ใยแมงมุมอัปยศ
มีคนจำนวนมากฟันธงล่วงหน้าว่า ถ้าบ่ายวันนี้อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกตัดสินว่า ต้องถูกจำคุก ก็จะไม่แปลกอะไรเพราะข้อสรุปแบบง่ายๆ คือ "ลงทุนมากมายขนาดนี้แล้ว จะปล่อยให้รอดไปก็เสียของ"
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
มีคนจำนวนมากฟันธงล่วงหน้าว่า ถ้าบ่ายวันนี้อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกตัดสินว่า ต้องถูกจำคุก ก็จะไม่แปลกอะไรเพราะข้อสรุปแบบง่ายๆ คือ “ลงทุนมากมายขนาดนี้แล้ว จะปล่อยให้รอดไปก็เสียของ”
หากเราทำตัวให้มีอุเบกขา ไม่มีอคติของ “สงครามสีเสื้อ” เป็นอาภรณ์ อีกมุมมองหนึ่งที่สามารถมีข้อสรุปได้คือว่า การชี้ขาดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งนี้ จะเป็นจุดพลิกผันสำคัญของนโยบายแทรกแซงสินค้าเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ
หากมองย้อนกลับไปในอดีต รัฐสยามโบราณ และรัฐไทยยุคก่อนสงครามเย็น ไม่เคยมีนโยบายเป็นชิ้นเป็นอันในการแทรกแซงสินค้าเกษตร ยกเว้นในกรณีเกิดการขาดแคลนเป็นครั้งคราว ในรูปมาตรการแทรกแซงชั่วคราวเฉพาะหน้า
นโยบายการแทรกแซงสินค้าเกษตรแบบเป็นชิ้นเป็นอันของไทย เกิดขึ้นมาจากผลพวงของสงครามเย็นในทางอ้อม เพื่อข้ออ้างว่ารัฐในระบบทุนนิยม มีความใส่ใจกับทุกข์ยากของเกษตรกรมากกว่าคอมมิวนิสต์
นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรจริงจังของไทยเริ่มต้นโดยรัฐบาล “คึกฤทธิ์” หลังปี 2518 ที่เริ่มต้น คำพูดอมตะในเรื่องข้าวเอาไว้ก่อนสินค้าอื่นๆ คือ “ทุกข์ชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน”
จากนั้นเป็นต้นมา ข้อถกเถียงเรื่องมาตรการที่เหมาะสม ระหว่าง การแทรกแซงด้วยการ “ประกันราคา” หรือ “รับจำนำ” ตั้งแต่นั้นมาจนถึงล่าสุด และจะยังคงมีอยู่ในอนาคตต่อไป ตราบใดที่การแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรยังถือเป็นนโยบายหลักของรัฐไทยต่อไป
ดังที่ทราบกันดี ทุกครั้งที่มีการแทรกแซงราคาหรือแทรกแซงตลาดโดยรัฐ การบิดเบือนตลาดจะต้องเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เพราะทำให้เกิดสภาพ “ค่าเช่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจ” เกิดขึ้นได้เสมอ
ผลพวงที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นคือ ข้าวในฐานสินค้าโภคภัณฑ์ที่เคยมีแค่ มิติทางเศรษฐศาสตร์ และมิติทางสังคม-วัฒนธรรม กลายสภาพเป็นมิติทางการเมือง ในฐานะสินค้าทางการเมืองที่ไม่เคยปลอดพ้นจากเงื้อมมือของรัฐไทยได้เลย
ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองแล้ว ค่าเช่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากการแทรกแซง ที่เกิดขึ้นทุกครั้ง จะเป็นการเปิดประตูให้กับพฤติกรรมคอร์รัปชั่นของคนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการตัดสินใจเสมอ แก้ไม่ตก
ประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาคงเหลือแค่มูลค่า หรือปริมาณ ของการฉ้อฉลที่จะเกิดขึ้นในแต่ละครั้ง
นโยบายแทรกแซงราคาข้าวที่ปฏิเสธหลักการพื้นฐาน “ทฤษฎีใยแมงมุม” ในชื่อแตกต่างกัน (การพยุงราคาข้าว ประกันราคาข้าว รับจำนำข้าว มาตรการช่วยเหลืออุดหนุนเกษตรกรชาวนา ฯลฯ) เป็นนโยบายของทุกรัฐบาลมาโดยตลอด แล้วยังแพร่กระจายไปยังสินค้าเกษตรอื่นๆ อีก เช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง นมสด ซึ่งกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่รัฐไม่เคยปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาด
หากมองย้อนกลับถึงมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร จะพบได้ไม่ยากว่าปรากฏการณ์ “เงินทอน” หรือ “เงินหล่น” อันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการทุจริตคอร์รัปชั่นในขั้นตอนดำเนินนโยบายมาโดยตลอด ไม่เคยว่างเว้น เพียงแต่ว่าใครจะซ่อน “ใบเสร็จ” ของการคอร์รัปชั่นได้ดีกว่ากันเท่านั้นเอง
ท่ามกลางข้อถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายว่ามาตรการแทรกแซงราคาข้าวอย่างไหนดีกว่ากัน และทำให้เกิดคอร์รัปชั่นน้อยกว่ากัน ไม่เคยมีการตอบคำถามถึงปัญหาเรื้อรัง 2 ด้านของตลาดข้าวไทย คือ
1) การแทรกแซงตลาดข้าวเรื้อรังทำให้ผลผลิตล้นเกิน กว่า 65% แต่ละปีต่อเนื่อง และนับวันจะเพิ่มขึ้นจนเป็นความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจยาวนานอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยมายาคติที่ว่าไทยยังคงความสามารถเป็นแชมป์ส่งออกข้าว
2) ราคาข้าวในตลาด เกิดความลักลั่นหลายราคาพร้อมกัน คือ ราคาส่งออกข้าวสารต่ำติดพื้น (ราคาตลาดโลกที่รัฐบาลชาติส่งออกจ่ายชดเชย) และราคาข้าวเปลือกในประเทศสูงเกินจริง (ราคาอุดหนุนชาวนา)
การขาดทุนมหาศาลจากมาตรการแทรกแซงราคาข้าวผ่านการรับจำนำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ไม่ว่าตัวเลขขาดทุนจะเป็นตัวเลขประดิษฐ์หรือไม่) ถือเป็นตัวเลขที่ไม่ได้ชี้ว่านโยบายเฉพาะของรัฐบาลดังกล่าวเลวร้ายกว่ารัฐบาลอื่นๆ
ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับทฤษฎีใยแมงมุม และไม่ยอมรับมาตรการลดพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตเพื่อลดจำนวนชาวนาลงให้เหมาะสมกับอุปสงค์ของตลาดข้าวโลก วงจรอุบาทว์ของการสาดโคลนทางการเมืองจากการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรจะไม่มีวันจบสิ้นจากสังคมไทย
ถ้าหากกรณีรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์สามารถหยุดยั้งใยแมงมุมอัปยศได้ จะถือว่าคำพิพากษาวันนี้ มีความหมายเชิงบวกต่อประเทศมหาศาล
นี่เป็นแค่ความหวังเท่านั้น