พาราสาวะถี
พักวางปมการเมืองว่าด้วยเรื่องการล่องหนของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไว้สักวัน หันมาดูประเด็นสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายอนาคตของประเทศไทยกันบ้าง นั่นก็คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการอีก 12 คน ยังเหลือที่ว่างไว้อีก 5 ตำแหน่งเพื่อรอการแต่งตั้ง
อรชุน
พักวางปมการเมืองว่าด้วยเรื่องการล่องหนของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไว้สักวัน หันมาดูประเด็นสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายอนาคตของประเทศไทยกันบ้าง นั่นก็คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการอีก 12 คน ยังเหลือที่ว่างไว้อีก 5 ตำแหน่งเพื่อรอการแต่งตั้ง
โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะทำงานควบคู่ไปกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ ซึ่ง วิษณุ เครืองาม บอกว่าจะต้องมีการจัดทำหลักเกณฑ์ปฏิรูป เพื่อเสนอให้คณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์ชาติพิจารณาภายในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ และคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายนปีหน้า ก่อนที่จะยืนยันไม่มีการเขียนแผนการปฏิรูปล่วงหน้า หรือไม่มีพิมพ์เขียวมาก่อน และไม่มีความเป็นที่จะต้องทำ
อย่างไรก็ตาม เมื่อหันไปพิจารณารายชื่อของคณะกรรมการยุทธศาสตร์แล้ว หลายคนอาจจะเกิดเครื่องหมายคำถามมันจะเป็นที่พึ่งที่หวังอะไรได้หรือไม่ เนื่องจากล้วนแล้วแต่เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลคสช.และภาคเอกชนที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่เบื้องหลังข้อเสนอแนะต่างๆตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่คณะรัฐประหารบริหารประเทศ
ด้วยเหตุนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงมองว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการตั้งบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปัจจุบันเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการชุดนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่ถูกแต่งตั้งคือนักการเมือง ถ้าไปดูรัฐธรรมนูญ สมมติว่ารัฐบาลหน้าฝ่ายตนเป็นรัฐบาล ตนก็ตั้งรัฐมนตรีไปเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญห้าม โดยหลักนี้การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นข้าราชการการเมือง ไม่ควรไปนั่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการแบบนี้ แต่บังเอิญชุดนี้ได้รับข้อยกเว้นโดยบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ
ก่อนที่จะออกตัวว่า ตนไม่ได้มีปัญหากับบุคคลเหล่านี้ แต่หลักการ อะไรที่มันเป็นหลักธรรมาภิบาล ทำได้ก็ทำเถอะอย่ายกเว้นให้เลย แต่คิดว่ามันไม่ค่อยเหมาะที่จะเอาตัวรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ สวมหมวกนักการเมืองแล้วไปนั่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หลักการแม่น แต่คำถามคือเสียงดังพอที่ผู้มีอำนาจจะฟังหรือไม่
เช่นเดียวกับรายของ กษิต ภิรมย์ คนที่มีตำแหน่งแห่งหนจากการแต่งตั้งของคสช. ก็แสดงความเห็นเหมือนคนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยโดยเคร่งครัด ด้วยการบอกว่า ไม่ได้มีความหวังในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เพราะความคิดของผู้นำมองประเทศไทยอย่างไร ให้ข้าราชการเพียง 300-400 คนมาปฏิรูปมันเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีการเปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็น และความคิดเห็นในสังคมถูกจำกัด ไม่มีช่องทางสื่อสารระหว่างผู้นำกับประชาชน
