ดราม่าหน้าเซเว่น?ทายท้าวิชามาร

เห็นหนังสือพิมพ์ตัวตั้งตัวตีบอยคอตต์ 7-11 พาดหัวว่ามีคนเข้าเซเว่น “บางตา” อดไม่ได้ต้องหัวร่อก๊าก ทั้งที่ไม่ได้เข้าข้างซีพีออลล์ แต่เว่อร์เกิ๊น คุณจะรณรงค์ได้ซักแค่ไหนเชียว ที่จะให้คนทั้งประเทศละทิ้งความจำเป็นในชีวิตประจำวันรวมทั้งความเคยชิน


เห็นหนังสือพิมพ์ตัวตั้งตัวตีบอยคอตต์ 7-11 พาดหัวว่ามีคนเข้าเซเว่น “บางตา” อดไม่ได้ต้องหัวร่อก๊าก ทั้งที่ไม่ได้เข้าข้างซีพีออลล์ แต่เว่อร์เกิ๊น คุณจะรณรงค์ได้ซักแค่ไหนเชียว ที่จะให้คนทั้งประเทศละทิ้งความจำเป็นในชีวิตประจำวันรวมทั้งความเคยชิน

ชีวิตคนไทยขาดเซเว่นไม่ได้หรอกครับ ผมอุตส่าห์เอาใจช่วยนักบอยคอตต์ยังต้องเข้าเซเว่นทุกวัน อ้าว ก็ปากซอยหน้าบ้านมีแต่เซเว่น จำเป็นต้องซื้อบุหรี่ หนังสือพิมพ์ น้ำ น้ำแข็ง ฯลฯ แม้ไม่ซื้อเยอะเพราะของใช้ส่วนใหญ่ซื้อบิ๊กซีโลตัสถูกกว่า แต่ก็มีเหตุให้เข้าเกือบทุกวันอยู่ดี

ต้านยังไงเซเว่นก็ไม่เจ๊ง มีแต่จะบุกไปทุกหัวระแหง พิฆาตร้านชำตายเป็นเบือ เพราะ “สะดวกซื้อ” เดินเข้าเซเว่นหลับตายังรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน และส่วนใหญ่ก็ราคามาตรฐาน ขับรถไปต่างจังหวัดต่างอำเภอยามดึกเห็นเซเว่นเปิดไฟอยู่ก็อุ่นใจเหมือนเห็นคนคุ้นเคย

ที่จริงไม่ใช่แค่เซเว่นหรอก โลตัสเอ็กซ์เพรส บิ๊กซีมินิ หรือร้าน 108 ก็เหมือนกัน เคยเห็นข่าวต่อต้านโลตัสตามจังหวัดต่างๆ ไหม ต้านแทบเป็นแทบตายพอเปิดได้คนแน่นตรึม

กระนั้นจะบอกว่าการรณรงค์ไม่ส่งผลอะไรเลย ก็คงไม่ใช่ เพราะในประเด็นที่เป็นหลักการ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ไม่ช้าก็เร็ว จะได้แรงสนับสนุนผลักดันล้นหลาม

ก็มีประเทศไหนบ้างที่ยอมให้ธุรกิจค้าปลีกผลิตสินค้า “เฮาส์แบรนด์” แข่งซัพพลายเออร์เสียเอง มีแต่ประเทศไทยนี่แหละ ไม่ว่า “น้ำตาโตเกียวบานานา” จะจริงหรือเท็จ การที่ซีพีตั้งบริษัทผลิตตั้งแต่ขนมยันข้าวแกง ทำเองขายเองในเซเว่นถ้าเป็นประเทศอารยะเขาถือว่ากีดกันการแข่งขัน ไม่เป็นธรรม

เพียงแต่ถ้าแก้กฎหมายนี้ก็ไม่ใช่สะเทือนเซเว่นแต่ผู้เดียว ทุกห้างนั่นแหละ ผลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์แต่ซีพีอาจกระทบอีกด้านคือ True ซึ่งขายโปรโมชั่นพ่วงโทรศัพท์บ้านเคเบิลทีวีเน็ตใยแก้ว (ดีเท่าไหร่แล้วไม่ออกแคมเปญจ่ายบิลทรูแถมหมูคุโรบูตะ)

เชื่อได้ว่าคงไม่มีประกาศแก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันการค้าในเร็วๆ นี้ด้วยมาตรา 44 แต่กระแสสังคมที่ใส่ใจเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคจะมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้ากล่าวเฉพาะซีพี ประเด็นน่าสนใจกว่าคือความรู้สึก “หมั่นไส้” ของประชาชนที่มีส่วนร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้ง 2 ขั้ว 2 สีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ว่าฝ่ายไหนชนะ ขั้วไหนได้เป็นรัฐบาล แม้กระทั่งรัฐประหาร ซีพีก็ยืนอยู่ข้างผู้ชนะเสมอ

พูดอย่างนี้ไม่ได้บอกว่ากลุ่มธุรกิจจำเป็นต้องมี “จุดยืน” เลือกข้างอย่างบะหมี่สำเร็จรูปที่ถูกคนสีหนึ่งต่อต้าน แต่การที่ซีพี “ไม่เลือกข้าง” ไม่มีส้นเท้าเอาเสียเลย แล้วกลับมีภาพลักษณ์ที่ชาวบ้านรู้สึกว่า ไม่ว่าใครชนะก็กระวีกระวาดเข้าไปเสนอตัวรับใช้ชาติ ไม่ว่าใครชนะก็มีบทบาทมีประโยชน์โพดผลเสมอ มันไม่ใช่ความรู้สึกว่าซีพี “เป็นกลาง” และสร้างความไม่พอใจอยู่ลึกๆ

แน่ล่ะในโครงสร้างส่วนบน ซีพีเข้าถึงแกนนำทุกพรรคการเมืองทุกขั้วอำนาจ ไม่เว้นกระทั่งสื่อ แต่ภายใต้แนวโน้มที่การเมืองไทยมีความเป็น “การเมืองมวลชน” มากขึ้นทุกที กระแสความรู้สึกนี้พึงระมัดระวัง

การรณรงค์บอยคอตต์ 7-11 อาจไม่ส่งผลรูปธรรม เพราะเป็นดราม่าที่ขัดต่อความจำเป็นความเคยชินในวิถีชีวิต แต่ไม่แน่เหมือนกันถ้าวันหนึ่งบังเอิญรณรงค์ถูกเป้า แล้วจะเกิดอะไร ซีพีก็รู้ดี จึงสะดุ้งจนตึกไหว

 

                                                                                                                ใบตองแห้ง

Back to top button