โจทย์ของครุกแมน

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล ทิ้งระเบิดเวลาลูกล่าสุดปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า การใช้นโยบายการเงินที่มากเกินเหนือนโยบายทางการคลัง จะช่วยซื้อเวลาให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากสภาวะ secular stagnation ไปได้นานสักกี่น้ำในอนาคต


พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล ทิ้งระเบิดเวลาลูกล่าสุดปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า การใช้นโยบายการเงินที่มากเกินเหนือนโยบายทางการคลัง จะช่วยซื้อเวลาให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากสภาวะ secular stagnation ไปได้นานสักกี่น้ำในอนาคต

คำถามดังกล่าวน่าสนใจ แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในช่วงเวลาที่เฟดฯเริ่มออกอาการลังเล ไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ยตามที่ ประกาศไว้ ทำให้กลายเป็นคำถามที่เหมาะเจาะกับสถานการณ์อย่างยิ่ง

2 ปีที่ผ่านมา แรงผลักดันให้เฟดฯขึ้นดอกเบี้ยเพื่อยกระดันเงินเฟ้อที่ตกต่ำมายาวนาน เกิดขึ้นมาหลายระลอก แต่ก็ทำได้ยาก แม้ว่าทุกคนที่อยากให้ขึ้นจะย้ำเสมอว่า การปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป จะเป็นรากฐานของการเกิดฟองสบู่ระลอกใหม่

แรงผลักดันดังกล่าวทำให้ข้อถกเถียงเรื่องนโยบายทางการเงิน (อัตราดอกเบี้ย ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และอัตราแลกเปลี่ยนข้ามสกุลเงิน) กลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ “

ความโดดเด่นของหัวข้อหรือวาทกรรมเรื่องมาตรการทางการเงิน จนกลบเรื่องมาตรการทางการคลังเกิดจากรากฐานข้อเท็จจริงที่ว่า นับแต่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 9 ปีก่อนเป็นต้นมา รัฐบาลชาติต่างๆ ไม่เพียงขาดความสามารถในการเรียกเก็บภาษีหรือรายได้เพิ่มเติม แต่ยังมีสภาพหนี้ล้นพ้นตัวเพราะยอดตัวเลขขาดดุลงบประมาณที่บานปลายเพิ่มเกินเป้าทุกปี ทำให้เกิดขีดจำกัดของการนำเอามาตรการทางการคลังมาใช้

มาตรการหรือนโยบายการเงิน หมายถึง  เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ธนาคารกลางพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการควบคุม ดูแลปริมาณเงินและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรลุ เป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ

ลักษณะการดำเนินนโยบายการเงินนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ นโยบายการเงินแบบเข้มงวด ซึ่งจะมีการใช้เครื่องมือต่างๆ ทางการเงินเพื่อทำให้ปริมาณเงินมีขนาดเล็กลงและมักใช้กับระบบเศรษฐกิจที่มีปัญหาต่างๆ เช่น ภาวะราคาสินค้าสูงขึ้นทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายมากกว่าความสามารถในการผลิตของระบบเศรษฐกิจโดยบทบาทของนโยบายการเงินแบบเข้มงวดนั้นจะมีส่วนช่วยลดความร้อนแรงในระบบเศรษฐกิจ

อีกลักษณะหนึ่งคือ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เป็นลักษณะของนโยบายการเงินที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัวโดยใช้เครื่องมือต่างๆ ทางการเงิน เพื่อทำให้ปริมาณเงินมีขนาดใหญ่ขึ้นและมักใช้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งมีการลงทุน การผลิตและการใช้จ่ายของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ

การลงทุนเอกชนที่ซบเซา เงินเฟ้อที่ต่ำ และการจ้างงาน-อัตราค่าจ้างที่ทรงตัว ทำให้ การเลือกใช้นโยบายการเงินในลักษณะต่างผ่อนคลายถูกใช้จนเคยชิน โดยธนาคารกลางที่พยายามเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ก็จะดำเนินงานของตนเองในนามของ “ความโปร่งใส”  ภายใต้เป้าหมายหลัก 6 ประการ ดังนี้

1)การรักษาเสถียรภาพของระดับราคาสินค้า ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยลดลงอย่างต่อเนื่องจนก่อให้เกิดภาวะเงินฝืด

2)สร้างการจ้างงานเต็มที่ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อยั่งยืนในประเทศ

3)การสร้างอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการของประเทศอย่างต่อเนื่องในประเทศ

4)การมีความสมดุลในดุลการชำระเงิน  ไม่ให้มีผลกระทบต่อเงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการไหลเข้า-ไหลออกของเงินทุนรุนแรง

5)การรักษาเสถียรภาพของอัตราดอกเบี้ยไม่ผันผวนมากจนเกินไปจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณเงินภายใน ประเทศ

 6)การรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงิน ไม่ให้กระทบต่อการระดมเงินทุนของสถาบันการเงิน

ครุกแมน ระบุว่า ในสองปีมานี้ นอกเหนือจากข้อเท็จจริงเรื่องขีดจำกัดของรายได้ภาครัฐแล้ว ยังพบว่า ภาวะตีบตันของการเมืองในชาติประชาธิปไตยขนาดใหญ่ของโลก ที่ทำให้ไม่สามารถผลักดันนโยบายสาธารณะที่ใหม่และสร้างสรรค์ได้ (เช่นกรณีญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษและสหรัฐฯ) ทำให้ทางเลือกในการใช้มาตรการหรือนโยบายการเงิน กลายเป็นทางเลือกหลัก

สถานการณ์ดังกล่าวของชาติทุนนิยมเหล่านี้ ตรงข้ามกับจีน อย่างยิ่ง

ตราบใดที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการชะงักงันของการเมืองได้ ครุกแมนระบุว่า มาตรการและนโยบายทางการเงินก็จะยังคงโดดเด่นต่อไป เสมือนเสพติดนโยบายอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

ประเด็นปัญหา คือ ลำพังนโยบายการเงินแล้ว มีธรรมชาติเป็นแค่ “ทิงเจอร์ไอโอดีน” สำหรับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องเสถียรภาพ แต่ไม่ตอบโจทย์ระยะยาวด้วยการสร้างและกระจายความมั่งคั่งเหมือนกับมาตรการหรือนโยบายทางการคลัง

โจทย์ที่ครุกแมนตั้งเอาไว้ ไม่ได้เป็นเฉพาะโจทย์ของชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นโจทย์ทั่วไปรัฐทุกแห่ง

 

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button