BIGC ถอดลูกให้จีบแม่ (แทน)
นับตั้งแต่วานนี้เป็นต้นมา บริษัทมหาชนจดทะเบียนในกลุ่มค้าปลีกที่ชื่อ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIGC ได้ยกเลิกการซื้อขายบนกระดานหุ้นต่อไปอีกไม่รู้กำหนด
แฉทุกวันทันแกมหุ้น
นับตั้งแต่วานนี้เป็นต้นมา บริษัทมหาชนจดทะเบียนในกลุ่มค้าปลีกที่ชื่อ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIGC ได้ยกเลิกการซื้อขายบนกระดานหุ้นต่อไปอีกไม่รู้กำหนด
ทั้งหมดนี้เป็นไปตาม ประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ให้ทำการเพิกถอนหลักทรัพย์ จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 60 โดยหลักทรัพย์ของ BIGC ได้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันสุดท้ายในวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีราคาปิด 196.00 บาท
หลายเดือนก่อน BIGC ได้แจ้งเจตนาขอเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และได้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2542 จนครบถ้วนเรียบร้อย
หนึ่งในนั้นคือ การที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BIGC คือบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ที่เป็นบริษัทแม่ และเครือข่ายร่วมคือ บริษัท เสาวนีย์โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่ถือหุ้นรวมกันของ BIGC ในสัดส่วนรวม 97.94% เสนอตัวทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ เพื่อรับซื้อคืนหุ้นละ 225 บาทจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ… เป็นตามกฎเทนเดอร์ได้แค่ปีละครั้ง ภายหลังจากที่พ้นกำหนดช่วงระยะเวลา 12 เดือนถัดจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทในครั้งก่อน ของ BJC
การรับซื้อคืนดังกล่าวเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดในวันที่ BIGC มีมติเพิกถอนตามข้อเสนอของ BJC เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ซึ่งมีราคาปิดที่ 233.00 บาท
ราคาที่ต่ำกว่าตลาดดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นสไตล์ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของตัวจริงที่อยู่เบื้องหลัง…. ถ้าทำเทนเดอร์สูงกว่าราคาตลาด ต้องถือว่าแปลกกว่า ..หมูออกลูกเป็นสุนัข… กันเลยทีเดียว
เหตุผลของ การถอน BIGC ออกจากตลาดนั้นก็ถือได้ว่าอ้าง…ไปงั้นๆ แหละ เพื่อให้ครบขั้นตอน … อย่าเคลิ้มตามล่ะ
ข้ออ้างว่า “…เพื่อแก้ไขปัญหาและลดภาระค่าธรรมเนียมที่จะเกิดขึ้นจากการกระจายการถือหุ้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การดำรงสถานะของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของบริษัท…” ไร้สาระสิ้นดี เพราะเจตนารมณ์ก็ไม่เคยคิดกระจายหุ้นแต่แรกอยู่แล้ว
ว่าไปแล้ว ก็เป็นสไตล์ “เสี่ยเจริญ” (ที่ห้ามเลียนแบบในทุกกรณี) อีกเช่นกัน ที่การถือครองหุ้นจนจำนวนหุ้นส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่องหรือฟรีโฟลตต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นเรื่องที่ “รู้กันอยู่” มานานแล้ว และจะเป็นต่อไป แก้ไม่หาย สอนไม่เชื่อ (หุย…ฮาาาาา)
ถ้าข้ออ้างถอน BIGC มีเหตุผล หุ้นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในมือเสี่ยเจริญทั้งหลาย … ก็คงต้องถอนไปจนหมดน่ะแหละ (กิ้วววๆๆๆๆ)
