พาราสาวะถี

หลังจากออกตัวแบบอึกทึกคึกคัก และทำให้คนจำนวนหนึ่งชักจะมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงของแวดวงสีกากี แต่มาถึงวันนี้เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่มี พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานนั้น จะทำให้เกิดการปฏิรูปชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้จริงหรือไม่ เพราะแค่ปมกระจายอำนาจตำรวจ ก็ต้องแป้กแขวนกันไว้แล้ว


อรชุน

หลังจากออกตัวแบบอึกทึกคึกคัก และทำให้คนจำนวนหนึ่งชักจะมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงของแวดวงสีกากี แต่มาถึงวันนี้เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่มี พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานนั้น จะทำให้เกิดการปฏิรูปชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้จริงหรือไม่ เพราะแค่ปมกระจายอำนาจตำรวจ ก็ต้องแป้กแขวนกันไว้แล้ว

โดยล่าสุด เกิดการปะทะคารมกันระหว่าง พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา นายใหญ่สีกากีที่นั่งเป็นคณะกรรมการกับ เสรี สุวรรณภานนท์ ที่โต้เถียงกันรุนแรงในปมดังกล่าว โดยบิ๊กแป๊ะไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้การทำงานของตำรวจยาก พร้อมยกตัวอย่าง การสั่งการใช้ตำรวจหลายร้อยคนคุมฝูงชน และรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน กรณีคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองเมื่อ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

ผบ.ตร.เห็นว่าหากมีการกระจายอำนาจจะทำให้มีการสั่งการได้ยาก ทำให้เสรีสวนกลับทันทีว่า อย่าเอาเหตุการณ์เดียวมาเป็นเหตุผลให้ไม่ปฏิรูปตำรวจ จนนำไปสู่การพาดพิงของทั้งคู่ โดยฝั่งพลตำรวจเอกจักรทิพย์บอกว่า “ทุกอาชีพมีคนดีไม่ดีทั้งนั้นเช่นเดียวกับอาชีพทนายความ” ทำให้เสรีสวนกลับว่า“ในห้องประชุมนี้ไม่มีทนายเลวแน่นอน”

อาจเป็นธรรมดาของการปฏิรูปที่จะต้องมีการโต้เถียง แต่ถึงขั้นยกเอากำพืดของแต่ละองค์กรวิชาชีพที่ฝ่ายตรงข้ามสังกัดมาประจานกันนั้น มันก็น่าตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วภาพใหญ่ที่เป็นความขัดแย้งในแง่ของความคิดของกลุ่มการเมือง มันจะประสานความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้อย่างไร นี่ขนาดมีที่มาจากอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยกันยังหาจุดลงตัวไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจกำลังหาหนทางเพื่อนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนองค์กรสีกากีนั้น วันก่อนมีเสวนาวิชาการเรื่องสอบสวนคดีอาญาใครได้ใครเสีย ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต มี คณิต ณ นคร ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตและอดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมวงแสดงความเห็นด้วย

คณิตเสนอว่าการปฏิรูปต้องพูดถึงการปฏิรูปทุกองค์กร สมัยที่ตนดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด เคยพูดว่า หากสวะลงไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาต้องรีบตักขึ้นมาก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้ไหลลงทะเล สำหรับการปฏิรูป ต้องปฏิรูปทั้งกระบวนการยุติธรรม ต้องปฏิรูปทั้งอัยการและศาลด้วย ไม่ใช่ปฏิรูปเฉพาะตำรวจ เพราะทุกองค์กรมีปัญหาเรื่องงานบริหารงานบุคคล

เบื้องต้นต้องปฏิรูปศาลชั้นต้นก่อน แล้วตามมาด้วยการปฏิรูปอัยการและตำรวจ ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่เคยสงบ ยิ่งจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หากกล่าวถึงภารกิจของตำรวจคือการดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลืออัยการ นิยามเรื่องการสืบสวนแสดงถึงภารกิจของตำรวจอย่างเด่นชัดในการดูแลความสงบสุขเรียบร้อย ซึ่งจะเป็นเรื่องของกฎหมายของตำรวจ

