พาราสาวะถี
หงุดหงิดหัวใจอะไรขนาดนั้น ถึงขั้นประกาศ”อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องตามสัมภาษณ์ผมอีกต่อไป ผมจะพูดของผม” เป็นคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านรายการเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นการแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีของสื่อต่อการที่โฆษกไก่อู สรรเสริญ แก้วกำเนิด ใช้สถานะอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือสื่อฟรีทีวีและดิจิตอลให้ติดตามทำข่าวรัฐมนตรีรายตัวในการลงพื้นที่ประชุมครม.สัญจรที่โคราชในวันที่ 21-22 สิงหาค
อรชุน
หงุดหงิดหัวใจอะไรขนาดนั้น ถึงขั้นประกาศ”อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องตามสัมภาษณ์ผมอีกต่อไป ผมจะพูดของผม” เป็นคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านรายการเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นการแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีของสื่อต่อการที่โฆษกไก่อู สรรเสริญ แก้วกำเนิด ใช้สถานะอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือสื่อฟรีทีวีและดิจิตอลให้ติดตามทำข่าวรัฐมนตรีรายตัวในการลงพื้นที่ประชุมครม.สัญจรที่โคราชในวันที่ 21-22 สิงหาคมนี้
การที่สมาคมนักข่าวบอกว่า สื่อไม่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาล แต่มีหน้าที่ในการทำประโยชน์ให้สาธารณะ ทำไมถึงทำให้ท่านผู้นำโมโหโกรธาได้ถึงเพียงนั้น ทั้งๆที่หากเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์อย่างที่ท่านโพนทะนาจริง เขาจะไม่มีการขอความร่วมมือ(แกมบังคับ)ในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เพราะการประชุมร่วมกับผู้บริหารสื่อมวลชน บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว ของอธิบดีกรมกร๊วกอย่างไก่อูเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา กับคำกล่าวที่ว่า “จะฝากชีวิตไว้กับกรมประชาสัมพันธ์อย่างเดียวไม่ได้” สะท้อนภาพถึงความบ่มีไก๊ในองค์กรอย่างนั้นใช่หรือไม่ เป็นการดูแคลนการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ตัวเองดูแลหรือเปล่า
ความเป็นจริงหากไก่อูไม่ต้องการให้บิ๊กตู่เป็นพวกวันแมนโชว์ สื่อทุกสำนักแห่แหนตามในการลงพื้นที่ กรมประชาสัมพันธ์ สามารถระดมสรรพกำลังของทีมข่าวและเจ้าหน้าที่ช่อง 11 ที่มีอยู่ทั่วประเทศมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปขอร้องสื่ออย่างที่ทำอยู่ จนถูกทำให้มองว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนไปเสียอย่างนั้น
แม้จะไม่ได้บังคับแต่การสั่งหรือข้อร้องให้สื่อไปตามรัฐมนตรีรายบุคคล แล้วทำเป็นสกู๊ปหรือรายงานข่าวออกอากาศทางช่อง 11 ถามว่าแค่วันเดียวมันจะเกิดมรรคผลอะไรนักหนา แค่ได้สร้างภาพว่าไปรับฟังปัญหาของประชาชนและแก้ไขเฉพาะที่เฉพาะจุดเท่านั้นแค่นั้นหรือ ถามว่ารายการเดินหน้าประเทศไทยที่ออกอากาศช่วงหกโมงเย็นทุกวันเสาร์ถึงพฤหัสบดีนั้นยังไม่เพียงพออีกหรือ
บวกเข้ากับรายการของบิ๊กตู่ทุกคืนวันศุกร์ที่กวาดทุกผลงานมาโชว์ให้ประชาชนได้เห็น ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีก็น่าจะเพียงพอต่อการรับรู้ของประชาชนแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะต้องการแสดงผลงานกันมากมายอะไรขนาดนั้น นี่ยังไม่นับรวมรายการขัน(ไม่)เป็นข่าวของโฆษกรัฐบาลทุกคืนวันอาทิตย์อีก แสดงว่าการประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมาล้มเหลวโดยสิ้นเชิงใช่หรือไม่
วิธีการที่ทำอยู่เช่นนี้สะท้อนวิธีคิดของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นทหารสื่อสารและเข้าใจงานด้านการข่าวได้อย่างทะลุปรุโปร่งเป็นอย่างดี ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นต้องใช้วิธีการทุบโต๊ะ มัดมือชกให้สื่อที่ต้องถือว่าเป็นผู้มีอิสระและเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน ต้องมารับใช้เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาลไปเสียอย่างงั้น
