พาราสาวะถี

วันนี้จะเป็นอีกหนึ่งวันที่ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยจะต้องจารึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ไม่ว่าผลจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะออกมาอย่างไร แต่ครั้งนี้ถือเป็นคดีแรกที่ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีถูกดำเนินคดีจากการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และชื่อของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะถูกพูดถึงในแทบทุกมิติ


อรชุน

วันนี้จะเป็นอีกหนึ่งวันที่ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยจะต้องจารึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ไม่ว่าผลจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะออกมาอย่างไร แต่ครั้งนี้ถือเป็นคดีแรกที่ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีถูกดำเนินคดีจากการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และชื่อของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะถูกพูดถึงในแทบทุกมิติ

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งคงไม่เกิดขึ้นแน่นอน นั่นคือความวุ่นวายภายหลังคำพิพากษา เหตุผลสำคัญคืออำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและวิธีการที่ผู้มีอำนาจและฝ่ายความมั่นคงดำเนินการมาตลอดในช่วงเวลากว่า 3 ปีเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ขณะที่บีบีซีไทยก็ได้ไปสัมภาษณ์นักวิชาการในต่างประเทศ ต่างมองไปในทิศทางเดียวกัน การลุกฮือเพื่อคัดค้านคำตัดสินของคดีนี้เป็นไปได้ยาก ในห้วงเวลาปัจจุบันที่คสช.คุมเข้มทางการเมือง

โดยที่ บีเอ็มไอรีเสิร์จ บริษัทวิจัยในเครือของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อ ฟิทช์กรุ๊ป ถึงกับระบุว่า หลังรัฐประหาร 2557 รัฐบาลทหารสามารถบริหารบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญอย่างเรื่องของรัฐธรรมนูญ หรือการเปลี่ยนผ่านรัชกาล นอกจากนี้ การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผสานกับความหลักแหลมทางการเมือง ทำให้รัฐบาลคุมฝ่ายต่อต้านไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างอยู่หมัด

นั่นเป็นมุมในส่วนของแรงกระเพื่อมหลังการตัดสินคดี แต่ในมุมของคำพิพากษาที่จะเกิดขึ้น บีบีซีไทยได้สัมภาษณ์นักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศหลายราย โดย บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า หากยิ่งลักษณ์ถูกตัดสินว่ามีความผิด ก็คงทำให้พรรคเพื่อไทยเสียขวัญ แต่ในเวลาเดียวกันอาจสร้างประโยชน์ทางอ้อมให้พรรค

เหตุผลเพราะชาวนาในชนบทจะมองว่ายิ่งลักษณ์คือผู้สูญเสียที่ทำทุกอย่างเพื่อชาวนา และเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งประเด็นนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นประเด็นที่จะเป็นประโยชน์กับพรรคเพื่อไทย แต่หากศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากขึ้น เพราะเหตุผลของคสช.ในการทำรัฐประหารก็เพื่อปราบปรามการคอร์รัปชั่น แต่หากยิ่งลักษณ์ไม่มีความผิด คสช.ก็จะถูกตั้งคำถามทันที

ในขณะที่สองนักวิชาการจาก 2 ประเทศแสดงทัศนะต่อกระบวนการยุติธรรมในบ้านเราอย่างน่าสนใจ ยาสุฮิโตะ อาซามิ แห่งมหาวิทยาลัย โฮเซ กล่าวว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมากมองโครงการจำนำข้าวในแง่ลบ แต่พวกเขาก็มองว่าวิธีการดำเนินการกับยิ่งลักษณ์ทางกฎหมายก็เป็นเรื่องสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมของไทยเช่นกัน

นักธุรกิจญี่ปุ่นส่วนใหญ่รู้ดีว่า โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลในอดีตจำนวนมาก รวมทั้งของฝ่ายต่อต้านทักษิณ ชินวัตร ล้วนเต็มไปด้วยความผิดปกติมากมาย แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี นอกจากนี้นักธุรกิจญี่ปุ่นยังกังวลว่าหากคำตัดสินว่ายิ่งลักษณ์ผิด จะยิ่งทำให้ความโกรธแค้นของฝ่ายสนับสนุนมีมากขึ้น และทำให้ความพยายามปรองดองทางการเมืองเป็นไปได้ยากขึ้น เว้นแต่ฝ่ายตุลาการจะใช้มาตรฐานเดียวกับอีกฝ่ายหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองนี้

