ธุรกิจไทยกับธนาคารเงาจีน

หลายปีมานี้ แทบจะไม่เคยมีตัวเลขที่เป็นทางการอะไรเลย หรือผลการศึกษาวิจัยทางวิชาการ ที่บอกชัดถึงความเชื่อมโยงของระบบธนาคารเงาของจีน กับธุรกิจของไทยที่มีธุรกรรมต่อกันโดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง การเงิน และการค้า ทั้งที่เป็นที่เลื่องลือกันว่า ธุรกิจจีนที่เข้ามาเชื่อมโยงกับธุรกิจไทยในหลายรูปแบบ มีวงเงินซับซ้อนมากกว่าระดับจะมองข้ามไปได้


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

หลายปีมานี้ แทบจะไม่เคยมีตัวเลขที่เป็นทางการอะไรเลย หรือผลการศึกษาวิจัยทางวิชาการ ที่บอกชัดถึงความเชื่อมโยงของระบบธนาคารเงาของจีน กับธุรกิจของไทยที่มีธุรกรรมต่อกันโดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง การเงิน และการค้า ทั้งที่เป็นที่เลื่องลือกันว่า ธุรกิจจีนที่เข้ามาเชื่อมโยงกับธุรกิจไทยในหลายรูปแบบ มีวงเงินซับซ้อนมากกว่าระดับจะมองข้ามไปได้

หลายเดือนมานี้ เริ่มมีเสียงหนาหูให้ได้ยินกันมากขึ้นว่า การปราบปรามระบบธนาคารเงาในจีนระลอกใหม่ของรัฐบาลปักกิ่ง นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ที่บังคับให้การโอนเงินเข้าออกจากจีนไปยังต่างประเทศมีการรายงานที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกรรมที่เกิดกับธุรกิจในไทย ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

คอนโดมิเนียมที่นักลงทุนจีนสั่งซื้อ เริ่มมีปัญหาจ่ายเงินช้าลง หรือ ขายต่อออกไป หรือ ทิ้งดาวน์กลางคัน

ธุรกิจก่อสร้างหลายแห่ง ที่มีจีนเป็นพันธมิตรธุรกิจ เริ่มมีเงินสะดุดเป็นครั้งคราว

การลงทุนที่เซ็น MOU เอาไว้ถูกเลื่อนออกไปเป็นระยะๆ

ผลกระทบเหล่านี้ แม้จะเป็นที่ “รู้กันให้แซ่ด” แต่ไม่เคยเป็นตัวเลขทางการ นอกจาก “เขาเล่าว่า” เท่านั้น แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เต็มปากเต็มคำว่า ไม่มีอยู่จริง

สิ่งที่พึงพิจารณาจากนี้ไปอยู่ที่เงื่อนไขว่า ปฏิบัติการ “ล้างบ้าน” เพื่อตัดตอนการเติบโตของระบบธนาคารเงาในจีนนั้น จะเข้มข้นหรือ ยาวนานแค่ไหน 

โดยข้อเท็จจริงอย่างที่ทราบกันดี ระบบธนาคารเงาของจีนนั้น มีขนาดใหญ่มาก ประเมินกันว่าล่าสุดมีมูลค่าตลาดมากถึง 8.5 ลานล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 15.5% ของระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมของจีนทั้งหมด ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทางการจีนพยายามทำลายล้างหรือลดทอนบทบาทลงไปแล้วในหลายๆ ครั้งในรอบ 10 ปีมานี้ แต่ก็ยังคงดำรงอยู่ และเป็นส่วนสำคัญในระบบสินเชื่อธุรกิจของจีนที่ถือว่ามีปริมาณใหญ่สุดในโลก ที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย

ปีนี้ ธนาคารเงากลับมามีบทบาทในจีนอีกครั้ง เพราะการเติบโตของระบบสินเชื่อปกติของธนาคารและสถาบันการเงินถูกทางการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มข้นให้เติบโตไม่เกิน 7.0% ทางออกของธุรกิจต่างๆ ที่ขาดสภาพคล่องจึงมุ่งไปหาธนาคารเงา ทำให้ทางการจีนต้องหาทางควบคุมกัน ส่งผลต่อตลาดหุ้นไปทั่วมาหลายครั้งในปีนี้

