สัญญาณเตือนภัย

 ยังไม่มีใครรู้ว่า เครื่องมือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะออกมาเพื่อทำหน้าที่ส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่ากิจการบริษัทมหาชนจดทะเบียนที่เริ่มหรือกำลังมีปัญหาทางการเงิน ด้วยปัจจัยภายใน(ที่ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก) จะช่วยนักลงทุนได้มากน้อยอย่างไร และมีประสิทธิผลแค่ไหน


พลวัตปี 2017 : วิษณุโชลิตกุล

ยังไม่มีใครรู้ว่า เครื่องมือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะออกมาเพื่อทำหน้าที่ส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่ากิจการบริษัทมหาชนจดทะเบียนที่เริ่มหรือกำลังมีปัญหาทางการเงิน ด้วยปัจจัยภายใน(ที่ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก) จะช่วยนักลงทุนได้มากน้อยอย่างไร และมีประสิทธิผลแค่ไหน

เอาเป็นว่าปลายปีนี้ก็คงจะรู้กันว่า เครื่องมือที่ว่านั้นมันคืออะไรกันแน่

นวัตกรรมใหม่ที่ถูกเปิดเผยมาโดยผู้จัดการตลาดฯเมื่อวานนี้ ทำให้คิดถึงเรื่องราวเมื่อครั้งเกิดวิกฤตธนาคารล่มสลายในอังกฤษเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกองทุนส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 พลอยถูกหางเลข ขาดทุนไปด้วยมหาศาล

ครั้งนั้น พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ถึงกับตรัสถามด้วยท่าทีตำหนิกลายๆ ต่อนายธนาคารกลางอังกฤษหลายคนที่เข้าเฝ้าฯในครั้งหนึ่งว่า “พวกคุณไม่รู้ล่วงหน้าอะไรเลยหรือว่าจะเกิดวิกฤต”

คำตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ “ถ้ารู้ก็คงไม่เกิดขึ้น”

ดังนั้น หากไม่คาดหวังมากเกินไปว่าเครื่องมือใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยจะผลิตขึ้นมา จะกลายเป็นยาสารพัดนึกที่ช่วยชี้ทางสวรรค์ให้กับนักลงทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน  ความระมัดระวังรอบคอบและคาดเดาอนาคตก็ยังคงต้องเป็นไปตามกรอบเดิมๆ กันต่อไป ภายใต้หลักการดั้งเดิมคือ “กำไรน้อย เสี่ยงน้อย กำไรมาก เสี่ยงมาก

ตัวอย่างล่าสุดคือกรณีของหุ้นบริษัทอย่าง IFEC ซึ่งมีบุคคลเดียวที่ทำตัวเป็นไอ้เข้ขวางคลอง ยึดเกาะตำแหน่งประธานกรรมการที่มีอำนาจกุมชะตากรรมของกิจการบนความฉิบหายสารพัด ทั้งที่ถือหุ้นไม่ถึง 3% ด้วยซ้ำ และกรณีของหุ้นบริษัท POLAR ที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่าเหตุใดจึงถูกศาลฯสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด กระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นอย่างมาก โดยที่ไม่เคยมีการแจ้งข้อมูลว่าถูกยื่นฟ้องล้มละลาย เพียงแต่เคยแจ้งว่าได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลฯ และต่อมาแจ้งขอถอนคำร้องฯ ดังกล่าว

ตัวอย่างข้างต้น ตอกย้ำว่า ลำพังเครื่องมือส่งสัญญาณเตือนอาจจะไม่ได้ชี้อะไรหรือช่วยอะไรมากนัก หากนักลงทุนบางส่วนยังชอบ “เล่นกับไฟ” ต่อไป

ตัวอย่างเมื่อวานนี้ ดัชนี SET ที่ทำท่าร่วงแรงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปรับตัวรีบาวด์สวนทางกับตลาดทั่วภูมิภาคในเอเชีย เพราะขานรับข่าวดีจากตัวเลขรายงานประจำเดือนของสภาพัฒน์เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2/60 ขยายตัว 3.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ในปี 60 เป็นขยายตัว 3.5-4.0% จากเดิมที่คาดไว้ในช่วง 3.3-3.8%

