เงินฝากปลอดภาษี

มาตรการที่จะยกเลิกเงินฝากปลอดภาษีของกระทรวงการคลัง ทำให้คนที่มีเงินฝากประจำเกิน 1 ปี เดือดร้อนต้องหาทางออกกันอีกครั้ง คำถามคือ จะเอาเงินไปไว้ที่ไหนที่คุ้มค่ากับการออม


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

มาตรการที่จะยกเลิกเงินฝากปลอดภาษีของกระทรวงการคลัง ทำให้คนที่มีเงินฝากประจำเกิน 1 ปี เดือดร้อนต้องหาทางออกกันอีกครั้ง คำถามคือ จะเอาเงินไปไว้ที่ไหนที่คุ้มค่ากับการออม

โดยข้อเท็จจริง มาตรการเรียกเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารของกระทรวงการคลัง อาจจะสวนทางกับนโยบายส่งเสริมการออมของประชาชนมากพอสมควร แต่คนที่มีเงินออมจะคุ้นเคยกันดี เพราะที่ผ่านมา มีข้อยกเว้นให้หลายอย่าง นอกเหนือจากนำเงินออมไปลงทุน (ในหุ้น หรือกองทุน หรือ ซื้อที่ดิน หรืออื่นๆ)  หรือออมในรูปอื่น (ประกันชีวิต หรือ ฯลฯ)

หนึ่งในข้อยกเว้นนั้นคือ การฝากเงินกับธนาคารแบบประจำเกิน 1 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเปิดกี่บัญชีก็ได้ แต่ต้องรวมผลตอบแทนแล้วไม่เกินปีละ 20,000 บาท ส่วนที่เกินกว่านั้นต้องจ่ายภาษีเงินฝาก 15% ตามกติกา

ในทางปฏิบัติ การฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์เอกชน จะต้องมีกติกาเข้มงวดอยู่แล้ว แต่ก็มีข้อมูลที่บอกกันปากต่อปากว่า ถ้านำเงินไปฝากในบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ กับธนาคารที่เป็นกิจการเฉพาะของรัฐบาล   เช่น  ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. เป็นต้น  ดอกเบี้ยเงินฝากในบัญชีเผื่อเรียกพิเศษที่ได้ทั้งหมด  จะไม่ถูกหักภาษีดอกเบี้ย ณ ที่จ่าย และ จะได้รับยกเว้นภาษีทุกระดับ จำนวนเงิน ไม่ว่า ดอกเบี้ยเงินฝากจะเกิน 20,000 บาท หรือไม่ และไม่ต้องยื่นเสียภาษี

เพียงแต่ว่าเงินออมพิเศษกับธนาคารรัฐที่ว่ามา ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ไม่มากนัก

ประเด็นดังกล่าว ได้มีการวินิจฉัยโดยกรมสรรพากรในปี 2552 ว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรา 50 (2) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ให้เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 137)ฯ ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2548 ที่มีสาระสำคัญว่า

– ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับดังกล่าว ต้องเป็นผู้มีเงินได้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ โดยการนับอายุผู้มีเงินได้ครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ให้นับตามวัน เดือน ปี ที่ผู้ฝากเงินเกิด 

– ธนาคารสามารถออกแบบและคำนวณจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้ผู้มีเงินได้เป็นรายเดือนเป็นสิทธิของธนาคารฯ ที่จะกำหนดวิธีการจ่ายดอกเบี้ย 

– ผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด 

– ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่จะได้รับ ยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้ต้องเปิดบัญชีเงินฝากขึ้นใหม่โดยเฉพาะแยกต่างหากจากบัญชีเงินฝากประเภทอื่น และต้องมีบัญชีเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นี้เพียงบัญชีเดียว กรณีเปิดบัญชีเงินฝากมากกว่าหนึ่งบัญชีในหลายธนาคารในระหว่างที่บัญชีแรกยังไม่ครบกำหนด ท่านจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากของบัญชีใหม่ 

เงื่อนไขหลังสุดนี้แหละ ที่มีเจ้าหน้าที่ธนาคารและผู้ฝากเงิน “หัวหมอ” ร่วมพากันตุกติกเปิดบัญชีโยกไปโยกมาเพื่อเลี่ยงภาษี

ช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำให้เมื่อดอกเบี้ยใกล้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้ว ธนาคารพาณิชย์ใช้วิธีการปิดบัญชีเก่าแล้วไปเปิดบัญชีใหม่แทน โดยเฉพาะบรรดาธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งเลือกที่จะใช้วิธีการดังกล่าว

ความพยายามปิดจุดอ่อน ทำให้กระทรวงการคลังทนไม่ไหวออกโรงมาเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ (ซึ่งก็คือแบงก์ชาติ) เข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วยว่า จะควบคุมดูแลอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะถือเป็นธรรมาภิบาลอย่างหนึ่งของสถาบันการเงิน

การที่แบงก์ชาติโดย นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ออกมาขานรับว่ากรณีที่มีธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีพฤติกรรมการสนับสนุนให้ลูกค้าผู้ฝากเงินหลีกเลี่ยงการชำระภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยรับส่วนที่เกินกว่า 20,000 บาทนั้น กำลังตรวจสอบว่า เป็นพฤติกรรมทั่วไปของธนาคาร หรือเป็นเฉพาะสาขา หรือเฉพาะพนักงานบางคนที่ต้องการดูแลลูกค้ารายใหญ่บางรายเป็นพิเศษ ถือว่าไม่แปลกแต่อย่างใด

เพียงแต่ผู้รู้ในแวดวงภาษีกลับมีมุมมองอีกอย่างว่า การตีปลาหน้าไซของกระทรวงการคลังนี้ จะมีผลทำให้เงินฝากของผู้สูงวัยที่อยู่ตามธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย โยกย้ายไปอยู่ในอ้อมกอดของธนาคารเฉพาะกิจของกระทรวงการคลังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.

ส่วนเรื่องจะยกเลิกเงินฝากปลอดภาษี คงเงียบเป็นคลื่นกระทบฝั่งไปกับสายลม

Back to top button