ส่วนทัศนะของ เทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง บอกเพียงแค่กรณีดังกล่าวอาจถูกมองได้ว่าแทรกแซงการทำงานของสื่อ ทั้งนี้หน้าที่ของสื่อคือรายงานข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์กับสังคม ไม่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาลหรือรัฐมนตรี ผิดกับ มงคล บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าวอย่างน่าสนใจ
เริ่มจากการที่บอกว่า สิ่งที่ทำอาจถูกมองได้ว่าเป็นการสร้างแนวทางปฏิบัติที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในทางตรงหรือทางอ้อม หรือเข้าข่ายเป็นการจำกัดทางเลือกในการใช้เสรีภาพตัดสินใจของสื่อมวลชน ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา 184 ที่บัญญัติว่า ส.ส.และส.ว.พึงระวัง แทรกแซง ขัดขวางการใช้สิทธิของสื่อ ไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม
พร้อมแนะสิ่งที่ไก่อูและคณะที่ปรึกษาควรจะทำด้วยว่า วิธีการที่เหมาะสมและแสดงถึงความเคารพในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งกันและกันนั้น คือการหารือในลักษณะของการเสนอให้ความร่วมมือ เอื้ออำนวยความสะดวกในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในขอบเขตที่ไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมทั้งเอื้อต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อในการตัดสินใจทำข่าวหรือนำเสนอข่าวดังกล่าวหรือไม่
มากกว่าการกำหนดบุคคลหรือประเด็นให้สื่อไปทำข่าว ซึ่งเป็นไปในทำนองการกำหนดวาระชี้นำต่อสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม การทำให้สื่อสนใจในกิจกรรมของรัฐมนตรีคนใด อยู่ที่ศิลปะการบริหารจัดการให้เกิดสิ่งดึงดูดความสนใจของสาธารณะ และขึ้นกับสาระสำคัญของกิจกรรมนั้น
ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับรัฐบาลใดก็ตาม จนไม่เป็นการปฏิรูปการทำงานของราชการและการรายงานข่าวของสื่อมวลชน จนอาจเกิดปรากฏการณ์เพียงแค่รัฐมนตรีไปตัดริบบิ้น ปล่อยลูกโป่ง ก็มากะเกณฑ์ให้สื่อมวลชนให้ไปทำข่าว ดังที่ มานะ ตรียาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าได้แสดงความเห็นว่า
เรื่องนี้ต้องแยกให้ออกระหว่างการทำหน้าที่นักประชาสัมพันธ์ของภาครัฐกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ต้องมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนหากเป็นสื่อของรัฐมีภารกิจประชาสัมพันธ์งานของรัฐก็สามารถทำแบบนั้นได้ แต่ถ้าเป็นสื่อเอกชนสิ่งสำคัญคือความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการรวม ถึงนักข่าว จะมีหลักในการพิจารณาเองว่าจะเลือก ทำข่าวใครหรือไม่อย่างไร
มากไปกว่านั้น มานะยังมองอีกว่า การที่สื่อหลายสำนักให้ความร่วมมือเพราะอาจมีประเด็นที่ต้องการคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ มีการเรียกร้องให้ออกมาตรา44 เพื่อเปิดทางให้มีการคืนช่องกับกสทช. จะไม่รับฝากก็ไม่ได้หรืออาจจำเป็นต้องทำตาม ดังนั้น สื่อเองต้องกลับมาทบทวนด้วยว่าตัวเอง ทำหน้าที่อะไรเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ภาครัฐหรือเปล่า หรือมีความเป็นอิสระทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ถูกต้อง
กรณีนี้จะเป็นบทพิสูจน์ ดังเช่นบทสรุปของมานะที่ย้ำว่า กรมประชาสัมพันธ์ไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งการใดๆต่อสื่อทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับสื่อเองจะเข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ ถ้ายอมตามเขา ก็หมายความว่าขายเสรีภาพตัวเองไป ถ้าเป็นแบบนี้อีกหน่อยคงมีอะไรมาขอความร่วมมืออีกเยอะ ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน บรรดาผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นสื่อกระแสหลัก ยึดมั่นในหลักการและจรรยาบรรณอย่างแน่นหนัก จะยอมเป็นทาสรับใช้อำนาจเผด็จการแต่โดยดีใช่หรือไม่