Shadow banking หรือภาคธนาคารเงา หมายถึงกลุ่มสถาบันการเงินนอกระบบธนาคารปกติของทางการจีนภายใต้กำกับของ PBOC หรือธนาคารกลางจีน  แต่มีความเกี่ยวข้องกับการระดมเงินทุน จัดการสภาพคล่องและชำระหนี้ การรับโอนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (แฟกตอริ่ง) Financial leverage ทั้งทางตรงและทางอ้อม และธุรกรรมการจัดหาเงินทุนขององค์กร (เช่น องค์กรเฉพาะกิจ (SPEs) วาณิชธนกิจ  บริษัทประกันภัย กองทุนรวม และกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์)

ธนาคารเงา จึงเฟื่องฟูจากการฉวยจังหวะยามที่ระบบธนาคารปกติไม่สามารถทำงานเต็มประสิทธิภาพในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว หรือ เป็นขาลง สร้างช่องทางเลือกในการระดมเงินทุนให้ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตแต่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนปกติ ช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจ ทั้งในส่วนของการลงทุนและการบริหารความเสี่ยง

สถาบันการเงิน ที่เรียกว่าธนาคารเงา ทำธุรกรรมทางการเงินที่เสี่ยงสูงกว่าธุรกรรมของธนาคารได้เพราะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ผ่อนคลายกว่า ทำให้ธนาคารในระบบอาศัยช่องว่างดังกล่าวหาประโยชน์จากข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำการจัดตั้งธนาคารเงาขึ้นมา เป็นเครือข่ายทำธุรกรรมโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการตั้งเงินสำรองตามกฎหมาย และการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ

ข้อดีของธนาคารเงา นอกจากสร้างโอกาสนำเงินทุนไปหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการหลบเลี่ยงข้อบังคับ และอาศัยความเป็นนิติบุคคลของธนาคารเงาจำกัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อธนาคารในระบบได้ ยังมีผลทางอ้อมช่วยกระตุ้นให้ธนาคารในระบบเร่งปรับการดำเนินงานเพื่อตอบสนองภาคธุรกิจให้รับต้นทุนทำธุรกรรมต่ำลง

ปัญหาตามมา คือ ความใหญ่โตของธนาคารเงา ทำให้อำนาจในการกำกับดูแลของธนาคารกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดลง อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุนพร้อมกันอย่างฉับพลันมากกว่าธนาคารในระบบจากระดับระดับการทำ Financial leverage ค่อนข้างสูง โดยใช้สินทรัพย์ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกับสินทรัพย์ของธนาคารเงาแห่งอื่นๆ ผ่านโครงสร้างที่ซับซ้อนเกินกว่าโครงสร้างกฎหมายจะครอบคลุมถึง

แนวโน้มการทำธุรกรรมที่หลีกเลี่ยงข้อบังคับมากขึ้นของธนาคารเงา ผสมกับการเมืองเรื่องอำนาจในจีน ทำให้เกิดการบิดเบือนตลาด โดยเฉพาะวิศวกรรมการเงินที่ผ่านรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งจัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจ Local Government Financing Vehicles หรือ LGFVs ส่งผลต่อการประเมินระดับหนี้สาธารณะที่แท้จริง ทำให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร (7-day repo rate) เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดที่ราว 11.2% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ผลพวงที่ตามมาคือ การ ”ล้างบาง” กลุ่มอำนาจในรัฐบาลท้องถิ่น และกลุ่มอำนาจเก่าที่ยากนัก สำหรับความเข้าใจของคนนอกพรรคคอมมิวนิสต์จีน

กติกาใหม่ที่ออกโดยธนาคารกลางจีน หรือ PBOC เพื่อกำกับการไหลเวียนของเงินทุนอย่างทั่วด้าน ทั้งภายในระเทศและข้ามประเทศ ถือเป็นปฏิบัติการจำกัดธนาคารเงาอย่างจริงจัง ซึ่งไม่มีใครรู้ชัดว่าจะจบลงเมื่อใด และมีขอบข่ายการ “ล้างบ้าน” มากน้อยแค่ไหน

เรื่องนี้คนที่มีธุรกรรมกับจีนในหลายส่วน น่าจะตระหนักกันบ้างแล้ว แม้จะไม่เป็นที่เปิดเผยโจ่งแจ้ง

สุ้มเสียงของนักธุรกิจไทยที่เชื่อมโยงกับธุรกิจจีนทั้งตรง และอ้อมในยามนี้ จึงค่อนข้างระวังมากเป็นพิเศษ อย่าได้ประหลาดใจ

Back to top button