GRAMMY ฉลาดขาย
ฮือฮากันไปใหญ่ เมื่อปรากฏชื่อของเครือข่ายเสี่ยเจริญ ศิริวัฒนภักดี เข้าซื้อกิจการในบริษัทลูกของเครือแกรมมี่ ที่มี “อากู๋” นายไพบูลย์ ดำรงไชยธรรม เป็นแกนหลัก และมีธุรกิจทีวี-วิทยุในกำมือมากมาย
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
ฮือฮากันไปใหญ่ เมื่อปรากฏชื่อของเครือข่ายเสี่ยเจริญ ศิริวัฒนภักดี เข้าซื้อกิจการในบริษัทลูกของเครือแกรมมี่ ที่มี “อากู๋” นายไพบูลย์ ดำรงไชยธรรม เป็นแกนหลัก และมีธุรกิจทีวี-วิทยุในกำมือมากมาย
คนที่ชอบคิดเรื่องการผูกขาดธุรกิจ ก็จะสรุปทันทีว่า นี่คือการ “กินรวบประเทศไทย” ของเครือข่ายเสี่ยเจริญอย่างไม่ต้อสงสัย…ทั้งที่อาจจะใช่ หรือ ไม่ใช่ ก็ได้
จะมีคนฉุกคิดว่า…งานนี้ คนขายอย่าง “อากู๋” ก็ยิ้มไปด้วย…ได้น้อยเต็มที
เหตุผลเพราะการขายหุ้นนี้ เป็นอีกครั้งที่คัมภีร์ตัวเบา “เหยียบหิมะไร้รอย” ของอากู๋ (ที่ไม่มีใครรู้ว่าแอบร่ำเรียนมาจากปรมาจารย์ เตีย ซำ ฮง แห่งสำนักบู๊ตึ๊ง แต่ปางไหน)…สัมฤทธิ์ผลเต็มที่
อาจจะเป็นเพราะ อากู๋สำเร็จวิทยายุทธเพิ่มเติม รวมเอาคัมภีร์ตัวเบาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น…คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น แห่ง เส้าหลิน รวมกับ มหาเวทย์ดูดดาว และ ลมปราณภูตอุดร …ที่ถือเป็นวิชาตัวเบาระดับสุดยอดวรยุทธทั้งสิ้น..อ๊ะป่าววววว????
สรุปสั้นๆ คือ คนอย่างอากู๋ ไม่เคยขายของได้ราคาถูก…เหมือนเดิม..ว่างั้นเถอะ
เงื่อนไขการซื้อขายกิจการล่าสุดระหว่างเสี่ยเจริญ กับอากู๋ นั้น น่าสนใจไม่เบา
ทางด้านเสี่ยเจริญ ใช้ชื่อผู้ซื้อคือ บริษัท อเดลฟอส จํากัด ซึ่งมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทำการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด 10,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,000,000,000 บาท คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 50% ในนาม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้ขาย
ทางผู้ขายอย่าง จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ก็ทำการเพิ่มทุนใหม่ 12.0 ล้านหุ้น ขายให้แก่ผู้ซื้อ 2 รายพร้อมกัน รายแรกคือ อเดลฟอส (ดังข้างต้น) ส่วนอีก 1.999 ล้านหุ้นเศษ ขายให้กับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY ในราคาจองซื้อหุ้นละ 100 บาท เท่ากัน เพื่อให้ GRAMMY สามารถรักษาสิทธิ์ในจีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง เท่ากับเสี่ยเจริญ
การซื้อขายดังกล่าว มีเงื่อนไขกำกับ 2 ประการคือ
GRAMMY ยังคงมีอำนาจการบริหารจัดการต่อไปใน จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ จัดแบ่งธุรกิจเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกควบคุมแพลตฟอร์ม ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ จีเอ็มเอ็ม แชนเนล เทรดดิ้ง ประกอบด้วย 1) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (GMM 25) 2) บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด บริหารการตลาด และดำเนินการผลิตรายการเพลง