ตัวเลขดังกล่าว ออกมาไล่เลี่ยเสมือนนัดกันไว้ล่วงหน้า เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัว 3.7% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือ 1.3% จากไตรมาสก่อน สูงกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น และการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวดีกว่าคาด แถมยังบอกอีกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรติดตามทั้งภายในและภายนอก

ทำนองเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ออกมาเปิดเผยกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งแรกปีนี้เติบ

โต 5.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะอำพรางข้อมูลที่ว่า เฉพาะไตรมาส 2 ของปีนี้ กำไรของ บริษัทมหาชนจดทะเบียน กลับลดลง 9.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา  บริษัทจดทะเบียน มียอดขายรวมเพิ่มขึ้น 7.24% โดยมีกำไรสุทธิ 225,668 ล้านบาท ลดลง 9.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่อัตรากำไรขั้นต้นลดลงมาอยู่ที่ 22.43% เมื่อเทียบกับ 25.52% ในไตรมาส 2 ปีก่อน ขณะที่เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 มียอดขายทรงตัว และมีกำไรสุทธิลดลงมากถึง 20.60% เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตและการขายปรับสูงขึ้น จึงทำให้มีกำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิลดลง เว้นแต่หมวดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้น

ผลการดำเนินงานที่น่าห่วงใยย่างยิ่งคือ  ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในภาพรวมปรับลดลงแรงมาก โดยในช่วง 6 เดือนแรก มีกำไรสุทธิลดลง 21.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาส 2/2560 มีกำไรสุทธิ 761 ล้านบาท ลดลง 43.55% จากไตรมาส 2/2559 และลดลง 33.94% จากไตรมาส 1/2560

ตัวแปรภายในที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (รวมทั้งปัญหาทางเทคนิคอื่น เช่น แนวโน้มระยะสั้นที่บริษัทมหาชนที่ขึ้นเครื่องหมาย XD จำนวนมาก) ถือว่า เข้ามาเสริมให้ปัจจัยภายนอกมีความรุนแรงละถ่วงรั้งตลาดไม่ให้เป็นขาขึ้นตามข่าวดีจริงจัง โดยเฉพาะปัญหามูลค่าซื้อขายที่เหือดแห้งอย่างมากยามนี้ ที่ระดับต่ำกว่า 4.0 หมื่นล้านบาท

ตัวแปรที่ยังคงถ่วงรั้งมิให้ดัชนีตลาดหุ้นไทย (ที่ปีนี้ย่ำแย่สุดของภูมิภาคเอเชีย) ประกอบด้วย 1) กระแสฟันด์โฟลว์ที่ไม่ยอมเข้ามายังตลาดหุ้น นักลงทุนต่างประเทศยังอยู่ในฝั่ง short ในหุ้นต่อไป แต่จำกัดเฉพาะตลาดตราสารหนี้ 2) ค่าพี/อีของตลาดหุ้นไทยที่ยังถือว่าแพงเกินเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาค 3)  ดัชนีดาวโจนส์ยังเป็นขาลง จากฐานะการเมืองที่ง่อนแง่นของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4) วอลุ่มเทรดค่อนข้างบาง เพราะความกังวลต่อทิศทางการเมืองไทยคดีรับจำนำข้าวอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นจำเลย 5) การประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเฟด ปลายสัปดาห์นี้

ทั้งหมดนี้ คงไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า สัญญาณเตือนภัย “แดกด่วน” อะไรกันเพราะมันบอกอารมณ์ของตลาดฯได้ดีว่า โอกาสขึ้นมีน้อยกว่าขาลง โดยฉพาะหลังจากสัปดาห์นี้เป็นต้นไป

บางที สัญญาณเตือนภัยง่ายๆ ที่ไม่ต้องการความซับซ้อนมากเกินจะตีความได้ ง่ายและช่วยอะไรได้เกินพอเสียอีก หากคิดจะทำความเข้าใจกับมันโดยปราศจากอคติ

Back to top button