พาราสาวะถี

จังหวะเคลื่อนของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเดินทางไปประชุมครม.สัญจรที่อยุธยา ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาสาระหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่ออกมา หากแต่อยู่ที่วันสุกดิบก่อนประชุมต่างหาก ที่มีนักการเมืองจากพรรคชาติไทยพัฒนาให้การต้อนรับจากการไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนเกษตรกรชาวนา จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมหยอดคำหวานให้อยู่นาน 8-10 ปี


อรชุน

จังหวะเคลื่อนของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเดินทางไปประชุมครม.สัญจรที่อยุธยา ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาสาระหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่ออกมา หากแต่อยู่ที่วันสุกดิบก่อนประชุมต่างหาก ที่มีนักการเมืองจากพรรคชาติไทยพัฒนาให้การต้อนรับจากการไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนเกษตรกรชาวนา จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมหยอดคำหวานให้อยู่นาน 8-10 ปี

ท่าทีของพลพรรคปลาไหลเช่นนี้ ถูกนำมาต่อยอดทันทีว่าเป็นการทอดสะพานต่อสายสัมพันธ์เพื่อเข้าร่วมเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยในการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอกหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ยิ่งได้ยิน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และ นิกร จำนง สองลูกหม้อและคนสนิทของ “บิ๊กเติ้ง” บรรหาร ศิลปอาชา มังกรการเมืองผู้ล่วงลับพูดถึงแนวทางที่ต้องเดินตามอดีตหัวหน้าพรรคอย่างเคร่งครัดแล้วยิ่งชัดเจน

ไม่มีใครลืมว่า ความเป็นบรรหารและการได้มาซึ่งฉายาพรรคปลาไหลไม่ใช่เพราะโชคช่วย หากแต่เป็นจังหวะก้าวทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความสุขุม นุ่มลึก ยึดประโยชน์ของพรรคและตัวเองเป็นสำคัญ โดยไม่ได้สนใจว่า คนหรือพรรคที่จะไปจับมือด้วยนั้นเคยบาดหมางกันมาก่อนหรือไม่ ตามสไตล์สร้างมิตรไม่บ่มเพาะศัตรูของบิ๊กเติ้ง

เมื่อเป็นเช่นนั้น ทุกย่างก้าวของชาติไทยพัฒนานับจากนี้จึงน่าจับตามอง จะเป็นเพียงแค่พรรคตัวรองที่คอยหนุนผู้ซึ่งจะก้าวขึ้นสู่อำนาจอีกกระทอกหรือจะเป็นหัวหอก หัวหมู่ทะลวงฟันในการถือธงนำ รวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อย เพื่อเป้าหมายอุ้มนายกฯคนนอกเข้าสภา หากขันอาสาเช่นนั้น เส้นทางของสองพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ก็จะมีที่นั่งฝ่ายค้านในสภาเท่านั้น

แน่นอนว่าพรรคนายใหญ่ รู้ชะตากรรมตัวเองดีอยู่แล้ว แต่ที่ยังยักแย่ยักยัน ทำตัวโหวกเหวกโวยวาย อ้างหลักการยึดแนวทางประชาธิปไตยอยู่เวลานี้อย่างประชาธิปัตย์ คนจำนวนไม่น้อยก็อยากจะรู้จุดยืนหรือการประกาศให้หนักแน่นจากปากของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปเลยว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคจะเดินไปในแนวทางใด จะสนับสนุนคนนอกให้มาเป็นผู้นำประเทศหรือไม่

ประเภทที่เรียกร้องว่าให้บิ๊กตู่แสดงตัวให้ชัด “จะเป็นผู้เล่นหรือผู้ดูแลกติกาเลือกตั้ง” มันแค่เรื่องขี้ปะติ๋ว เพราะสิ่งที่คนทั้งประเทศอยากได้คำตอบเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าสถานะของท่านผู้นำจะเป็นอย่างไร เนื่องจากต่างก็รู้ดีกันอยู่แล้ว กติกาที่สร้างกันขึ้นมาพร้อมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีเป้าหมายเพื่ออะไร หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยในเวลานี้มันอยู่ที่ผู้เล่นหลักอย่างนักการเมือง พรรคการเมืองใหญ่ จะต่อต้านเผด็จการซ่อนรูปหรือจะยอมศิโรราบแค่นั้น

หากอยากจะได้ใจคนส่วนใหญ่ ไม่ต้องตกเป็นพระรองต้องแพ้การเลือกตั้งหมดรูป และไปดักดานทำหน้าที่ฝ่ายค้านยาวนานเกือบ 20 ปี ต้องเลิกทำตัวเป็นอีแอบ เรื่องนโยบายนั่นก็ไม่ใช่เรื่องหลักเช่นกัน หากไปถามคนที่เลือกพรรคนายใหญ่ทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือ สิ่งที่ทำให้เขาเลือกไม่ใช่แค่ว่านโยบายกินได้ แต่มันอยู่ที่หัวใจว่าคุณคือคนที่สู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือแค่เปลือกต่างหาก