มาว่าถึงกรณี BIGC ต่อ….. แรกเริ่มเดิมที เกิดจากความคิดของกลุ่มค้าปลีกในเครือเซ็นทรัลเพื่อรับมือกระแสค้าปลีกแบบโมเดิร์นเทรด ที่มาแรงในชาติทุนนิยมทั่วโลก เมื่อ พ.ศ.2536 โดยชื่อเริ่มแรกคือ บริษัท เซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ จำกัด และทำการเปิดสาขาแรกบนถนนแจ้งวัฒนะ ในปี พ.ศ.2537 ก่อนมาเปลี่ยนชื่อเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในปี พ.ศ.2538
วิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ.2540 บีบคั้นให้กลุ่มเซ็นทรัลจำต้องขายหุ้นส่วนใหญ่ในมือให้กลุ่มค้าปลีกของฝรั่งเศส บริษัท Casino Guichard-Perrachon ผู้ประกอบการค้าปลีกอันดับสองของฝรั่งเศส ได้มาเพิ่มทุน และกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปี พ.ศ.2542 ในนามของ Géant International B.V. ที่เป็นบริษัทย่อยของกลุ่ม
BIGC มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งเมื่อ คู่แข่งค้าปลีกอย่างกลุ่มคาร์ฟูร์ของฝรั่งเศสเช่นกัน ประกาศขายทิ้งกิจการค้าปลีกในไทยทั้งหมด เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2553 โดยทำการประมูลแข่งขันกัน แต่กลุ่มคาสิโน ได้ชนะการประมูลกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทย ด้วยราคาซื้อขาย 686 ล้านยูโร ส่งผลให้สาขาของบิ๊กซีเพิ่มเป็น 105 สาขา จาก 60 สาขา ในขณะนั้น คิดเป็นมูลค่า 35,500 ล้านบาท
ต้น พ.ศ.2554 เกิดการควบรวมห้างคาร์ฟูร์ทุกสาขาให้กลายเป็น บิ๊กซีทั้งหมด โดยมีการเปลี่ยนรูปแบบห้างร้านอย่างหลากรูปแบบ มีตั้งแต่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (ที่เรารู้จักกันดี สาขาดอนจั่น), บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า (ที่มาแทนห้างคาร์ฟูร์), บิ๊กซี มาร์เก็ต (ตลาดสด) และบิ๊กซี จัมโบ้….. ในนามแบรนด์ใหม่ บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า
ผลพวงตามมา ทำให้ยอดรายได้จากการขายของ BIGC ก้าวกระโดดแซงหน้ารายใหญ่ของไทยอย่าง เทสโก้ โลตัสในเวลาต่อมา ก่อนจะเกิดพลิกผันอีกครั้ง
Géant International B.V. จำต้องขายทิ้งกิจการในหลายประเทศ เปิดทางให้มีการแข่งขันการเข้าซื้อกิจการของ BIGC ในไทยด้วย จากกลุ่มคาสิโนของฝรั่งเศส
กลุ่มเสี่ยเจริญอาศัย BJC ทำการทุ่มเงินมากกว่า 2.39 แสนล้านบาท (โดยมาจากการกู้เงิน 158,415 ล้านบาท) เพื่อเข้าซื้อกิจการ และทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ จากผู้ถือหุ้นเดิม 81,313 ล้านบาท สัดส่วน 39.39% ทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้น BIGC ปัจจุบันอยู่ที่ 97.94% โดยไม่ได้ถอนตัวออกจากตลาด
ผลจากการก่อหนี้ ทำให้ BJC ต้องเพิ่มทุนมหาศาลตามไปด้วยถึง 8.4 หมื่นล้านบาท กลายเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์มากกว่า 2.77 แสนล้านบาทในปัจจุบัน
การได้ BIGC มาใต้ร่ม ทำให้ BJC ได้ประโยชน์เต็มที่ ส่งผลให้รายได้และกำไรปี 2560 ก้าวกระโดด โดยคาดหมายว่า จะมีกำไรสุทธิจาการดำเนินงานปกติเติบโตมากถึง 86% จากการรวมธุรกิจของ BIGC เป็นเวลาเต็มปี ดอกเบี้ยจ่ายลดลง และได้ Synergy จากการรวมธุรกิจ
การถอน BIGC ที่กลายเป็น “ไข่ในหิน” ของ BJC จึงเข้าใจได้ และไม่น่าเสียดายอะไร…ไปได้ก็ดี และน่าจะไปตั้งนานแล้ว
ถึงอย่างไรก็ยังมีหุ้น BJC ให้เทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯแทนอยู่แล้วในฐานะบริษัทแม่ รับรู้กำไรจาก BIGC เกือบเต็ม อยู่แล้ว
รักจะเล่นหุ้นเสี่ยเจริญ… ต้องทำใจอย่างนี้
อิ อิ อิ