หุ้น TOA ดีหรือเปล่า..?
บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) หรือ TOA มีกำหนดจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯวันที่ 10 ตุลาคมนี้
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) หรือ TOA มีกำหนดจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯวันที่ 10 ตุลาคมนี้
ราคาจองซื้อหรือไอพีโอ คือ 24 บาทต่อหุ้น
มีที่ปรึกษาทางการเงินคือ บล.บัวหลวง และบล.กสิกรไทย
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้ว่าจริงๆ แล้วดีไหม
แต่เข้าใจว่าที่มาของคำถามนี้ น่าจะมาจากราคาหุ้นที่กำหนดไว้ 24 บาท ในมุมมองของรายย่อย (ที่นิยมหุ้นเก็งกำไร) อาจดูค่อนข้างสูง
เพราะชอบเล่นหุ้นไอพีโอช่วงราคา 1-10 บาท
ราคาวิ่งจี๊ดจ๊าด สนั่นทุ่ง ลุ้นสนุกดี
แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ทีโอเอเป็นหุ้นขนาดใหญ่ และมีการระดมเงินทุนกว่า 1 .21 หมื่นล้านบาท
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปกว่า 4.86 หมื่นล้านบาท
ถือเป็นหุ้นบิ๊กแคป หรือใหญ่สุดของปีนี้เลย (มากกว่าบีกริมฯ เล็กน้อย)
ราคาหุ้นที่กำหนดออกมาแบบนี้จึงเป็นเรื่องปกติ
ราคาหุ้น ณ ไอพีโอ มีระดับพี/อี อยู่ที่ 24.4 เท่า
ถือว่าไม่มากนัก มีส่วนลดบ้างนิดหน่อย
ราคาหุ้นไม่ได้ถูกกำหนดแบบเต็มมูลค่า (Full Value) เพราะเงินที่ได้จากการลงทุนจะนำไปขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ไม่ได้มีการนำเงินไปชำระหนี้
ว่ากันว่ารูปแบบของการวางราคาไอพีโอ และการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทีโอเอ จะคล้ายๆ กับหุ้น CBG หรือคาราวบาวกรุ๊ป
หุ้นลักษณะแบบนี้นักลงทุนสาย VI จะชอบ
ยิ่งเป็นพวกกองทุนต่างๆ และบริษัทที่เน้นลงทุนระยะยาว อย่างบริษัทประกันชีวิตก็จะชอบเข้ามาลงทุนหุ้นประเภทนี้เช่นกัน
จะเห็นจาก บล.บัวหลวงเข้าทำสัญญาลงทุนในหุ้น (Cornerstone Placing Agreement) จำนวนรวม 175 ล้านหุ้น กับนักลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ (Cornerstone Investors) จำนวน 7 ราย
ประกอบด้วย 1.บลจ.กสิกรไทย, 2.บลจ.บัวหลวง, 3.AIA Company Limited, Thailand Branch, 4.บลจ.ไทยพาณิชย์, 5.บลจ.อเบอร์ดีน, 6.Gaoling Fund, L.P. กองทุนที่ Hillhouse Capital Management Ltd. มีอำนาจในการจัดการลงทุน
และ 7.YHG Investment, L.P. กองทุนที่ Hillhouse Capital Management Ltd. มีอำนาจในการจัดการลงทุนเช่นกัน
ในตลาดหุ้นของไทยยังไม่มีหุ้นที่ทำธุรกิจแบบทีโอเอเข้ามาจดทะเบียน
จึงมีการเทียบระดับพี/อี ค่อนข้างยาก
แต่ก็ยังพอเทียบ พี/อี ที่เป็นค่าเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจคล้ายกันอยู่ที่ 32.48 เท่า
ส่วนพี/อี ของหมวดวัสดุก่อสร้างใน SET อยู่ที่ 13.45 เท่า
ประเด็นที่น่าสนใจของหุ้นทีโอเอคือ แทบไม่มีหนี้สินเลย
หนี้ที่มีอยู่มีเพียงก้อนเดียว เป็นเพียงหนี้ระยะสั้น และเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าก็จะหมดไป และกลายเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้ติดตัว
ในด้านผลประกอบการพบว่า ปี 2558 มีรายได้ 1.70 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2.11 พันล้านบาท
พอปี 2559 รายได้ปรับลงมาเหลือ 1.65 หมื่นล้านบาท
ทว่า กำไรสุทธิกลับเพิ่มขึ้นเป็น 2.50 พันล้านบาท
เท่าที่ดูในงบการเงิน กำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนด้านวัตถุดิบลดลง
ส่วนกำไรของ 6 เดือนแรกปีนี้มีรายได้ 7.76 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 894 ล้านบาท
ทีโอเอมีส่วนแบ่งตลาดสีในประเทศไทยประมาณ 48-49%
และในกลุ่มประเทศอาเซียนมีส่วนแบ่งตลาด 13-14%
แผนงานของทีโอเอพยายามเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศให้มากขึ้น ด้วยการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปเปิดโรงงานเพิ่มในต่างประเทศ
เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา และกัมพูชา
ขณะที่ตลาดเวียดนาม ก็มีอัตราการเติบโตที่ดีมาก
นักลงทุนรายย่อยอาจมองว่า หุ้น ทีโอเอ ที่ระดมทุนกว่า 1.21 หมื่นล้านบาท อาจค่อนข้างหนักมาก
แต่หากไปดูหุ้นบีกริมฯ ก็มีมูลค่าระดมทุนที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก
วันแรกที่เข้าเทรดราคาอาจขยับลำบาก
แต่พอผ่านไปไม่กี่วัน ราคาทำแรลลี่เลย
หุ้นพื้นฐานดี ไม่มีอะไรต้องไปกลัว