ทั้งหมดนี้มันสัมผัสได้จากสิ่งที่แสดงออก และประเภทเที่ยวกล่าวหาว่าพรรคนั้นคนนี้ซื้อเสียงต้องเลิกได้แล้ว ยิ่งยุคไทยแลนด์ 4.0 คนบ้านนอกคอกนาไม่ได้โง่และสิ้นคิดเหมือนอย่างที่ฝังหัวจากพวกอนุรักษนิยมอีกต่อไป หากอยากจะได้ใจก็ต้องใช้ความจริงใจเข้าไปซื้อ อำนาจบาตรใหญ่ไม่สามารถทำให้คนเหล่านั้นเกรงกลัว ในทางตรงข้ามกลับต่อต้านและรอวันระเบิดได้ทุกเมื่อ

ความอ่อนไหวของคนใจเผด็จการที่แม้แต่ป้ายคำว่า “รังเกียจเผด็จการ” “อุบาทว์” และ “เฮงซวย” ยังต้องเก็บให้เรียบในวันที่ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นำกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาไปจัดกิจกรรมรำลึก 11 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เท่านี้ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่าการเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าบรรยากาศจะเป็นไปในรูปใด

สิ่งที่น่าจับตาต่อไปคือ เนติบริกรทั้งหลายจะหาเหตุใช้อะไรมาเป็นเครื่องมืออันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแทนมาตรา 44 เพื่อให้ผู้นำหลังการเลือกตั้งซึ่งคาดหมายว่ายังจะเป็นคนเดิม ได้นั่งในตำแหน่งด้วยความมั่นอกมั่นใจ เพราะของมันเคยใช้และสยบทุกความเคลื่อนไหวที่คิดจะต่อต้านได้อยู่หมัด จะปล่อยให้มากวนใจในห้วงเวลาแห่งการสืบทอดอำนาจได้อย่างไร

กล่าวสำหรับโอกาสครบรอบ 11 ปีของการยึดอำนาจ ทักษิณ ชินวัตร นั้น ขึ้นชื่อว่าอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแรกที่ต้องเจอคือ ข้อรังเกียจจากนานาอารยะประเทศ สิ่งที่ตามมาทันทีทันใดคือ การวางกติกากีดกันการค้าความร่วมมือต่างๆ ที่เคยมีกับประเทศไทย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ความเห็นของ พิชัย นริพทะพันธุ์ จะบอกว่าจากเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย เวลานี้ไทยเราจะกลายเป็นคนป่วยของอาเซียน

เพราะต้องไม่ลืมว่าเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ไทยเราถูกมองว่าเป็นประเทศที่น่าเชื่อถือทั้งในแง่ของความเป็นประชาธิปไตยและการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ แต่ 11 ปีให้หลังกลับพบว่า ไทยมีเศรษฐกิจที่โตต่ำสุด และมีแนวโน้มที่โตต่ำไปเรื่อยๆ อีกทั้งมีสภาวะการเมืองที่ไม่แน่นอน ซึ่งไปฉุดรั้งการเติบโตของกลุ่มประเทศอาเซียนให้โตลดลงไปด้วย

แม้จะมีคำอธิบายหรือเหตุผลที่ยึดโยงกับการเมืองที่ตัวเองสังกัดอยู่บ้าง แต่สิ่งที่พิชัยช่วยสะกิดอีกเรื่องก็น่าสนใจอยู่ดี กล่าวคือ หากคนไทยจำนวนมากยังคิดกันไม่ได้ว่าประเทศไทยเสียโอกาสอะไรไปแล้วขนาดไหน และยังคงคิดว่าแนวทางปัจจุบันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ประเทศไทยก็เสียโอกาสยิ่งขึ้นไปอีกเรื่อยๆในอนาคต ไม่ต่างกับประเทศที่ล้มเหลวในอดีตบางประเทศที่มีตัวอย่างให้เห็นกันแล้ว

วันพิพากษา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 27 กันยายนนี้ ไม่มีอะไรให้ต้องหนักใจสำหรับฝ่ายความมั่นคงเรื่องมวลชนที่จะมาให้กำลังใจ เพราะประเมินด้านการข่าวแล้วอดีตนายกฯหญิงคงไม่ปรากฏกาย จึงไม่จำเป็นต้องวางกำลังแน่นหนาเหมือนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่คำถามที่ยังคงไร้คำตอบคือแล้วยิ่งลักษณ์อยู่ไหน หลังฮือฮาด้วยงานด้านการข่าวว่าพบรถที่พาหนีผ่านด่านทหารสระแก้ว แล้วไงจนถึงวันนี้ทุกอย่างเงียบกริบ เป็นเจตนาที่ต้องการให้เป็นเช่นนั้นเพื่อรอคอยวันพิพากษาอย่างนั้นหรือ รออีกอึดใจเดียวรู้กัน

Back to top button