TWPC ในกำมือตระกูลโฮ 3 รุ่น
เมื่อปี 2535 ซีอีโอกลุ่มไทยวา ซึ่งเป็นคนรุ่นที่สองของตระกูลโฮ นาย โฮ กวง ปิง หรือ เคพี ประกาศว่า กำลังเตรียมการจัดงานฉลองครบ 50 ปีของกลุ่ม แต่..น่าเสียดาย งานฉลองดังกล่าว ไม่มีโอกาสจัดขึ้น เพราะมรสุมธุรกิจมาเร็วเกินคาดจากวิกฤตต้มยำกุ้ง
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
เมื่อปี 2535 ซีอีโอกลุ่มไทยวา ซึ่งเป็นคนรุ่นที่สองของตระกูลโฮ นาย โฮ กวง ปิง หรือ เคพี ประกาศว่า กำลังเตรียมการจัดงานฉลองครบ 50 ปีของกลุ่ม แต่..น่าเสียดาย งานฉลองดังกล่าว ไม่มีโอกาสจัดขึ้น เพราะมรสุมธุรกิจมาเร็วเกินคาดจากวิกฤตต้มยำกุ้ง
วันนี้ ผู้บริหารสูงสุดรุ่นที่สามของตระกูลโฮ นายโฮ เรน ฮวา ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) หรือ TWPC สามารถจัดให้มีงานฉลองครบรอบ 70 ปีของกลุ่มไทยวา แม้ว่ารายละเอียดของธุรกิจในปัจจุบันจะไม่เหมือนในอดีต แต่ก็ยังเหลือเค้าที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานอยู่
กลุ่มไทยวานั้น เริ่มต้นธุรกิจจากการบุกเบิกของนาย โฮ ยิด วา หรือ โฮ ริท วา คนจีนเกิดในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบุตรเขยของ หลี่ กว๋อ ชิง หรือ เค.ซี.ลี. มหาเศรษฐีจีนในสหรัฐฯ ผู้ก่อตั้ง บริษัท วาชาง เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น ซึ่งลงทุนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ผ่านเครือข่ายเชื่อมกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ โดยได้รับมอบหมายจากพ่อตา ให้เข้ามาเรียนรู้และดูแลขยายกิจการในพม่าและไทย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยให้โฮริทวา ลูกเขย
ด้วยความช่วยเหลือเบื้องหลังอย่างชาญฉลาดของ นาง โฮ หลิน ฟ่ง ผู้เป็นภรรยา โฮ ยิด วา ทำการดัดแปลงธุรกิจค้าแร่วูลแฟรมป้อนกองทัพสหรัฐฯ ของพ่อตาที่หมดอนาคตลง พาบริษัท ไทยวา จำกัด ออกจากวงจรเดิมอย่างเงียบๆ ลึกๆ พร้อมกับการอัดฉีดให้เติบโตและกำหนดทิศทางที่แน่นอนของธุรกิจแบบเอเชียอาคเนย์ มาเป็นธุรกิจการค้า ผลิต และส่งออกแป้งมันสำปะหลัง เพื่อการอุตสาหกรรมและอาหาร รวมทั้งการเป็นผู้บุกเบิก ผลิตและแปรรูปมันอัดเม็ดไปยังตลาดยุโรป และมีโรงงานวุ้นเส้นที่ใหญ่ที่สุดของโลก รวมทั้งธุรกิจแปรรูปข้าวสาลีในนาม UFM ยุคเริ่มแรก
โฮ เหลียน ฟ่ง ภรรยาคู่ชีวิตของโฮ ยิด วา นอกจากจะใช้ความรู้ทางเคมี จากการศึกษาระดับจบปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์เคมีจากวิทยาลัยมิลส์ แคลิฟอร์เนีย ช่วยวิจัยกรรมวิธีการผลิตวุ้นเส้นสมัยใหม่ จนประสิทธิผลของวุ้นเส้น ชนะคู่แข่งทั้งต้นทุนและคุณภาพสินค้า จนเป็นคนแรกในโลกที่ได้รับสิทธิบัตรผลิตวุ้นเส้น (ในรูปแบบที่คนไทยในปัจจุบันคุ้นเคย) จากสหรัฐฯ ยังได้ให้กำเนิดอภิชาตบุตร 3 คนที่โดดเด่นคือ 1) โฮ มิน ฟอง เป็นนักเขียนสตรีระดับรางวัลซีไรต์ 2) โฮ กวง ปิง อดีตผู้นำนักศึกษาและหัวก้าวหน้าและผู้สื่อข่าวฝีมือเยี่ยม รับงานเป็นทายาทธุรกิจสินทรัพย์หมื่นล้านสู่การลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ นอกเหนือจากธุรกิจดั้งเดิม 3) โฮ กวง เจิ้ง สถาปนิก ผู้ออกแบบโครงการอสังหาริมทรัพย์เครือไทยวาทั้งหมด
ความสำเร็จจากรุ่นแรกถูกถ่ายทอดมาสู่ตระกูลโฮ รุ่นที่สอง แต่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อปลายปี 2528 ได้มีการดัดแปลงให้ บริษัท ไทยวา จำกัด เป็นแกนของกลุ่ม เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2528 ที่กลุ่มตระกูลโฮมีสัดส่วนถือหุ้นทั้งทางตรง และทางอ้อมร้อยละ 26 ตามเจตนารมณ์ ของโฮ ยิด วา ที่ต้องการสร้างทางออกที่ต่อเนื่องในกิจการของกลุ่มไทยวาที่มีมืออาชีพสืบทอด แม้เมื่อเขาจะไม่มีชีวิตแล้ว
