ขาเดียวก็ผิดได้
“คนดียุคนี้” ทำอะไรก็ไม่ผิด สั่งซื้อเรือเหาะไร้ค่ามาเก็บไว้เฉยๆ ก็ไม่ผิด สั่งซื้อไม้ล้างป่าช้าลวงโลกก็ไม่ผิด เซ็นคำสั่งให้นายทุนฮุบที่ป่าชุมชนชาวบ้านก็ไม่ผิดอีก
ขี่พายุ ทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
“คนดียุคนี้” ทำอะไรก็ไม่ผิด สั่งซื้อเรือเหาะไร้ค่ามาเก็บไว้เฉยๆ ก็ไม่ผิด สั่งซื้อไม้ล้างป่าช้าลวงโลกก็ไม่ผิด เซ็นคำสั่งให้นายทุนฮุบที่ป่าชุมชนชาวบ้านก็ไม่ผิดอีก
ใครอยากจะมีคุณสมบัติ “คนดี” ในครอบครอง ปรึกษาได้ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.
ในโลกแห่งตลาดทุน ก็มีเรื่องที่สมควรจะได้ถกสนทนากันบ้างตามสมควรว่าด้วย “ความรับผิดกรณีใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน”
กรณีนี้คือกรณีการ “ซื้อหุ้นขาเดียว–ไม่มีขาขาย” ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งมาตรฐานการตีความของก.ล.ต.เมื่อก่อน ไม่ปรากฏบันทึกว่าจะเป็นความผิด
แต่เดี๋ยวนี้ กลับกลายเป็นความผิดไปเสียแล้ว ต้องโดนลงโทษปรับแล้วเลิกราต่อกัน หรือหากผู้ถูกกล่าวโทษไม่ยอมรับโทษปรับ ก็ต้องถูกส่งดำเนินคดีที่ดีเอสไอ อัยการและศาลต่อไป
กรณีแรกก็คือ บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BIG ซึ่งผู้บริหารบริษัทซื้อหลักทรัพย์ของตนเองและไม่ปรากฏรายการขายในภายหลัง แต่ก็ยังถือเป็นความผิด
นายธนสิทธิ์ เธียรกาญจนวงศ์ ในฐานะกรรมการและกรรมการผู้จัดการ BIG และนายชิตชัย เธียรกาญจนวงศ์ ในฐานะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ ซื้อหุ้น BIG จำนวน 2,620,000 หุ้น และ 3,858,100 หุ้นตามลำดับ
แม้เป็นการซื้อในช่วงเวลาเกินกว่า 30 วันก่อนการเปิดเผยงบการเงินของบริษัท ซึ่งเมื่อก่อนไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้ไปตีความกฎหมายใหม่กันอย่างไร กลายเป็นความผิดไปเสียฉิบ
ผู้บริหารทั้ง 2 รายดังกล่าว ก็จำยอมต้องจ่ายค่าปรับแทนการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไปสิครับ เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 6,250,075.80 บาท และยังถูกห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเป็นเวลา 1 ปี
นับแต่ 25 ส.ค. 60 เป็นต้นไป
ส่วนอีกกรณีหนึ่งก็คือ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SPORT ซึ่งนายระวิ โหลทอง ฐานะกรรมการและประธานที่ปรึกษาบริษัท ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท โหลทอง โฮลดิ้ง ซื้อหุ้น SPORT จำนวน 1,479,700 บาทในตลาด
ซึ่งก็เป็นการซื้อหุ้นขาเดียว ไม่มีขาขายเช่นกัน
โถ!ราคาหุ้น SPORT ตอนนั้นก็แค่ในราว 1 บาท เงินแค่ 1 ล้านกว่าบาท จิ๊บๆ เนี่ยนะ จะเป็นมูลเหตุจูงใจอะไรให้ประธานฯค่ายสยามสปอร์ต กระทำการสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย
ตลาดหลักทรัพย์ฯหรือตลท.เป็นผู้สรุปเบื้องต้นว่า เป็นการซื้อก่อนข้อมูลผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2558 ของ SPORT จะออก ก่อนส่งไปให้ก.ล.ต.พิจารณาดำเนินการ
ซึ่งมีผลดำเนินงานดีกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือกำไร 14.25 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้านี้มีผลขาดทุนมาโดยตลอด และนายระวิได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวซื้อหุ้น SPORT
ก.ล.ต.ก็ยืนตามตลท. สั่งปรับนายระวิเป็นจำนวน 500,000 บาท และสั่งห้ามมิให้นายระวิเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเป็นเวลา 1 ปี
นายระวิได้ทำบันทึกยินยอมรับมาตรการลงโทษทางแพ่งและปฏิบัติตามบันทึกยินยอมดังกล่าวครบถ้วน
อุทธาหรณ์สอนใจผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนจาก 2 กรณีการลงโทษดังกล่าวก็คือ อย่าตายใจกับจารีตปฏิบัติว่า “ซื้อขาเดียว” แล้วไม่มีความผิด เมื่อก่อนน่ะไม่ แต่เดี๋ยวนี้เป็นความผิดแล้ว นั่นเป็นประการหนึ่ง
ส่วนประการที่สองก็คือ แม้ซื้อหลักทรัพย์ของตัวเองในช่วงเกินกว่า 30 วันก่อนการประกาศงบการเงินประจำงวด ก็อย่าได้ตายใจว่าจะไม่มีความผิด
คำจำกัดความว่า “ใช้ข้อมูลวงในหาประโยชน์” ในยุคนี้ ค่อนข้างจะตีความอย่างกว้างขวางมากมาย เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ “ดุลพินิจ” ง่ายดาย ซึ่งสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อคำครหาในเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือสองมาตรฐาน
ไม่มีใครเถียงหรอกครับว่า ผู้บริหารสมัครใจเองที่จะเลือกการเสียค่าปรับแทนการดำเนินคดี แต่ในทางปฏิบัติก็รู้ๆ กันอยู่ว่า การมีเรื่องขัดใจก.ล.ต.นั้นไม่ใช่เรื่องดีเลย
บมจ.นั้น จะกลายเป็น “แบ๊ด บอย” ในสายตาก.ล.ต.ไปตลอด
ขอทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาทบทวนเรื่องการตีความ “อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง” ยุคใหม่ด้วยเถอะ