กระทิงเปลี่ยวไม่ต้องการเหตุผล
แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดความร้อนแรงลงวานนี้ แต่มุมมองของนักวิเคราะห์เกือบทั้งสิ้นล้วนเป็นทางบวกทั้งสิ้น บอกว่าในระยะยาวดัชนีจะต้องทะยานไปทดสอบแนวต้านที่ระดับ 1,700 จุดจนได้
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดความร้อนแรงลงวานนี้ แต่มุมมองของนักวิเคราะห์เกือบทั้งสิ้นล้วนเป็นทางบวกทั้งสิ้น บอกว่าในระยะยาวดัชนีจะต้องทะยานไปทดสอบแนวต้านที่ระดับ 1,700 จุดจนได้
นักวิเคราะห์บางสำนักถึงขั้นเกือบสติแตกไปเลยว่า ปีหน้าดัชนีจะทะลุไปที่ 1,900 จุดกันทีเดียว
ความไม่มีเหตุผลของการคาดเดาอนาคตเช่นนี้ จะถือเป็นส่วนหนึ่งของเกมตลาดหุ้นที่คาดเดาอนาคตอันไม่แน่นอน โดยเชื่อในปัจจัยบวกเฉพาะหน้าเช่นเรื่องของดัชนีที่ยังคงขึ้นน้อยกว่าตลาดอื่นๆ หรือ การเข้ามาของทุนต่างชาติที่ต่ำ
บทสรุปที่ดูไม่เป็นไปตามธรรมชาติประหนึ่ง “เจ๊กตื่นไฟ” เช่นนี้ นอกจากบ่งบอกถึงคุณภาพทางด้านอารมณ์ของนักวิเคราะห์แล้ว อาจะเป็นไปตามบทสรุปว่าด้วยความไม่มีเหตุผลของอารมณ์ตลาดที่มีความไม่มีเหตุผลปะปนด้วยในระดับสำคัญ ตามทฤษฎีหงส์ดำของนัสซิม ทาเล็บ นักคณิตศาสตร์อเมริกันเชื้อสายเลบานอนที่มีชื่อประหลาด
ก่อนนำเสนอทฤษฎีหงส์ดำ ทาเล็บเคยเขียนหนังสือชื่อ Fooled by Randomness ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวคิดในลักษณะเสียดสีว่า เหตุใดมนุษย์จึงเลือกที่จะโกหกตัวเองด้วยการนำเอาตัวเลขเชิงสถิติมาใช้อย่างลำเอียงเข้าข้างตนเอง ในกระบวนการตัดสินโอกาสหรือทางเลือก แล้วบอกใครต่อใครว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ ผลลัพธ์คือ ทำให้ตกเป็นเบี้ยล่างของนักคณิตศาสตร์และนักการพนันใช้เอาเปรียบในเวลาที่มีการตัดสินใจโดยข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์มาแล้ว
ทฤษฎีหงส์ดำไปไกลกว่าแค่เรื่องคณิตศาสตร์แบบนักวิเคราะห์ แต่เข้าสู่แก่นปรัชญากันเลย มิใช่แค่แนวคิดทางด้านปรัชญาเสรีนิยมเท่านั้น หากยังโยงเข้ากับกลยุทธ์การลงทุนที่ผู้คนในวอลล์สตรีท ต้องถือเอาไว้บนหิ้งโชว์
ทาเล็บปฏิเสธแนวคิดของทฤษฎีฟ้าลิขิต หรือ determinism หรือ predestination ที่มองว่า สรรพสิ่งในโลกได้รับการจัดวางหรือกำหนดล่วงหน้ามาแล้วจากอำนาจบางอย่างที่มีเงื่อนไข และภารกิจในตัวเอง ซึ่งเท่ากับปฏิเสธนักปราชญ์อย่างขงจื๊อ เหล่าจื๊อ และเพลโตอยู่ที่หัวแถวเลยทีเดียว
แนวคิดของ Taleb เริ่มต้นด้วยประเด็นว่า “หากมีคนบอกคุณว่าหงส์สีดำ อย่าด่วนสรุปว่าเขาตาฝาดหรือเพี้ยน” ดูเหมือนจะพยายามสานต่ออิทธิพลความคิดของโทมัส คุห์น นักประวัติ ศาสตร์วิทยาศาสตร์เจ้าของทฤษฎีการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ หรือ paradigm shift อันลือลั่น โดยการค้นหาคำอธิบายเพื่อจะหาว่า สำหรับปรากฏการณ์พิเศษที่เหนือความคาดหมายรุนแรงและนานๆ ครั้ง ซึ่งมีลักษณะ “ปฏิวัติ” หรือที่มาร์กซ์เรียกว่า การก้าวกระโดดเชิงคุณภาพ ควรจะเป็นแบบใดที่จะเหมาะสม
ทาเล็บมองว่า ปรากฏการณ์ที่ไม่ปกติทั้งหลายในโลก เป็นมากกว่าแค่การผ่าเหล่าธรรมดา เสมือนกับการมีหงส์ดำ ไม่ใช่ผิดปกติ แต่เป็นส่วนหนึ่งของฝูงหงส์ขาวเท่านั้นเอง และมันไม่เกิดขึ้นมาเพราะอุบัติเหตุ หากอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสม
