พาราสาวะถี
ตุ๊กตาเลือกตั้งที่กกต.ซักซ้อมกันไว้ โดยวางไทม์ไลน์ที่เดือนสิงหาคม 2561 นั้นคงเป็นเพียงแค่การสร้างความคึกคักให้กับองค์กรที่ผู้บริหาร 5 เสือกำลังจะถูกเซตซีโร่เท่านั้น เพราะมองไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งการปลดล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรมและเป็นผู้กำหนดโรดแมปคืนความเป็นประชาธิปไตย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้เดินตามเส้นที่กกต.ขีดไว้
ตุ๊กตาเลือกตั้งที่กกต.ซักซ้อมกันไว้ โดยวางไทม์ไลน์ที่เดือนสิงหาคม 2561 นั้นคงเป็นเพียงแค่การสร้างความคึกคักให้กับองค์กรที่ผู้บริหาร 5 เสือกำลังจะถูกเซตซีโร่เท่านั้น เพราะมองไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งการปลดล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรมและเป็นผู้กำหนดโรดแมปคืนความเป็นประชาธิปไตย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้เดินตามเส้นที่กกต.ขีดไว้
เริ่มตั้งแต่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้วางตุ๊กตาไว้ว่าจะต้องเลือกตั้งเมื่อใด ไม่ได้บอกว่าจะต้องเลือกตั้งเดือนไหน ทั้งหมดต้องยึดตามกฎหมายลูกที่จะเป็นตัวกำหนด เมื่อเป็นอย่างนั้น นักข่าวจะมาถามตนเรื่องวันเวลาเลือกตั้งได้อย่างไร เช่นเดียวกันกับ วิษณุ เครืองาม ที่สะกิดเตือนกกต.นิ่มๆ ว่า “ไม่รอเวลาทูลเกล้าฯกฎหมายหรือ”
พิจารณาจากคำตอบของคนที่ดูแลเรื่องกฎหมายและงานด้านความมั่นคงของรัฐบาล ดูท่าแล้วการเลือกตั้งยังคงห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะมันเต็มไปด้วยเงื่อนไขสารพัด มิหนำซ้ำ วิษณุยังพูดถึงสถานการณ์ ณ วันข้างหน้าด้วย ถ้ามองมุมนี้ก็หมายความว่า รัฐบาลและคสช.เองก็ไม่มั่นใจว่า จะเกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆ ขึ้นหรือไม่ในห้วงเวลาที่กำลังก้าวเดินสู่ถนนสายเลือกตั้ง
หรืออาจจะเป็นอีกมุมที่ว่า เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นชนิดผิดหูผิดตา อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนให้รัฐบาลคสช.ใช้เป็นเหตุในการอ้างอยู่ต่อเพื่อให้บ้านเมืองสงบราบคาบ ต้องไม่ลืมว่า ความต้องการของแป๊ะทุกวันนี้ดูเหมือนว่าจะสามารถควบคุมทุกอย่างไว้ได้ มีเพียงปากท้องของประชาชนเท่านั้น ที่แก้มากว่า 3 ปี ใช้สารพัดสูตรก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะโงหัวขึ้นแม้แต่น้อย
จนถึงนาทีนี้ยังมีอีกปัจจัยที่เป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของฝ่ายถือหางคสช.นั่นก็คือ การหายไปของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้ว่าคนเดินเกมสะสางไขข้อข้องใจทั้งหลายทั้งปวงอย่าง พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพรามณกุล จะออกมาชี้แจงล่าสุดว่า สามารถต่อจิ๊กซอว์การหลบหนีของอดีตนายกฯหญิงไปได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ตาม
แต่พอถูกถามว่าตอบได้หรือไม่ว่ายิ่งลักษณ์อยู่ไหน กลับมีการบ่ายเบี่ยงโยนลูกไปที่กองทัพอันหมายถึงคสช.จะต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน ในฐานะความผิดพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง จากนั้นตำรวจถึงจะดำเนินการต่อได้ ทว่าประเด็นนี้ก็มีเงื่อนไขกองทัพต้องพิจารณาว่าหากทำแล้วจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือเปล่า
เลยกลายเป็นว่า กระบวนการพิจารณาทั้งหมดมาขมวดปมอยู่ที่ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เมื่อเป็นเช่นนั้น นั่นหมายความว่า ถ้ากองทัพในความหมายของศรีวราห์จะไปกล่าวทุกข์จะต้องมีหลักฐานแน่นหนา ยืนยันได้ว่ายิ่งลักษณ์หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านก่อนที่จะหนีไปยังประเทศที่ 3 แต่ถ้าประเทศที่ถูกพาดพิงปฏิเสธมา จะมีคำอธิบายต่อสังคมอย่างไร นี่เป็นเครื่องหมายคำถามตัวโตที่ต้องตอบให้ชัด
