พาราสาวะถี
ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงคงไม่นำมาพูดต่อหน้าธารกำนัล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกกับชาวอยุธยาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า วันนี้ต่างชาติยังค้าขายกับประเทศไทยเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ให้ตนเดินทางไปเยือนเพียงคนเดียว เพราะตนเป็นหัวหน้าคณะคสช. แม้ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศจะมาแก้ต่างไล่หลัง ก็ไม่น่าจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือในข้อมูล
อรชุน
ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงคงไม่นำมาพูดต่อหน้าธารกำนัล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกกับชาวอยุธยาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า วันนี้ต่างชาติยังค้าขายกับประเทศไทยเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ให้ตนเดินทางไปเยือนเพียงคนเดียว เพราะตนเป็นหัวหน้าคณะคสช. แม้ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศจะมาแก้ต่างไล่หลัง ก็ไม่น่าจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือในข้อมูล
ต้องไม่ลืมว่า การเชิญไปเยือนสหรัฐอเมริกาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตามคำบอกกล่าวของกระบอกเสียงรัฐบาลจากการที่บิ๊กตู่ยกหูไปแสดงความยินดีในโอกาสที่ทรัมป์ได้รับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯนั้น จนป่านนี้ยังไร้วี่แววว่านายกรัฐมนตรีจากไทยแลนด์จะได้รับเกียรติให้ไปเยือนดินแดงแห่งประชาธิปไตยเมื่อใด
การระบายดังกล่าวต่อหน้าประชาชนจำนวนมากนั้น คงไม่ใช่แค่โพล่งเพื่อผ่องถ่ายความอัดอั้นตันใจ แต่น่าจะหมายถึงความอึดอัดต่อท่าทีของนานาประเทศที่ปฏิเสธจะให้ผู้นำคณะรัฐประหารเดินทางไปเยือนอย่างเป็นทางการ เว้นเสียแต่จะได้รับเชิญในการไปร่วมประชุมเวทีระดับประเทศ ซึ่งเป็นมารยาทางการทูต ที่จะต้องมีการต้อนรับขับสู้เท่านั้น
คำสารภาพของท่านผู้นำ เท่ากับเป็นการยืนยันสิ่งที่มีการวิจารณ์มาโดยตลอดว่า หลังจากการเดินทางไปร่วมประชุมเวทีต่างๆ ทีมงานกระบอกเสียงจะโพนทะนาป่าวประกาศความสำเร็จที่ได้รับจากเวทีเหล่านั้น แต่ไล่หลังกลับมา มักจะมีการแสดงความเห็นหรือบทสัมภาษณ์ของผู้นำหรือรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศประชาธิปไตย เรียกร้องถามหาการเลือกตั้งและปมการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยแทบทุกครั้ง
เหล่านี้คือภาพสะท้อนความเป็นจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ไม่ได้ให้การยอมรับผู้นำประเทศที่มาจากการรัฐประหาร ดังนั้น ที่รัฐมนตรีต่างประเทศอ้างว่า การขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามผู้นำไทยเข้าประเทศเป็นเพียงช่วงปีแรกของการยึดอำนาจนั้น จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริง
แน่นอนว่า ในการทำมาค้าขายดูเหมือนจะปกติ แต่ต้องไปถามผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศประชาธิปไตยเหล่านั้นว่า ถูกกีดกันหรือมีมาตรการอื่นใดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำการค้าและการแข่งขันหรือไม่ นี่คือความเป็นจริง ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มีการเลือกตั้งและยังไม่ได้รัฐบาลจากการเลือกของประชาชน การต่อต้านผ่านกระบวนการต่างๆของต่างชาตินั้นยังคงมีอยู่ต่อไป
หากจะบอกว่าที่ทำมาค้าขายคล่องและเจรจาความทางการเมืองได้สบายหายห่วงคงเป็นประเทศจีนประเทศเดียวเท่านั้น มิเช่นนั้น คงไม่เกิดการใช้มาตรา 44 ในการอำนวยความสะดวกเพื่อให้โครงการรถไฟไทย-จีนสามารถดำเนินการได้อย่างไร้อุปสรรค หลังจากที่มีการประชุมกันมาเกือบ 20 ครั้งแต่ยังไร้ข้อสรุป ส่วนเหตุผลที่ประเทศหลังม่านไม้ไผ่ให้การต้อนรับรัฐบาลรัฐประหารของไทยเป็นอย่างดีนั้น คงไม่ต้องอธิบายว่าเพราะอะไร