ด้าน เออร์จินี่ แมริเยอ จากสถาบันรัฐศาสตร์แห่งปารีส มองว่า กระบวนการดำเนินคดีนี้สะท้อนว่าประเทศไทยยึดถือหลักกฎหมาย 2 แบบคือ หลักนิติธรรม หรือ rule of law และ หลักนิติวิธี หรือ the rule by law แต่ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไร ก็จะยังแสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทย ยังขาดความเป็นอิสระและถูกดึงให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ด็อกเตอร์ด้านรัฐศาสตร์รายนี้วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ศาลถูกใช้เป็นกลไกจัดการกับนักการเมือง และนโยบายการบริหารประเทศ ภายใต้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์ บทบาทของฝ่ายตุลาการในการเข้าร่วมกับกองทัพเพื่อสร้างรัฐซ้อนรัฐ ปรากฏชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แพทริค โจรี อาจารย์อาวุโส ด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย มองสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นไปในทิศทางละมุนละม่อม

โดยมองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้ยิ่งลักษณ์มีความผิด และบทลงโทษอย่างน้อยที่สุดก็จะถูกห้ามไม่ให้เล่นการเมือง แต่โอกาสถูกจำคุกนั้นคงเป็นไปได้น้อย เพราะจะสร้างความแตกแยกทางการเมืองอย่างหนัก ทำให้ฝ่ายสนับสนุนมองยิ่งลักษณ์เป็นผู้เสียสละ ทั้งยังตอกย้ำความเชื่อของฝ่ายสนับสนุนระบอบทักษิณว่า ระบบยุติธรรมของไทยนั้นไม่มีความเป็นธรรมต่อพวกเขา

เหล่านี้ไม่ใช่การก้าวล่วงหรือชี้นำการพิจารณาของศาล หากแต่เป็นมุมมองของนักวิชาการจากต่างชาติที่ติดตามสถานการณ์ต่อคดีนี้อย่างใกล้ชิด โดยมุมเกี่ยวกับเรื่องของหลักนิติวิธีนั้นเป็นสิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้ เช่นเดียวกันกับกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วตั้งแต่คราวรัฐประหาร 2549 จนทำให้มีการเกิดตั้งคำถามต่อการยึดถือหลักนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมไทยหลังคำตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย

อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับหลักนิติวิธี ลิขิต ธีรเวคิน นักวิชาการผู้ล่วงลับ เคยอธิบายไว้ผ่านบทความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เมื่อ 9 สิงหาคม 2549 ซึ่งเป็นห้วงเวลาก่อนจะเกิดการรัฐประหารของคมช.เสียด้วยซ้ำว่า ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ หลักนิติวิธี มักถูกนำมาใช้ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เพื่อความชอบธรรมและเป็นข้ออ้าง ทั้งๆที่กฎหมายที่ออกมานั้นเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม

ไม่ว่าจะอย่างไร หลังคำพิพากษาเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องน้อมรับ แต่สิ่งหนึ่งซึ่ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ความเห็นบทเวทีเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมาก็ชวนให้ต้องคิดต่อกันไม่น้อย ในอดีตมีกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นบรรทัดฐานบางประการ

ตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอร่างพ.ร.บ.ที่กระทรวงการคลังจะกู้เงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาทภายใน 7 ปีงบประมาณ เพื่อลงทุนในระบบคมนาคมขนส่ง ทางหลวง ระบบราง ทางน้ำ ด่านศุลกากร เมื่อมีคำวินิจฉัยว่า การออกกฎหมายกู้เงินแบบนี้ทำไม่ได้ ก็เป็นบรรทัดฐานว่าทำไม่ได้ แม้ว่าข้อเท็จจริงในอดีตมีการออกกฎหมายกู้แบบนี้คือ กู้แล้วดำเนินการโดยตรง โดยไม่ต้องเป็นเงินคงคลังและไม่ผ่านงบประมาณก็ทำกันได้

แม้ว่าขณะพิจารณาคดี ข้อเสนอของสำนักการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง จะเห็นชอบโดยสภาแล้ว แต่เมื่อศาลวินิจฉัยแบบนั้นก็ทำไม่ได้ อนาคตการกู้เงินก็เปลี่ยนไป ซึ่งจะว่าไปแล้วกรณีของศาลรัฐธรรมนูญคงนำไปเปรียบเทียบกับศาลปกติไม่ได้ เพราะตุลาการขององค์กรแห่งนี้ต้องบอกว่าเต็มไปด้วยอคติ เห็นได้ชัดกรณีคนที่พูดถึงถนนลูกรังกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่วันนี้ไม่เห็นท่าทีคัดค้านหรือแม้แต่เสียงทักท้วงจากอดีตตุลาการคนดังว่าแม้แต่น้อย โดยเฉพาะกับโครงการรถไฟไทย-จีน ที่รัฐบาลคสช.เดินหน้าแบบเต็มที่ นี่แหละ ตัวอย่างของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เที่ยงธรรม

Back to top button