ด้วยข้อสรุปอย่างนี้ Taleb กลับมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกับ กาลามสูตรของพระพุทธองค์อย่างน่าประหลาดในเรื่องการแสวงหาองค์ความรู้เพื่ออนาคตว่าจะต้องไม่ยึดสูตรสำเร็จเดิมๆ ที่เคยได้ผล เพราะมันอาจไม่ได้ผลตามที่ต้องการ
ภายใต้ทฤษฎีดังกล่าว ความรู้เก่าๆ รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ไม่ควรได้รับการด่วนสรุปหรือรีบร้อนเชื่อเร็วเกินไปแบบเหมาเข่ง โดยเฉพาะการนำมาใช้คาดเดาหรือพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
เหตุผลคือ สิ่งที่ไม่เคยเห็นในอนาคต ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีจริง เพราะไม่เคยมีในอดีต และสิ่งที่มองเห็นในปัจจุบัน อาจเป็นผลที่เกิดขึ้นจากปัจจัยนอกเหนือจากที่เราคาดคิด มองไม่เห็น บ่อยครั้งไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ามันมีอยู่จริงๆ
ในยามที่ตลาดหุ้นไทยยังคงต้องทำการทดสอบความแม่นยำของทฤษฎีหงส์ดำต่ออีกหลายวันนับจากนี้ไปท่ามกลางคำถามว่าดัชนีควรจะไปต่อหรือลงเสียที การทำความคุ้นเคยกับทฤษฎีหงส์ดำก็เป็นสิ่งจำเป็น มากกว่าระดับปกติ
นัสซิม ทาเล็บ อดีตเทรดเดอร์ในตลาดทุนเอกชน ได้ใช้เวลาทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เหมือนกับในสมัยศตวรรษที่ 16 ที่คนมีความเชื่อว่าในโลกนี้มีแต่หงส์สีขาวเท่านั้น เพียงเพราะในอดีตไม่เคยมีคนพบเห็นหงส์สีอื่นเลย พูดไปจึงไม่มีใครเชื่อ แล้วก็สรุปว่า ในโลกของการเงินการลงทุนนั้น มีหงส์ดำอยู่จริง
หงส์ดำ ในความหมายของทาเล็บ หมายถึง (1) เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน แต่มี (2) ผลกระทบมหาศาล และพอเกิดขึ้นแล้ว ผู้คนจะมานั่งหาเหตุผลจับต้นชนปลายจึงจะ (3) พอจะคาดการณ์หรือเข้าใจได้ว่ามันจะเกิดขึ้น
ปรากฏการณ์หงส์ดำ ต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 อย่างนี้
เพื่อทดสอบว่าทฤษฎีของเขาถูกต้อง Taleb ซึ่งเดิมก็เป็นแค่ พนักงานวิเคราะห์หุ้นธรรมดาของบริษัทหลักทรัพย์ในวอลล์สตรีท จัดการทดสอบทฤษฎีหงส์ดำที่เน้นยืนยันเกมโต้กลับทฤษฎีข้อมูลจากอดีต ด้วยการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเก็งกำไรที่เรียกว่า VaR (value at Risk) และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) เพื่อประเมินความเสี่ยงของพอร์ตหุ้นในช่วงเวลาหนึ่ง (ประมาณ 1-10 วัน) ภายใต้สถานการณ์ทั้งปกติและไม่ปกติ เพื่อค้นหาจังหวะเข้าซื้อและถอนตัวออกมา เพื่อปรับพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับภาวะของตลาด
ผลปรากฏว่า Taleb เอาชนะนักวิเคราะห์หุ้นทั้งหลายได้อย่างงดงาม และยังทำให้นักเศรษฐศาสตร์กลายเป็นตัวตลกไปเลย
นักวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์พบว่า ผู้คนทั่วไปมักมีการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงเหตุการณ์รุนแรง เช่นตลาดหุ้นพัง หรือ แผ่นดินไหว ว่าจะเกิดขึ้นบ่อยกว่าจำนวนครั้งที่มันเกิดขึ้นจริง พูดง่ายๆ ก็คือ โดยธรรมชาติ คนส่วนใหญ่มักมองโลกในแง่ร้าย และกังวลเกินกว่าเหตุนั่นเอง
การค้นพบพฤติกรรมดังกล่าว นอกจากสอดรับกับทาเล็บแล้ว ยังมีประโยชน์อย่างมากในการนำมาปรับใช้ แต่ก็หมายความว่าทฤษฎีนี้ จะใช้ได้ผลเฉพาะบุคคลเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นการทั่วไปได้
ส่วนใครจะได้หรือเสีย คงจะโทษหงส์ดำไม่ได้