม่ได้เป็นการทำผิดกฎหมายและไม่ใช่เรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญ
สุดท้ายก็จบลงที่มีการสั่งให้ปิดศูนย์ดังกล่าวพร้อมดำเนินคดีกับแกนนำที่ไปร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงจำนวน 19 คน อาจจะมีการมองกันว่าสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวไม่น่าจะมีอิทธิพลอะไรมากมายขนาดนั้น ทำไมผู้มีอำนาจจึงต้องให้ความสำคัญ ต้องไม่ลืมว่านั่นเป็นศูนย์รวมของแกนนำคนเสื้อแดงและเป็นช่องทางในการสื่อสารกับมวลชนได้โดยตรง
อย่างที่บอกเดือนสิงหาคมมีหลายปัจจัยที่อ่อนไหวต่อเสถียรภาพของคณะผู้มีอำนาจ ดังนั้น ตัวแปรใดที่พอจะช่วยลดแรงกระเพื่อมได้ จำเป็นจะต้องจัดการไว้ก่อน ส่วนคำอธิบายจากฝ่ายกสทช.ก็หนีไม่พ้นอีหรอบเดิม ไม่ได้รับคำสั่งหรืออยู่ใต้อาณัติคสช. ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมาย ทั้งๆ ที่กฎหมายที่อ้างก็คือ ข้อตกลงที่เป็นคำสั่งของคณะเผด็จการนั่นเอง