ก่อนที่จะประชดประชันต่อว่ารัฐบาลคสช.พูดอยู่ 3 คำ คือ 4.0 ปฏิรูปและยุทธศาสตร์ เหมือนกับเอาเกวียนมาอยู่หน้าวัว แทนที่จะเอาวัวมาอยู่หน้าเกวียน หรือกินกับก่อนแล้วกินข้าวตามทีหลัง ซึ่งไม่ไปด้วยกัน สิ่งแรกที่คสช.ต้องทำ ต้องถามเสียก่อนว่าผู้นำประเทศมองประเทศไทยอย่างไร และมองไปยังบริบทโลกด้วย ที่ผ่านมามีการตั้งสปช. สปท.และส่งมอบผลงานให้รัฐบาลไปแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าพลเอกประยุทธ์จะนำข้อเสนอการปฏิรูปไปทำอะไร
ปุจฉาของกษิตไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ตอบ แต่ความเห็นของ ยูชิฟูมิ ทามาดะ ศาสตราจารย์ประจำ ATAFAS ของมหาวิทยาลัยเกียวโต นักวิชาการญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องการเมืองไทยคนสำคัญ ซึ่งมาบรรยายในชั้นเรียนปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา หนึ่งวันหลังการนัดฟังคำพิพากษาคดีของยิ่งลักษณ์พอดิบพอดี
โดยศาสตราจารย์ทามาดะมองว่า การปฏิรูปเพื่อแก้ทุจริตเป็นแค่ข้อแก้ตัวเพื่อทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น หากจะให้สรุปตรงนี้ ตนว่าความเท่าเทียมกันสำคัญที่สุด ความเท่าเทียมกันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เงื่อนไขที่สำคัญก็คือ การเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย และศาลต้องรักษาหลักการความเท่าเทียมกันทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยเขายกเรื่องธรรมาภิบาลหรือ good governance มาตั้งเป็นคำถามว่า ไม่ทราบว่าคำนี้มันหมายถึงอะไร อ่านหนังสือเจอบ่อยมาก มีนักวิชาการหลายคนเขียนเรื่องนี้ มีตัวชี้วัดที่แตกต่างกันไป ซึ่งนักวิชาการชื่อ Kaufmann อธิบายว่ามีปัจจัยสามอย่างเป็นสำคัญคือ การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อประชาชน ความสามารถของรัฐบาล และหลักนิติธรรมหรือ rule of law เพื่อใช้กฎหมายและศาลปราบปรามคนที่ทุจริต
ที่ญี่ปุ่นไม่มีคำแปลที่ดีของคำว่า good governance แต่ที่เมืองไทยมีคำแปลที่ดีมากว่าธรรมาภิบาล แต่หากแปลอย่างนี้ก็เท่ากับเน้นว่ามีธรรมะ หรือกฎหมายกำกับและปราบปรามคนไม่ดีที่ขึ้นมามีอำนาจ ซึ่งมีลักษณะที่เน้นการใช้กฎหมายและศาลปราบปรามคนที่ทุจริต คือการปราบปรามเป็นพิเศษ แต่เรื่องความสามารถของรัฐบาล การมีส่วนร่วม การรับผิดชอบต่อประชาชนก็จะหายไป
สำหรับเมืองไทยนั้นการตีความทุจริตนั้นกว้างขวางมาก อะไรๆก็สามารถเป็นการทุจริตได้หมด ทำให้จัดการไม่ได้จริง จัดการเท่าไรก็ไม่หมด แทนที่จะนิยามให้แคบแล้วจัดการอย่างจริงจังและเป็นมาตรฐานเดียวกัน น่าสนใจตรงที่ยามาดะถามว่า นโยบายกระจายรายได้เป็นทุจริตหรือเปล่า ชอบไม่ชอบก็เรื่องหนึ่ง ผิดกฎหมายหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง
การที่ฟ้องว่ายิ่งลักษณ์ไม่ควบคุมกลไกรัฐอื่นๆให้ดี อาจมีความผิดตามกฎหมายก็ได้ แต่การที่รัฐบาลขายข้าวขาดทุนนั้นผิดกฎหมายได้อย่างไร รัฐบาลก่อนก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นก็ดีเขาก็มีนโยบายที่รัฐขาดทุนเพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนหลายโครงการ เรื่องของพืชผลประเทศไทยก็ขาดทุนมา 30-40 ปีแล้ว ทำไมถึงเพิ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายเอาตอนนี้
ตรงนี้ต่างหากที่ต้องขีดเส้นใต้ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างผีนักการเมืองให้เป็นพวกเลวพวกชั่ว สร้างความเกลียดชังในสายตาประชาชน ที่ศาสตราจารย์รายนี้มองว่า คนโจมตีแต่การเมืองแบบการเลือกตั้ง โจมตีหรือดิสเครดิตนักการเมือง นั่นทำให้เขาเห็นด้วยกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่บอกว่าสังคมไทยมองนักการเมืองแคบเกินไป แต่ไม่ว่าใครจะคิดหรือวิจารณ์อย่างไร มาถึงนาทีนี้คงต้องยอมรับกันว่า พื้นที่ของนักการเมืองน้อยเหลือน้อยเต็มที เพราะคนดีเขาวางแผนและยึดทุกอย่างไว้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว