JAS อนาคตในกำมือใคร
นับเป็นช่วงเวลาทองของหุ้น JAS หลังรับอานิสงส์จากกำไรพิเศษของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน JASIF เข้ามาช่วยหนุน!!
เป็นไปตามเกณฑ์เมื่อผลการดำเนินงานไตรมาส 1/58 ของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จากัด (มหาชน) หรือ JAS ประกาศออกมาโตก้าวกระโดด โดยมีการบันทึกรายการพิเศษที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF แบ่งเป็นกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้ JASIF สุทธิหลังจากหักภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 31 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีกำไรทั้งสิ้น 1.28 หมื่นล้านบาท
นับเป็นช่วงเวลาทองของหุ้น JAS หลังรับอานิสงส์จากกำไรพิเศษของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน JASIF เข้ามาช่วยหนุน!!
กำไรไตรมาสแรกอันสวยหรูนี้ สวนทางกับราคาหุ้นที่ถูกนักลงทุนทิ้งเอาๆ อย่างเฉยเมย เพราะนักลงทุนเชื่อตามนักวิเคราะห์หลายสำนักที่ว่า การเข้าสู่ธุรกิจ 4 จี ในอนาคตของบริษัท เป็นความสุ่มเสี่ยงมากกว่าอนาคต
มุมมองของนักวิเคราะห์ ที่มองว่าความพร้อมในการเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของบริษัทไม่ดีมากเพียงพอ เพราะเป็นผู้มาทีหลัง ก็ช่างสวนทางกับมุมมองของผู้บริหาร JAS ที่เชื่อมั่นว่า ธุรกิจ 4G นั้น เป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงเข้ากับอินเทอร์เน็ตมากกว่าโทรศัพท์ เพราะว่าเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงเข้ากับการใช้บริการแบบนอน-ว้อยซ์ (ไม่ใช้เสียง) อันเป็นเทคโนโลยีที่จะมีมูลค่าเพิ่มและเติบโตรวดเร็วกว่า 3 จี แบบเดิมอย่างมาก ดังที่เคยปรากฏกับสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือสหรัฐ
ด้วยความเชื่อมั่นดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารของ JAS มุ่งมั่นกับธุรกิจอนาคตเพื่อรองรับการเข้าสู่ธุรกิจ 4 จี ต่อไป ดังจะเห็นได้จากการผลักดันเข้าไปสู่การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2558 ที่ผ่านมา
วันนั้น ผู้ถือหุ้นมีมติด้วยเสียงข้างมากอนุมัติการออกและจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 3 (JAS-W3) จำนวนไม่เกิน 3,497,332,189 หน่วย อายุ 5 ปี ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) ในอัตราส่วนการจัดสรรที่หุ้นสามัญเดิม สัดส่วน 2.04 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิฯ โดยบริษัทจะไม่ได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิฯ จากหุ้นที่บริษัทได้ซื้อคืนเป็นจำนวน 142,730,000 หุ้นทั้งนี้ ราคาเสนอขายหน่วยละ 0 บาท โดยมีอัตราการใช้สิทธิ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิฯต่อ 1 หุ้น ราคาใช้สิทธิ 4.30 บาทต่อหุ้น (เว้นแต่ในกรณีมีการปรับสิทธิ) ในกรณีที่มีเศษของหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิ จากการคำนวณ (หากมี) ให้ปัดเศษทิ้ง โดยวันที่ไม่ได้รับสิทธิซื้อหลักทรัพย์แปลงสภาพ คือ วันที่ 25 มิ.ย. 2558
รวมทั้งมีอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 1,748,666,094.50 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 3,568,697,189 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 5,317,363,283.50 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนสามัญจำนวน 3,497,332,189 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อรองรับการการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิฯ JAS-W3
การเพิ่มทุนเพื่อแจกวอร์แรนต์ให้กับผู้ถือหุ้น น่าจะสร้างความพึงพอใจในระยะสั้นกับนักลงทุนได้มากพอสมควร แต่ในระยะยาว หากมีการแปลงสิทธิวอร์แรนต์บริษัทก็จะได้เงินสดเข้ามาเพิ่มเติมในอนาคตเช่นกัน ไม่ได้มีฝ่ายใดเสียหาย
เพื่อให้แผนการก้าวสู่อนาคตมีความมั่นคงมากขึ้น JAS ระบุว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรต่างชาติ ประมาณ 5-6 ราย เพื่อให้เข้ามาถือหุ้น JAS ในสัดส่วน 15-20% โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปช่วงครึ่งหลังปี 2558 จากการที่บริษัทเตรียมเข้าประมูล 4G ที่ กสทช. จะเปิดประมูลช่วงปลายปีนี้
หุ้นส่วนดังกล่าว ถือว่าจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือทั้งเงินลงทุนและ know how ทำนองเดียวกันกับที่ ไชน่า โมบายล์ เข้าถือหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เมื่อปี 2557 ซึ่งราคาขายมีพรีเมียม และพาร์ตเนอร์คงเข้ามาเสริมธุรกิจ เพราะ JAS ในปัจจุบัน มีสภาพคล่องเพียงพอ โดยปัจจุบันมีเงินสดในมือประมาณ 10,000 ล้านบาท