ภายใต้การนำของตระกูลโฮรุ่นสอง นาย โฮ กวง ปิง นอกจากกลุ่มไทยวา จะมีการจดทะเบียนบริษัทถึง 2 แห่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยวา ฟู้ดโปรดักส์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งการได้ขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนาม และอีกหลายแห่ง ยังได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและการท่องเที่ยว มูลค่าการลงทุนในธุรกิจใหม่นี้สูงถึง 7,800 ล้านบาท (เฉพาะในประเทศไทย) แล้วยังมีโครงการลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่ศรีลังกา มัลดีฟส์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย โดยวางแผนผลักดันบริษัทในธุรกิจใหม่นี้ บริษัท ไทยวาทรัพย์พัฒนา จำกัด เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยด้วย
แผนการเติบใหญ่ดังกล่าวพังครืนเมื่อวิกฤตต้มยำกุ้งมาเยือน ก่อนที่กลุ่มไทยวาจะทันฉลองวาระ 50 ปีของการก่อตั้ง เพราะภาระหนี้ที่มีอยู่ทำให้บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) จำต้อง “มอบตัว” เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการตัดธุรกิจที่สร้างปัญหาออก และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ยูนิเวอร์แซล สตาร์ช จำกัด (มหาชน) ก่อนที่ต่อมาในปี 2556 จะมีการเปลี่ยนชื่อใหม่อีก ครั้งเป็น ไทยวา สตาร์ช จำกัด (มหาชน) เมื่อกำลังจะออกจากแผนฟื้นฟู พร้อมกับเริ่มการผ่อนถ่ายกิจการจากคนรุ่นที่สองมาสู่คนรุ่นที่สาม
กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ คือการ “กลับสู่สามัญ” ที่ชัดเจน
ตระกูลโฮ รุ่นที่สาม ดำเนินการผลักดันแผนควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ไทยวาสตาร์ช จำกัด (มหาชน) หรือ TWS ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังรายใหญ่ และ บริษัท ไทยวาฟูดโปรดักส์ จำกัด(มหาชน) หรือ TWFP ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดวุ้นเส้นอันดับหนึ่งในประเทศไทยสูงถึง 44% เข้าด้วยกันตั้งแต่ปลายปี 2558 เพื่อเป็นบริษัทใหม่ คือ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) หรือ TWPC เพื่อกลับเข้าเทรดในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารอีกครั้งเมื่อกลางปี 2559 โดยมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง โดยงบการเงินสิ้นงวดปี 2559 ของ TWPC สามารถทำสถิติ มีกำไรสุทธิ 669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากปีก่อน และรายได้จากการขาย 6,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน
อีกทั้งฐานะทางการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีเงินสดและเงินลงทุน รวมจำนวน 1,757 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ ดี/อี เท่ากับ 0.03 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ในแผนธุรกิจปี 2560 ซีอีโอจากตระกูลโอ รุ่นที่สามนี่ก็จัดการ “ตีเหล็กยามร้อน” โดยวางเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจในภูมิภาคโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม นับแต่ จัดตั้ง “บริษัท ทีดับบลิวพีซี อินเวสท์เมนท์ (กัมพูชา) จำกัด” (TWPC Investment (Cambodia) Company Limited) เพื่อทำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง อีกทั้งได้รับใบอนุญาตจดทะเบียนจัดตั้ง “บริษัท ไทยวาเวียดนาม จำกัด” (Thai Wah Vietnam Company Limited) เพื่อสร้างโรงงานวุ้นเส้นแห่งแรกในโฮจิมินห์ซิตี้ เตรียมไว้สำหรับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอาหารในอนาคต โดยไม่นับรวมถึงการมองหาช่องทางการขยายการลงทุนไปประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว
งานฉลองครบรอบ 70 ปีของกลุ่มไทยวา โดยมีแกนหลักคือ TWPC จึงเป็นการ “ทบทวนอดีต เพื่อก้าวสู่อนาคต” อย่างมีนัยสำคัญ…จากรุ่นสู่รุ่น สานต่อเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง นาย โฮ ยิด วา ที่มีความหมายลึกซึ้ง
ฟ้าอาจลิขิต แต่คนก็ต้องบัญชาด้วย…จึงมีวันนี้
อิ อิ อิ