พายเรือในอ่างสไตล์ยุโรป
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสำคัญในยุโรปตะวันตกพากันปิดบวกเมื่อคืนนี้ ด้วย 3 ปัจจัยคือ 1)ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์สหรัฐ 2)หลายประเทศในยุโรปเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง 3)กรรมการบริหารของ ECB กล่าวว่า ECB จะทำการหารือเกี่ยวกับการถอนตัวจากโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างระมัดระวัง
พลวัตปี 2017: วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสำคัญในยุโรปตะวันตกพากันปิดบวกเมื่อคืนนี้ ด้วย 3 ปัจจัยคือ 1)ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์สหรัฐ 2)หลายประเทศในยุโรปเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง 3)กรรมการบริหารของ ECB กล่าวว่า ECB จะทำการหารือเกี่ยวกับการถอนตัวจากโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างระมัดระวัง
ปัจจัยแรกสุดเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ 2 ปัจจัยหลัง มีผลระยะยาวและโยงใยกันลึกซึ้ง
ดัชนี PMI เชื่อมโยงกับผลประกอบการบริษัทและการจ้างงาน การที่ ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซน ใน 3 ตลาดสำคัญ คือ เยอรมนี อังกฤษ และ อิตาลี ดีขึ้น จนส่งผลต่อค่าเฉลี่ยให้ดัชนีรวม ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 57.4 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 จากระดับ 56.6 ในเดือนกรกฎาคม
แยกรายประเทศ พบว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตของเยอรมนีดีดตัวขึ้นแตะระดับ 59.3 เป็นระดับสูงสุดเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 จากระดับ 58.1 ในเดือนกรกฎาคม เป็นระดับต่ำสุดรอบ 5 เดือน
ส่วน ดัชนี PMI ภาคการผลิตของฝรั่งเศส ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 55.8 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 จากระดับ 54.9 ในเดือนกรกฎาคม
ดัชนี PMI ภาคการผลิตของอิตาลี ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 56.3 ในเดือนสิงหาคม เป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง จากระดับ 55.1 ในเดือนกรกฎาคม
ส่วนอังกฤษ ที่กำลังหาทางออกอย่างนิ่มนวลจากสหภาพยุโรปในปีหน้า ดีขึ้นเช่นกัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 56.9 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงเป็นอันดับ 2 ในรอบกว่า 3 ปี จากระดับ 55.3 ในเดือนกรกฎาคม
ดัชนีสำคัญทางภาคการผลิตที่แท้ ถือเป็นข่าวดีที่เป็นโอกาสสำคัญในการหาทางออกของมาตรการทางการเงินเพื่อสลัดพ้นจากภาวะดอกเบี้ยถดถอยที่ดำเนินมายาวนาน
การหาทางออกจากภาวะดอกเบี้ยและเงินเฟ้อถดถอย มี 2 แนวทางหลัก นั่นคือ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งยังทำไม่ได้สำ หรับยูโรโซนในขณะนี้ แต่สามารถมีทางเลือกที่สองคือ ลดวงเงิน QE ลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
2 ปีเศษมาแล้ว ที่ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ได้ทุ่มเงินออกมากำหนดคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ที่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน เพื่อลดผลกระทบจากการที่เฟดฯ ของสหรัฐฯลดและยกเลิกวงเงินดังกล่าว โดยกำหนดระยะเวลาเอาไว้ แต่ต่ออายุมาเรื่อย จนถึงมติครั้งล่าสุดให้ใช้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคมปีนี้
เหตุผลที่นำมาอ้างคือ เพื่อสนับสนุนให้ระบบการเงินมีสภาพคล่องต่อเนื่องและผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้เข้าสู่เป้าหมายที่ 2% มาตรการที่ประกาศ ซึ่งยังไม่มีโอกาสหรือวี่แววว่าจะบรรลุเป้าหมายเลย
นักวิเคราะห์ภาคเอกชนในยูโรโซนบอกว่าคำประกาศลดวงเงิน QE ของ ECB นั้น ไม่แตกต่างจากโฆษณาชวนเชื่อให้คนเลิกสูบบุหรี่ หรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์ เพราะโอกาสที่จะยกเลิกนั้นต้องมีเงื่อนไขเชิงบวกที่ดีจริง โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดฯ แต่การที่เฟดฯยังคงรีรอในครึ่งหลังปีนี้ ก็เท่ากับความหวังเรื่อง ECB จะลดวงเงินลง จึงเป็นได้แค่ความหวัง ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
คำพูดเมื่อวันศุกร์ของนายอีวาลด์ โนวอตนี สมาชิกบริหาร ECB ที่ว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าจะยุติโครงการซื้อพันธบัตรอย่างกะทันหันหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีการปรับนโยบายสู่ระดับปกติอย่างระมัดระวัง และมีความสมเหตุสมผล ถือว่าเป็นการสอดรับคำพูดก่อนหน้านี้ของนายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ที่บอกว่า มาตรการ QE จะยังมีต่อไป และยังจะมีการคงนโยบายดอกเบี้ย 0.0% ต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้าหมาย 1.5% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ท่าทีระวังระไวของ ECB เป็นที่เข้าใจได้ เพราะเดือนที่ผ่านมา ECB เพิ่งคาดเดาว่า เงินเฟ้อของยูโรโซนจะยังต่ำเตี้ยอีกหลายปี โดยปีนี้คาดว่าจะพลาดเป้า 1.7% เหลือแค่ 1.5% เท่านั้น ส่วนปีหน้า จะลดลงไปอีกที่ 1.3% แล้วค่อยดีขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าที่คาดว่าจะพลิกกลับมาที่ 1.6% แต่ตัวเลขดังกล่าว นักวิเคราะห์เอกชนระบุว่าเป็นตัวเลขดีเกินไป
นักวิเคราะห์เอกชนประเมินว่า การพูดถึงเรื่องลดวงเงิน ECB เกิดความพยายามประคองค่าเงินยูโรที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เพราะการขยายระยะเวลาการดำเนินนโยบาย ส่งผลให้ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น อีกทั้ง การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น และที่จะเกิดขึ้นก็จะยิ่งส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงได้อีก เนื่องจาก คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินใดๆ
แรงซื้อหุ้นเมื่อวันศุกร์ ที่อ้างเหตุการณ์ลดวงเงินของ ECB จึงเป็นเรื่องไม่รู้จะหาอะไรมาอ้าง หรือ หาเหตุหลังมีผลเกิดขึ้นตามทฤษฎีสมคบคิดของบรรดาขาใหญ่ในตลาดหุ้นยุโรปเท่านั้นเอง
จะบอกว่าเป็นการพยายามซื้อเวลาประคองตลาดหุ้นยามขาลงเพื่อ “ออกของ” ก็คงไม่ผิด…