ดังนั้นบริษัทมั่นใจว่าหากได้รับใบอนุญาต 4G จะสามารถทำกำไรได้ในปีแรกที่เริ่มดำเนินการ ธุรกิจ Mobile Broadband 4G ต่อยอดธุรกิจปัจจุบันคือธุรกิจ Fixed Broadband เพราะบริษัทมีฐานลูกค้าบรอดแบนด์อยู่แล้ว 1.7 ล้านราย และมี Wifi กว่า 1 แสนจุด และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 2 ล้านราย ประกอบกับบริษัทไม่มีลูกค้าระบบ 2G ทำให้จำนวนคลื่นที่ประมูลได้มาจะสามารถรองรับการใช้งานดาต้าในระบบ 4G ได้ครบทั้ง 20 ล้านราย ขณะเดียวกันบริษัทจะมีการให้บริการด้านเสียงด้วย แต่จุดขายจะเป็นการให้บริการดาต้า
ส่วนคู่แข่งที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 ราย ในปัจจุบัน ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่ยังไม่มีการให้บริการ 4G เนื่องจากมีจำนวนคลื่นความถี่ไม่เพียงพอรองรับ 3G ส่วนบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC มีลูกค้า 4G จำนวน 600,000 ราย และ TRUE มีลูกค้า 4G จำนวน 800,000 ราย ซึ่งบริษัทพร้อม Industry Challenge กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 รายที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ โอกาสทางธุรกิจยังมาจากแนวโน้มการใช้บริการดาต้าสูงขึ้น ตามแนวโน้มการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งปัจจุบันคนไทยใช้สมาร์ทโฟนกว่า 30 ล้านเครื่อง และมีโทรศัพท์มือถือที่รองรับระบบ 4G ได้มากขึ้น ขณะที่อัตราการใช้มือถืออยู่ที่ 143% ของประชากรไทยทั้งหมด หรือเท่ากับ 96 ล้านซิม โดย 50% ของ 96 ล้านซิม เป็นผู้ใช้งานดาต้าเป็นหลัก
มุมมองของผู้บริหารที่ต่างจากนักวิเคราะห์ ถูกย้ำแล้วย้ำอีกว่า เป็นจุดแข็งของ JAS ที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้บริษัทยังเติบโตต่อไปในอนาคต
ความเชื่อมั่นของผู้บริหารดังกล่าว แม้จะสวนทางกับมุมมองนักวิเคราะห์ เกิดจากประสบการณ์อันยากลำบากในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ จากธุรกิจที่ครั้งหนึ่งต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ตั้งแต่ปี 2546 ที่เกิดการปรับโครงสร้างมาแล้วหลายครั้ง จนมีคำตัดสินของศาลล้มละลายกลางในปี 2549 ให้บริษัทยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หลังจากที่บริษัทดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่งผลให้คณะกรรมการบริษัทกลับมามีอำนาจบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท ขณะที่ผู้ถือหุ้นทุกรายกลับมามีสิทธิตามกฎหมายต่อไป
ประสบการณ์อันโชกโชน จนกระทั่งสามารถสร้างจุดเด่นของธุรกิจจนประสบความสำเร็จจากโมเดลธุรกิจที่มุ่งเน้นโฟกัสไปที่จุดหลักคือ การแข่งขันให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต กับคู่แข่งหลัก คือ TOT ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่มีเครือข่ายครบถ้วนมากกว่า
ความสำเร็จในการทำธุรกิจที่ถนัดมากที่สุด ส่งผลให้ JAS สามารถทำกำไรต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ที่สร้างปรากฏการณ์ให้มีกำไรเกินคาดเอาไว้เสมอทุกไตรมาสจากธุรกิจที่ตนเองมีความถนัดมากที่สุด และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของบริษัทสามารถกอบโกยลูกค้าเข้ามืออย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้
ความสำเร็จจากการอ่านเกมเทคโนโลยีได้ทะลุปรุโปร่ง และกลยุทธ์ทางการตลาดด้วยธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด ทำให้สามารถแก้ปัญหาราคาหุ้นที่เคยมีมากจนราคาหุ้นต่ำติดพื้นกลับมาครองความนิยมในหมู่นักลงทุนได้อย่างมีเสน่ห์ชวนหลงใหลชนิดเป็นขาประจำไม่เคยขาด ทำให้ผู้บริหารของ JAS กล้าเมินมุมมองของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์สำนักต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ
มุมมองของนักวิเคราะห์ที่ระบุเหมือนนัดกันไว้ว่า การเข้าไปลงทุนในธุรกิจ 4 จี ของ JAS จะเกิดผลขาดทุนในช่วง 1-2 ปีแรก ซึ่งจะกดดันภาพรวมผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทฯ ดังนั้น ผู้ถือหุ้น JAS จึงมีความเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ (4G) ซึ่งบริษัทฯ ไม่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ จึงเป็นมุมมองที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจมองข้ามไปได้คือ ก่อนการตั้งกองทุน JASIF เมื่อต้นปี 2557 นั้น นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยก็มีมุมมองทางลบต่อการตั้งกองทุนนี้เช่นกันว่า จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีต่อฐานการเงินและความสามารถทำกำไรของ JAS อย่างมีนัยสำคัญ
ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้ JAS มีกำไรพิเศษมากเกินคาด ส่งผลต่อมูลค่าผู้ถือหุ้นโดดเด่น ก็สะท้อนข้อเท็จจริงได้ว่า ระหว่างผู้บริหารของ JAS กับนักวิเคราะห์นั้น ใครเป็นฝ่ายถูก ใครเป็นฝ่ายผิด
แล้วนักลงทุนควรเชื่อฝ่ายใดกันแน่ ระหว่างคนพูดที่ไม่ได้ลงมือทำเอง กับคนลงมือทำ แต่สื่อสารบกพร่อง