ถ่มน้ำลายรดฟ้า

เมื่อวานนี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายอมรับหน้าตาเฉยผิดกับช่วงที่ผ่านมา ยอมรับเงินบาทแข็งค่าส่วนหนึ่งจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทเป็นบางช่วง แต่ได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล  

เมื่อวานนี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายอมรับหน้าตาเฉยผิดกับช่วงที่ผ่านมา ยอมรับเงินบาทแข็งค่าส่วนหนึ่งจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทเป็นบางช่วง แต่ได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว

คำสารภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2560 เรื่อง “เศรษฐกิจ คิดใหม่” โดยที่แม้จะยอมรับ แต่ดร.วิรไท ยังคงปากแข็งย้ำว่า ในภาพรวมแล้วการที่บาทแข็งค่า เกิดจากเงินไหลเข้า เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ และคลายความกังวลจากปัญหาการเมือง ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินต้องคำนึงถึงเสถียรภาพควบคู่อีกหลายมิติ มองสมดุลระยะสั้นและระยะยาว

ไม่มีใครทราบว่าเบื้องหลังคำสารภาพดังกล่าว เกิดจากแรงจูงใจใดๆ เพราะเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตัวแทนของ ธปท. อย่าง นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ออกมาตอบโต้เสียงวิพากษ์กันตรงๆ ว่า สิ่งที่เหมือนกันในสถานการณ์ปัจจุบันและในปี 2540 คือ มีการดูแลค่าเงินของ ธปท.เหมือนกัน และ ธปท.ดูเหมือนจะมีปัญหาทางการเงินที่เกิดจากการแทรกแซงค่าเงินเหมือนกัน แต่ในความเหมือนกันนี้มีความแตกต่างที่สำคัญ ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่า การขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินบาทที่แข็งผิดปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย เพราะมีปัจจัยเฉพาะ ได้แก่

  • ระบบอัตราแลกเปลี่ยนในระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวในปัจจุบัน ที่การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนส่วนหนึ่งถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ทำให้การโจมตีค่าเงินทำได้ยากกว่า
  • ปัญหาของเงินทุนไหลเข้าซึ่งกดดันให้บาทแข็งไม่ใช่เรื่องน่ากังวล และ การแทรกแซงในภาวะเงินทุนไหลเข้าใช้การซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศ กลับทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จนมากกว่าสองแสนล้านเหรียญสหรัฐ สูงมากกว่ามาตรฐานสากลมาก ดังนั้น ความมั่นคงด้านต่างประเทศของ ธปท.ในปัจจุบันจึงไม่น่าเป็นห่วง
  • การขาดทุนของ ธปท.ในปัจจุบันส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตีราคาเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินบาท ทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศสกุลเงินบาทมีมูลค่าลดลง โดยที่เงินสำรองในรูปของเงินดอลลาร์ไม่ได้หายไปไหน การขาดทุนของ ธปท.จึงมิได้เป็นประเด็น แต่ ธปท. ก็ตระหนักว่า การขาดทุนต่อเนื่องถึงจุดหนึ่ง ก็อาจบั่นทอนความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางได้
  • ปัจจุบัน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 12% ของขนาดเศรษฐกิจ เพราะได้แก้จุดอ่อนหลายด้าน เช่น ด้านความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ด้านการพึ่งพาหนี้สกุลเงินต่างประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่มีจุดโหว่และไม่ทันการณ์

ครั้งนั้น นายดอน ระบุชัดเจนว่า จุดอ่อนสำคัญที่นำไปสู่วิกฤตปี 2540 ได้ถูกปิดไปมากแล้ว แม้ว่าการใช้จ่ายในประเทศยังไม่เข้าที่นัก โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชน ที่จากข้อมูลล่าสุดยังคงหดตัว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่คนทั่วไปยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น และการแชร์ข้อมูลที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าวิกฤตเศรษฐกิจแบบปี 2540 กำลังจะกลับมา อาจจะทำให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยและธุรกิจบางส่วนไม่กล้าลงทุน ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าและไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

การออกมายอมรับของผู้ว่าการ ธปท. ถือว่า”กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” เพราะเกิดขึ้นหลังจากรัฐมนตรีคลังและปลัดกระทรวงคลัง  ตั้งคำถามกรณีบาทแข็งค่ารุนแรง โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีคลัง กล่าวว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว เพราะค่าเงินบาทขณะนี้ถือว่าแข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค

ขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เจ้าของทฤษฎี เห็บสยาม กล่าวเสริมว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทรงตัวอย่างต่อเนื่อง กว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่อยู่ในระดับต่ำกว่ามานานแล้ว ทำให้เงินเฟ้อในประเทศอยู่ในระดับต่ำและหลุดเป้าหมาย ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากเงินที่ไหลเข้าเก็งกำไร ดังนั้น การลดดอกเบี้ยก็จะช่วยลดการเก็งกำไร และเสนอว่า นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังไม่ควรจะปล่อยให้กระทรวงการคลังฉีดเงินเข้าระบบอย่างเดียว โดยมีหมัดเด็ดของปลัดคลังที่ว่า “แบงก์ชาติปล่อยให้เงินแสนล้านเข้ามาได้อย่างไร จะเอามาสร้างโรงพยาบาลหรือ

เป็นที่ทราบชัดมาหลายเดือนแล้วว่า ผลพวงของการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐในระดับโลก ทำให้กระแสฟันด์โฟลว์จำต้องวนเวียนในตลาดเกิดใหม่ต่อไป และทำให้ต่างชาติเข้ามาเล่นเก็งกำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ยในตลาดกับดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ผลลัพธ์คือ นอกจากบาทแข็งแล้ว ธปท.ยังขาดทุนมหาศาลในการแทรกแซงตลาดเงิน

นับแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา นโยบายการเงินที่ ธปท.ใช้อยู่เป็น 2 เสาหลักคือ อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว และกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อรักษาเสถียรภาพ ล้วนเป็นต้นธารของกลยุทธ์ “2 ขาดทุน” ที่เข้าข่าย “ดินพอกหางหมู” ไม่มีทางเลือกอื่น และเป็นรากเหง้าของ กลยุทธ์ “2 ขาดทุน” ของ ธปท.มาถึงทุกวันนี้

เมื่อใดบาทอ่อน ธปท. จะมีกำไร แต่ถ้าบาทแข็ง ธปท.จะขาดทุน ดังนั้น การที่ฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาจำนวนมาก  ธปท.จะต้องออกพันธบัตร (ซึ่งแตกต่างจากพันธบัตรกระทรวงการคลัง) เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของเงินบาท แต่พันธบัตรที่  ธปท.มีภาระดอกเบี้ยจ่ายเป็นต้นทุน (อยู่ที่ 2-3%)

การขาดทุนค่าบาทที่กำลังแข็งเป็น “โด่ไม่รู้ล้ม” ยามนี้ ทั้งจากการออกพันธบัตร ธปท. (จากนโยบายการเงินตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ) และขาดทุนจากการทุ่มทุนสำรองแทรกค่าดอลลาร์ (จากนโยบายการเงินรักษาเสถียรภาพค่าบาท) แต่การออกมารับสารภาพ ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา

ประเด็นคือ จะตีความเชิงบวกหรือลบ เป็นอคติอย่างหนึ่งที่อาจจะถูกหรือผิดได้

Back to top button