ส่วนหน้าที่ช่วยเหลืออัยการเป็นเรื่องของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และภารกิจนี้ต้องร่วมมือกับพนักงานอัยการ ต้องติดต่อกับอัยการตลอด ดังนั้น จึงต้องปฏิรูปอัยการด้วย สำหรับการสอบสวนคือการหาความจริงที่เกิดขึ้น ต้องคิดกันใหม่ การตรวจสอบความจริง ถ้าเป็นอย่างที่ตนคิด คิดว่าความรับผิดชอบตกอยู่ที่อัยการ

อัยการต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของข้อกฎหมาย และในคดีอาญาต้องทำให้ละเอียด  ต้องตรวจสอบความจริงแท้ของเรื่อง ที่จริงแล้วการตรวจสอบความจริงเป็นหน้าที่ของศาลด้วย กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายที่อำนวยความยุติธรรม ไม่ใช่กฎหมายที่พูดถึงแต่เรื่องอำนาจ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มี 2 มิติ เป็นกฎหมายรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ์

ทั้งนี้ ราชการไทยต้องวางนโยบายและกล่าวถึงภารกิจขององค์กรที่ชัดเจน และต้องปฏิรูปการบริหารงานบุคคล ตลอดจนสวัสดิการของตำรวจด้วย หากจะปฏิรูปจึงต้องยึดภารกิจก่อน เมื่อกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ ประชาชนจะได้รับการตอบสนองที่ดี และควรจะพูดถึงกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนด้วย

ข้อเสนอเช่นนี้ของคณิตถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็ยังพูดไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นที่เป็นปัญหานั้น ไม่เพียงแต่การทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจและอัยการเท่านั้น หากแต่องค์กรอิสระบางแห่งที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนอันเกี่ยวกับการทุจริต เช่น ป.ป.ช. ก็น่าที่จะถูกสังคายนาระบบการทำงานด้วย

ย้ำมาโดยตลอด กระบวนการพิจารณาที่อ้างว่าทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ ตัวอย่างมีให้เห็นชัดเจน คดีจำนำข้าวทั้งของยิ่งลักษณ์และจีทูจี ป.ป.ช.ทำกันอย่างรวดเร็ว และวันนี้คดีหนึ่งศาลตัดสินไปแล้วก็ว่ากันไปตามนั้น แต่ที่คนจำนวนไม่น้อยติดใจคือ คดีอย่างโรงพักร้างที่มีหลักฐานประจานกันทนโท่ทั่วประเทศ หรือแม้แต่เครื่องตรวจวัตถุระเบิดกำมะลอจีที 200 ซึ่งศาลต่างประเทศตัดสินเอาผิดบริษัทผู้ผลิตไปตั้งแต่ปีมะโว้ วันนี้ส่วนขององค์กรตรวจสอบทุจริตของไทยยังไม่ไปถึงไหน

จะอ้างอะไรก็สุดแท้แต่ ถามว่าคดีโรงพักเกี่ยวกันกับคนของพรรคการเมืองใด จีที 200 เกี่ยวข้องกับใครบ้างที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การเนิ่นช้าออกไปจึงเลี่ยงไม่ได้ที่องค์กรอย่างป.ป.ช.จะถูกครหาว่าเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐาน ตรงนี้ต่างหากคือสิ่งสำคัญและการนำไปสู่บทสรุปของความสามัคคีปรองดอง เหมือนที่มีบางคนบางพวกตอกย้ำ ยุติธรรมไม่มีสามัคคีไม่เกิด

การสร้างวาทกรรมเพื่อช่วยให้เกิดความชอบธรรมนั้นทำง่าย แต่ไม่ใช่สิ่งจีรังยั่งยืน ไม่ต่างกันกับกรณีของเศรษฐกิจในประเทศเวลานี้ หลายหน่วยงานลิงโลดต่อการโพนทะนาตัวเลขเป็นบวกในมุมต่างๆ แต่ความเป็นจริงลองไปถามประชาชนคนส่วนใหญ่รู้สึกสุขใจกับภาวะปากท้อง ความเป็นอยู่เวลานี้หรือไม่ ถ้าตัวเลขคือความสบายใจและผู้มีอำนาจเชื่อว่าทุกอย่างดีแล้ว ก็ขอให้เชื่อและปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป

Back to top button