หุ้นกลุ่มธนาคาร
ฝุ่นตลบกันไปพักใหญ่หลัง ธปท.ประกาศแนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
ฝุ่นตลบกันไปพักใหญ่หลัง ธปท.ประกาศแนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562
อย่างที่คนในวงการตลาดเงิน ตลาดทุนรับทราบกัน
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยเพียงแต่ภาษาที่ ธปท.นำมาสื่อสารนั้นชวนให้เข้าใจยาก และทำให้ “เรื่องที่ดี” กลายเป็น “ข่าวร้าย” ไป และยังนำไปแชร์ในโซเชียลตื่นตกใจกันใหญ่
ยังไม่รวมกลุ่มคนที่ผสมโรงนำเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอีก
ประกาศใหม่ของ ธปท. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 5 แห่ง คือ KTB KBANK BBL SCB และ BAY จะต้องดำรงเงินกองทุน Tier 1 ส่วนเพิ่มอีก 1% จากปัจจุบัน 6%
นอกเหนือจากเกณฑ์ Basel 3 ที่กำหนดให้ดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่ม เพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤติ (Conversation buffer) อีก 2.5% และเพื่อรองรับความเสี่ยงหากเศรษฐกิจขาลง (Countercyclical buffer) อีก 2.5%
และนั่นทำให้เมื่อถึงปี 2563 แบงก์ทั้ง 5 แห่งนี้ ต้องมี Tier 1 ไม่ต่ำกว่า 11.5%
และหากกลับไปดูตัวเลข Tier 1 ณ สิ้นไตรมาส 2/60
BBL อยู่ที่ 16.4%
KTB อยู่ที่ 13.1%
KBANK อยู่ที่ 15.3%
SCB อยู่ที่ 15.3% และ BAY อยู่ที่ 12.3%
จะเห็นว่าตัวเลขทั้ง 5 แบงก์ต่างสูงกว่าเกณฑ์ Tier 1 ที่จะถูกนำมาใช้ในต้นปี 2562-2563
ขณะที่ในมุมมองของนักวิเคราะห์ต่างก็บอกเหมือนกันว่า ตัวเลข Tier 1 ของธนาคารพาณิชย์ไทยทุกแห่ง จะสูงขึ้นไปอีก จากผลการดำเนินงานในช่วงปี 2561-2562
บล.เอเซีย พลัส มีการประเมินว่า ประกาศของธปท.ไม่ได้มีนัยสำคัญที่จะกระทบต่อศักยภาพการทำกำไร หรือฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ทั้ง 5 แห่ง
และไม่เป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การเพิ่มทุน อย่างที่กังวลกัน
ในทางตรงข้าม กลับจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติต่อฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
จึงคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มแบงก์ “มากกว่าตลาด”
เหตุผลก็เพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เอื้อต่อผลประกอบการ งวดครึ่งปีหลัง และบวกเต็มที่ในปี 2561-2562 ที่คาดว่าจะกลับมาโตเฉลี่ย 11%
ส่วน valuation กลุ่มแบงก์ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาค
แบงก์ของไทย มี P/BV ปี 60 ต่ำเพียง 1.1 เท่า
แม้จะใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 1.4 เท่า
มีคำถามต่อว่า แล้วเกณฑ์ใหม่จะมีผลต่อแบงก์ขนาดกลางและเล็กหรือไม่
คำตอบคือ แทบจะไม่มีผลเช่นกัน
นั่นเพราะแบงก์กลางและเล็กจะมี Tier 1 ที่สูงในระดับเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 5 แห่งดังกล่าว
อย่าง KKP อยู่ที่ 15.30%
TCAP อยู่ที่ 14.33%, TISCO อยู่ที่ 14.83% และ TMB อยู่ที่ 12.30%
และแน่นอนว่าเมื่อถึงปี 2562 แบงก์ต่างๆ เหล่านี้ก็จะมี Tier 1 สูงขึ้นจากปัจจุบันอีก
มีมุมมองจากบทวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทย
เขายังให้น้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร “มากกว่าตลาด”
แม้หนี้เอ็นพีแอลไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ ยังคงเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นอัตราการเพิ่มแบบชะลอตัวจากเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว
กำไรกลุ่มแบงก์ในปี 2560 อาจเติบโตติดลบ 2%
แต่ในปี 2561 จะขยายตัว 11% และปี 2562 เพิ่มขึ้น 10%
ตัวเลขสำคัญๆ ทางการเงินของกลุ่มแบงก์ในช่วงนี้ถูกเผยแพร่ออกมามากขึ้น
เพื่อต่อสู้กับความเข้าใจจากการ “ใช้ภาษาที่เข้าใจยาก” ของ ธปท.นั่นแหละ
ทำเรื่องที่ดี ให้เป็นข่าวร้ายได้
ธนะชัย ณ นคร