เกมส์โชว์และสาระบันเทิง 3) จีเอ็มเอ็ม มีเดีย เข้าร่วมประมูลเวลาและดำเนินการผลิตรายการวิทยุ (คลื่น F.M. 89.0 Banana FM, คลื่น F.M. 91.5 Hot Wave, คลื่น F.M. 94.0 EFM และคลื่น F.M.106.5 Green Wave) 4) บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด ถือหุ้น 100% ดำเนินการเข้าร่วมประมูลเวลาและให้เช่าช่วงสถานีวิทยุ และ 5) บริษัท เอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์ จำกัด กลุ่มที่สองผลิตคอนเทนท์ป้อนรายการของกลุ่มแรก จะย้ายไปขึ้นตรงกับ GRAMMY ประกอบด้วย 1) บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด เป็นผู้ผลิตรายการ 2) บริษัท ทีน ทอล์ก จำกัด ผลิตรายการประเภทวาไรตี้วัยรุ่น และรับจ้างผลิตรายการ 3) บริษัท ซีเนริโอ จำกัด ผลิตรายการประเภทละคร เกมส์โชว์ วาไรตี้ รับจ้างผลิตละคร และผลิตละครเวที และ 4) บริษัท บลิส พับบลิชชิ่ง จำกัด จดทะเบียนยกเลิกบริษัทแล้ว
ดูจากงบการเงินของ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จะพบว่า มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 800.00 ล้านบาท แต่สิ้นปี 2559 มีสินทรัพย์อยู่ทั้งหมด 600.79 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้นเหลืออยู่ 597.72 ล้านบาท แสดงว่าแม้จะขาดทุนใน 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้เสียหายมากมาย
การขายหุ้นในราคาพาร์ของอากู๋ ใน จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จึงไม่กำไรมากมาย และฝั่งคนซื้อ ก็ไม่ได้ซื้อของแพงจนเกินเหตุ..เพียงแต่อย่าเอาไปเทียบกับกรณีที่บริษัทในเครือเสี่ยเจริยเข้าไปซื้อกิจการของ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผ่านบริษัท วัฒนภักดี จำกัด รวมเป็นมูลค่า 850 ล้านบาท ในราคาเอื้ออาทร หุ้นละ 4.25 บาท กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่ง 47.62%….ก็แล้วกัน
นอกจากนั้น ก็กรุณาอย่านำไปเทียบกับกรณีที่ บริษัทย่อยของ GRAMMY (ถือหุ้นสัดส่วน 51%) อย่าง บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 1,905 ล้านบาท เป็น 3,810 ล้านบาท และนำหุ้นเพิ่มทุนขายให้แก่ บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ที่มีนางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ลูกสาวของนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นเงินกว่า 1,900 ล้านบาท จนได้ถือหุ้นเป็นสัดส่วน 50% และทำให้ GRAMMY บันทึกกำไรพิเศษ 20 ล้านบาทในไตรมาสแรกปีนี้
การขายหุ้นจีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง นี้ แม้จะไม่ทำให้GRAMMY มีกำไรพิเศษมากมาย แต่ก็ถือว่าเป็นการหยุดขาดทุน หลังจากที่ปี 2559 มีผลขาดทุนสุทธิ 520.15 ล้านบาท และ 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 12 ล้านบาท จากกำไรพิเศษขายทีวีช่อง ONE และกำไรจากการขายลิขสิทธิ์บอลโลกรอบคัดเลือกโซนยุโรป และ ภาพยนตร์ในไตรมทาส 2
งานนี้ เมื่อวิชาตัวเบาอากู๋ถูกใช้ชนิด “เต็มลมปราณ” ไปแล้ว…ก็ได้แต่หวังว่า ธาตุไฟจะไม่แตกซ่าน เสียก่อน
อิ อิ อิ