‘รัฐทุน’ เป้าตัวใหม่
ดัชนีตลาดพุ่งทะลุ 1,600 จุดใน 2 วันหลังยิ่งลักษณ์หนีคดี คงสมใจกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยที่บอกว่าบรรยากาศการเมืองไทยน่าจะดีขึ้น การเผชิญหน้าทางการเมืองน่าจะลดลง ซึ่งเป็นความหวังของภาคเอกชน
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
ดัชนีตลาดพุ่งทะลุ 1,600 จุดใน 2 วันหลังยิ่งลักษณ์หนีคดี คงสมใจกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยที่บอกว่าบรรยากาศการเมืองไทยน่าจะดีขึ้น การเผชิญหน้าทางการเมืองน่าจะลดลง ซึ่งเป็นความหวังของภาคเอกชน
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ก็เข้าใจภาคเอกชน ที่เชื่อว่าความสงบมั่นคงจะทำให้เศรษฐกิจดี ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรัฐราชการมีอำนาจแข็งปั๋ง หมดคู่แข่ง ไร้เสี้ยนหนาม เห็นอนาคตว่าจะครองอำนาจยาว 7-8 ปี ก็เชื่อว่านับแต่นี้จะพัฒนาเศรษฐกิจได้ตามเป้า ต่อเนื่องไม่สะดุด โดยมองข้ามการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ความไม่ยุติธรรม การใช้อำนาจตามอำเภอใจ ฯลฯ เพียงเชื่อว่าถ้าทำให้เศรษฐกิจดีได้ ความไม่พอใจก็จะหมดไปเอง
แบบจีนไง ฆ่านักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมินตายเป็นเบือ ไม่เห็นต้องแยแสใคร จีนพัฒนาเศรษฐกิจจนเป็นมหาอำนาจใหม่ เดี๋ยวนี้คนจีนกินกุ้งไม่สนใจประชาธิปไตยแล้ว
ซึ่งเป็นทัศนะมักง่าย คิดสั้น ไม่มองว่าบริบทของจีนกับไทยแตกต่างกันหลายอย่าง ข้อสำคัญ รัฐอนุรักษนิยมไทยไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะนำประเทศก้าวกระโดดในเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่
แน่ละ รัฐอนุรักษนิยมได้รับการร่วมแรงร่วมใจอย่างแข็งขัน จากเทคโนแครต และภาคเอกชน ที่เข้าไปเป็น “ประชารัฐ” เป็นซูเปอร์บอร์ด เป็น สปช. สปท. (แบบกลินท์ สารสิน ซี่งเป็นสปท. เป็นประธานบอร์ดการท่องเที่ยวฯ)
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะคุมประเทศไป 20 ปี ก็มีประธานหอการค้าสภาอุตสาหกรรมสภาท่องเที่ยว และสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เคียงคู่ 6 ผบ.เหล่าทัพ ล่าสุดยังตั้งบัณฑูร ล่ำซำ, ชาติศิริ โสภณพนิช, กานต์ ตระกูลฮุน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกับคนกันเองในคณะรัฐมนตรี ยังไม่นับอีกหลายคนที่เข้าไปนั่งในกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ
โครงสร้างอำนาจใหม่จึงเห็นชัด ว่ารัฐราชการอนุรักษนิยม จะผนึกกำลังกับภาคธุรกิจและเทคโนแครต ปกครองประเทศเบ็ดเสร็จ กันนักการเมืองออกไป มีเลือกตั้งก็ได้เป็นแค่ตัวประกอบ
อำนาจเก่าในขวดใหม่นี้หวังดีนะครับ หวังร่วมมือกันกระตุ้นเศรษฐกิจพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ช่วยกันลดเหลื่อมล้ำ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ลงไปทำ CSR แบบโครงการประชารัฐ โรงเรียนประชารัฐ ปลูกปัญญา ปฏิรูปการศึกษาเพื่อผลิตคนรุ่นใหม่ออกมาเป็น AI ที่ไม่ต้องมีหัวคิดทางการเมือง
แต่ไม่รู้ลดเหลื่อมล้ำยังไง อันดับมหาเศรษฐีเมืองไทยรวยขึ้นๆ ขณะที่ SME ย่ำแย่ ชาวบ้านไม่มีเงินใช้จ่าย
พูดอย่างนี้ไม่ได้ลืมว่าทักษิณก็เป็นมหาเศรษฐี เป็นอัศวินคลื่นลูกที่ 3 ชูเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ นำประเทศสู่ระบบทุนไร้พรมแดน เคยเป็นขวัญใจของกลุ่มทุนธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเช่นกัน
แต่เรากำลังพูดถึงการเมืองยุคโพสต์ชินวัตรไง ภาพตลกร้ายที่มหาเศรษฐีลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นผู้นำประชาธิปไตยกำลังจะจางหายไป การเมืองแบบไม่ว่าใครชนะ รัฐประหารชนะ ทักษิณชนะ ปชป.ชนะ ก็เอาใจกลุ่มทุน กำลังจะเปลี่ยนไป
แม้คงใช้เวลาสักระยะ แต่มันจะเหลาความขัดแย้งเฟสใหม่ในสังคมไทย คือความไม่พอใจของคนเล็กคนน้อยที่มีต่อเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ บวกกับความไม่พอใจของผู้รักเสรีภาพประชาธิปไตยที่มีต่อรัฐอนุรักษนิยม
ปรากฏการณ์นี้เริ่มเห็นมาแล้วระยะหนึ่ง เช่นความเกลียดชังของพวก “แดง” ต่อกลุ่มทุนที่เข้าไปร่วมมือ คสช. กับความไม่พอใจของพวก “เหลือง” ต่อกลุ่มทุนผูกขาด ซึ่งไปๆ มาๆ ก็คือกลุ่มเดียวกัน