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องย้อนกลับไปยังถ้อยแถลงของ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.ที่ย้ำว่า หลักฐานยังไม่มีว่ายิ่งลักษณ์ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว แต่เป็นการทำงานตามกรอบความคิดและความเชื่อที่ว่ายิ่งลักษณ์ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว และยังไม่ขอสรุปว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในการหลบหนี ต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน
พอเกิดภาวะยักแย่ยักยันกันอย่างนี้ ก็ทำให้นึกถึงคำพูดของ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ว่า เรื่องนี้เป็นนิยายคมเฉือนคม แต่ละคนมีวิทยายุทธ์เท่าเทียมกัน ถ้ายิ่งลักษณ์ไม่มีวิทยายุทธ์คงหนีออกไปไม่ได้ ขณะนี้ถือว่าฝ่ายบ้านเมืองยังตกเป็นรอง ผ่านไปหลายวันผู้เกี่ยวข้องหรือกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ชี้ชัดว่ายิ่งลักษณ์หนีไปอยู่ที่ไหน
ถ้าจะให้พูดตามความเป็นจริงแล้ว คงต้องบอกว่าหากเป็นไปได้ ผู้มีอำนาจคงภาวนาของให้ ทักษิณ ชินวัตร พร้อมน้องสาวปรากฏกายหรือมีความเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งอย่างใดให้รู้แล้วรู้รอดไปเสียเลย เหมือนอย่างที่มีกระแสข่าวว่าจะมีความเคลื่อนไหวของทั้งสองคนภายในสัปดาห์นี้ แต่หากต้องการยึดกุมความได้เปรียบก็ยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่พี่น้องคู่นี้จะต้องทำตัวให้เป็นข่าวแต่อย่างใด
ไม่รู้จะโดนใจหรือขัดใจใครหรือเปล่าสำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการให้บริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เนื่องในโอกาสครบรอบ 19 ปี สถาบันพระปกเกล้า เพราะมีสองประเด็นที่น่าสนใจ อย่างแรกคือ ความเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2545–2560
ปรากฏว่า ผู้นำที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาหนีไม่พ้นทักษิณซึ่งได้รับความนิยมถึงร้อยละ 92.9 และที่ไม่น่าเชื่อคือคนที่ได้คะแนนนิยมรองลงมาคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ที่ร้อยละ 87.5 ยิ่งลักษณ์ร้อยละ 69.9 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 61.6 และสองคนที่อยู่บริหารประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ คือ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ไม่ยักมีชื่อของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯหลังการรัฐประหารของคมช.อยู่ในโผดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีสูงสุดแล้วก็ย่อมมีต่ำสุดแต่ไม่ใช่ตัวบุคคล เป็นผลการสำรวจเรื่องความเชื่อมั่นการทำงานของคณะบุคคล สถาบัน และหน่วยงานต่างๆ พบว่าความนิยมต่ำสุด 5 อันดับประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ ประชาชนเชื่อมั่นร้อยละ 36.8 องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ร้อยละ 38.3 พรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นร้อยละ 39.4 ส่วนพรรคการเมืองโดยรวมเชื่อมั่นร้อยละ 43.5
แต่ที่น่าจะทำให้ผู้มีอำนาจไม่ค่อยชอบใจคงเป็นเรื่องของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดองหรือปยป. ที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นร้อยละ 47.6 โดยที่ร้อยละ 22.7 ระบุว่าไม่รู้จักปยป. คงต้องยอมรับความจริงกันว่านับตั้งแต่การประชุมครั้งแรกแล้ว คนก็ไม่เคยเห็นความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการชุดนี้อีก
ยิ่งเวลานี้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแล้ว เลยทำให้นึกภาพไม่ออกว่าปยป.จะมีบทบาทอย่างไรต่อไป ถ้าหากบอกว่าให้น้ำหนักไปเฉพาะเรื่องของการสร้างความสามัคคีปรองดองเพียงอย่างเดียวไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอื่น พิจารณาจากสัญญาประชาคมที่เผยแพร่มาบวกเข้ากับสถานการณ์ที่เป็นไป บอกได้คำเดียวว่าเหนื่อยแทน