ยุคภาษีอาริย์
“กูไปสั่งมันตอนไหนวะ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งข้อความหา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นการยืนยันชัดๆ ด้วยภาษาแบบประยุทธ์ๆ ว่าจะไม่เก็บ “ภาษีน้ำ” เกษตรกรเด็ดขาด
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
“กูไปสั่งมันตอนไหนวะ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งข้อความหา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นการยืนยันชัดๆ ด้วยภาษาแบบประยุทธ์ๆ ว่าจะไม่เก็บ “ภาษีน้ำ” เกษตรกรเด็ดขาด
ผมก็แปลกใจตั้งแต่แรก รัฐบาลไหนวะ จะกล้าเก็บค่าน้ำเกษตรกร ต่อให้รัฐบาลทหารก็เหอะ ศาลเพิ่งพิพากษาจำนำข้าว ยังจะเก็บค่าน้ำชาวนา กล้าทำขนาดนั้นเรอะ พออ่านข่าวโดยละเอียดก็ร้องอ๋อ ที่แท้ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ซึ่งพยายามร่างมาหลายปี มีการจำแนกผู้ใช้น้ำเป็นประเภทต่างๆ ว่าใครควรเสีย “ภาษี” (ที่จริงเรียกว่าค่าธรรมเนียม) ก็ถูกต้องแล้ว
แต่ที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ก็เพราะส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวไม่เคลียร์ ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลมาก่อน ก็ตกอกตกใจ ทำให้รัฐบาลโดนด่าฟรี
ทำไมชาวบ้านตกใจง่าย ก็เพราะยุคนี้สมัยนี้ ประชาชนไทยอยู่ในความหวาดผวา กลัวรัฐบาลจะขึ้นภาษีหรือออกไอเดียใหม่ๆ มาเก็บภาษีโน่นนี่อีก
ไม่กี่วันมานี้ รัฐบาลก็ขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่ ซึ่งบอกว่าปฏิรูปใหม่ ภาษีความหวานก็ของใหม่ ภาษีที่ดินก็อยู่ใน สนช. แถมยังมีข่าวจะไล่บี้เก็บภาษีสารพัด ขนาดติดโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคาตัวเอง ยังจะโดน “ภาษีแดด” แปลว่าต่อไปนี้ แดด ฝน ลมฟ้าอากาศ ไม่ใช่ของฟรี เป็นของรัฐ ใครจะใช้ต้องจ่ายภาษีให้ราชการ
ฉะนั้นพอมีข่าว “ภาษีน้ำ” คนก็เชื่อว่าใช่เลย (แถมยังแซวว่าต่อไปคงเก็บภาษีหายใจ ซึ่งไม่แน่นะ อาจมีการเก็บภาษีมลภาวะทางอากาศ)
เพราะประชาชนก็รู้นี่ครับ ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบมหาศาล ลงทุนสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถถัง เรือดำน้ำ ขณะเดียวกันก็ต้องใช้งบประชารัฐ บัตรคนจน จำนำยุ้งฉาง ขนาดพยายามรัดเข็มขัด แจกเหรียญเจ้าคุณธงชัยให้ผู้สูงอายุที่เสียสละ
นั่นละ พอท่านผู้นำเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละ จ่าย VAT เพิ่มเป็น 8% คนก็สะดุ้งทั้งประเทศ เป็นโรคผวาภาษีอานกันไปหมด
อันที่จริงก็เข้าใจนะว่า รัฐบาลคิดจะปฏิรูประบบภาษี ให้เป็น “ภาษีอารยะ” ทั่วถึงเป็นธรรมลดเหลื่อมล้ำ แล้วก็คิดว่าจะต้องทำให้สำเร็จในยุคนี้ ที่เป็นเผด็จการ ถ้ารอสภาเลือกตั้งกลัวจะผ่านยากเย็นแสนเข็ญ
แต่ปัญหาก็มีอีกด้าน คือพอเป็นระบอบนี้มันก็กลายเป็นการออกกฎหมายรวบรัดโดยรัฐราชการ ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ไม่รู้ไม่เห็น อย่างร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ถ้าซาวเสียงทำประชาพิจารณ์ให้คนเข้าใจแต่แรก ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่นี่คงจำกันได้ เมื่อ 2-3 เดือนก่อนมีข่าวว่าในการรับฟังความคิดเห็นทางเน็ต ก็มีคำสั่งให้ข้าราชการไปช่วยกันโหวตเห็นด้วย
หาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการจาก NGO ยังบอกว่า พ.ร.บ.นี้ร่างกันนานแล้ว สปช.ก็ร่าง สปท.ก็ร่าง ระดมความเห็นไว้มากมาย แต่พอส่งเข้า ครม. กลับใช้ร่างเดิมของกระทรวงตั้งแต่ปี 2556 จนผ่าน สนช.วาระแรก ค่อยเรียกอดีต สปช.สปท.เข้าไปช่วยแก้ไข
การออกกฎหมาย การจัดระบบ การปฏิรูปภาษี ในสภาพที่ประชาชนพูดได้ไม่เต็มที่ ไม่มีส่วนร่วม มีแต่คนบางส่วน โดยเฉพาะรัฐราชการเสียงดังฟังชัด มันอาจกลายเป็นปัญหา ประชาชนไม่ยอมรับ แต่ถูกบังคับ
ข้อสำคัญถ้าระบบการเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ นำเงินเข้ารัฐแล้วใช้งบประมาณคุ้มค่า ลงทุนสาธารณูปโภคจริงจัง ก็ไม่มีใครว่าหรอก แต่งบประมาณปัจจุบันกลับทุ่มเทไปที่ความมั่นคง ไปที่ความใหญ่โตของระบบราชการ นี่สิจะเป็นปัญหา ที่ทำให้คนไม่อยากเสียภาษี