ความเคลื่อนไหวที่ว่าด้วยการพิพากษาคดี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากฝ่ายความมั่นคง แต่ต้องชื่นชม พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะเลขาธิการคสช.ที่ได้แสดงบทบาทต่อเรื่องดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นท่าทีที่นุ่มนวลและตั้งอยู่บนหลักการของเหตุและผล ตั้งแต่ความการนัดสืบพยานนัดสุดท้ายและในวันที่อดีตนายกฯหญิงเดินทางมาแถลงปิดคดีด้วยวาจาแล้ว
โดยผบ.ทบ.ยืนยันว่า แม้จะมีมวลชนเดินทางมาให้กำลังใจ แต่ทุกครั้งก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ดังนั้น จึงน่าคิดอยู่ไม่น้อยกับสิ่งที่บิ๊กเจี๊ยบพูดล่าสุดว่า หากคนมามากแล้วเรียบร้อย ดีกว่าคนมาน้อยแต่วุ่นวาย เป็นการส่งสัญญาณไปถึงใครหรือกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ เพราะว่ากันว่าท่วงทำนองของคนบางกลุ่มได้สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับฝ่ายความมั่นคงไม่น้อย
เนื่องจากที่ผ่านมาการที่คนจำนวนมากมาเดินทางมาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์แต่ไม่เคยเกิดความวุ่นวายภายในบริเวณศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่กับคดีล่าสุดกลับพบว่ามีแนวร่วมของบางกลุ่มตะโกนโหวกเหวกโวยวาย จนเกิดคำถามย้อนกลับไปยังฝ่ายความมั่นคงว่า ถ้าเป็นคนที่มาเชียร์อดีตนายกฯหญิงคงจะถูกดำเนินคดีไปแล้ว แต่นี่กลับไม่มีอะไรในกอไผ่ เมื่อเป็นเช่นนั้น ประเด็นการเลือกปฏิบัติย่อมย้อนกลับไปยังฝ่ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งในที่นี้น่าจะหมายถึงทหารที่พุ่งเป้าไปยังคสช.มากกว่าตำรวจ
ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีประเด็นตกเป็นขี้ปากได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จากเรื่องผู้สมัครส.ส.เขตพรรคเดียวกันแต่จะไม่ได้เบอร์เดียวกัน วันนี้มีปุจฉาไปถึงบทลงโทษบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในทุกระดับ โดยไม่มีเหตุผล จะถูกตัดสิทธิในการเลือกตั้ง 2 ปี และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ หากดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ก็ให้พ้นจากตำแหน่งทันที หากยังไม่ไปใช้สิทธิอีกก็ให้ตัดสิทธิ 2 ปีต่อไปอีก
มุมความคิดจาก ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นสิ่งที่ผู้ร่างกฎหมายควรรับฟัง มุมที่มองว่าจะทำให้คนตื่นตัวกับการเลือกตั้งก็อาจมองได้ แต่อีกมุมจะทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องการปลุกระดม ถูกเกณฑ์มา ถูกอำนาจรัฐเข้ามาควบคุมกำกับ ภายใต้บทบัญญัติที่ให้อำนาจบังคับคนไปใช้สิทธิได้
การเพิ่มโทษผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในทุกระดับ รวมไปถึงระดับการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะเกิดปัญหาแน่นอน สุดท้ายการมีกระบวนการเกณฑ์คนไปเลือกตั้ง จะยิ่งทำให้กระบวนการเลือกตั้งนั้นถูกระดมคะแนนเสียงหรือกระทั่งทำให้กระบวนการต่างๆในการซื้อเสียงมากขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะในการเลือกตั้งท้องถิ่นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มาก ยิ่งมีคนถูกบังคับให้ไปเลือกตั้งมากเท่าไร โอกาสที่จะปลุกระดมคะแนนเสียง หรือชี้ขาดด้วยคะแนนเสียงไม่มากนักมีความเป็นไปได้
การเลือกตั้งไม่ควรกำหนดให้เป็นหน้าที่ เพราะการเลือกตั้งต้องเป็นเรื่องของสิทธิและการใช้สิทธินี้ต้องเป็นไปโดยเสรี หรือโดยเจตจำนงที่มีความเป็นอิสระ เป็นเจตจำนงเสรีของประชาชน ถ้าเรากำหนดให้การเลือกตั้งกลายเป็นกระบวนการที่ถูกบังคับให้เป็นหน้าที่แล้ว เท่ากับว่าเป็นการควบคุมกำกับการใช้สิทธิของประชาชน สุดท้ายก็หนีไม่พ้นอาจถูกแทรกแซงหรือควบคุมกำกับจากอำนาจรัฐในที่สุด ซึ่งถ้าเป็นไปตามบทสรุปนี้ก็น่าจะถือว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไม่ต้องสงสัย