พาราสาวะถี

แบไต๋หงายไพ่มาให้เห็นกันเป็นระยะ จากที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนยันคำพูด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปีหน้าไม่ได้หมายความว่าจะเลือกตั้งในปี 2561 นั่นเป็นความชัดเจนระดับหนึ่ง และก็ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำลังดำเนินการกันอยู่นั้น เป็นลูกล่อลูกชนที่เข้าข่ายวิชาศรีธนญชัย


อรชุน

แบไต๋หงายไพ่มาให้เห็นกันเป็นระยะ จากที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนยันคำพูด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปีหน้าไม่ได้หมายความว่าจะเลือกตั้งในปี 2561 นั่นเป็นความชัดเจนระดับหนึ่ง และก็ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำลังดำเนินการกันอยู่นั้น เป็นลูกล่อลูกชนที่เข้าข่ายวิชาศรีธนญชัย

เพราะการไม่ได้กำหนดให้ชัดว่าจะเลือกตั้งวันที่เท่าไหร่ เดือนไหนในปี 2561 ย่อมไม่เป็นการผูกมัดตัวเอง และจะได้ไม่มีใครมาก่อหวอดลุกฮือหากเมื่อถึงเวลาแล้วไม่ได้ทำตามสัญญา ซึ่งความจริงหากหลายคนคิดกันได้และเข้าใจบริบทของคณะผู้มีอำนาจอย่างถ่องแท้ ก็จะสัมผัสได้แล้วนับตั้งแต่เพลงที่บอกว่าเราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน นี่ผ่านมากว่า 3 ปีแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะลุกจากอำนาจเมื่อใด

ล่าสุด ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดมากเข้าไปอีก เมื่อบิ๊กตู่บอกกับคนไทยในสหรัฐอเมริกาว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 จากนั้นจะมีเวลานำขึ้นทูลเกล้าฯ อีก 90 วัน และต้องดูด้วยว่ากฎหมายดังกล่าวให้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อใด และต้องใช้เวลาอีก 150 วัน ให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมเปิดรับสมัคร ก่อนจะมีการเลือกตั้งจริงซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการจัดการเลือกตั้ง

เมื่อคำนวณเวลาตามที่ท่านผู้นำว่าไว้ ยังไงเสียการเลือกตั้งย่อมไม่เกิดขึ้นภายในปีหน้าอย่างแน่นอน และที่ทำให้สงสัยกันหนักเข้าไปอีก ทำไมกระบวนการร่างกฎหมายลูกที่กรธ.จะส่งร่างฉบับสุดท้ายไม่เกินวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ต้องลากยาวกันไปถึงเดือนพฤศจิกายนเชียวหรือ ทั้งๆที่หากคำนวณตามเวลาที่ร่างกฎหมายจะอยู่ในมือของสนช. เต็มที่ก็น่าจะพิจารณากันให้เสร็จไม่เกินเดือนกรกฎาคมปีหน้า

นั่นหมายความว่า มันจะมีปัญหาในเรื่องของกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งจนเกิดการคว่ำแล้วก็ร่างกันใหม่ แล้วก็ให้ทุกอย่างไปชนตามเงื่อนเวลาที่ท่านผู้นำประกาศไว้ใช้หรือไม่ แม้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามโดยอ้างไม่สามารถตอบในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นได้ แต่แนวโน้มหากยึดเอาคำเตือนของ วิษณุ เครืองาม ที่กลายเป็นวาจาสิทธิ์ไปแล้วว่า ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ ยิ่งทำให้เห็นอะไรๆ ชัดมากขึ้น

พอเข้าอีหรอบนี้ ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงความเห็นของ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ถ่ายทอดผ่านข้อเขียนที่ชื่อว่า “อย่าฝันหวานไปนัก” แล้วภาพต่างๆ ก็ผุดตามมาทันที โดยเดอะอ๋อยระบุว่า การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ กับการทำให้คนในคสช.ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกหลังการเลือกตั้ง คือเรื่องเดียวกัน

จากนี้ไป โจทย์ใหญ่ของคสช. คือการใช้เวลาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทำให้แน่ใจว่า พรรคการเมืองทั้งหลายโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นั่นก็หมายความว่า ยังจะเกิดอะไรต่อมิอะไรขึ้นอีกมาก ทั้งการออกกฎหมายลูก เตรียมองค์กรตามรัฐธรรมนูญและการจัดการกับพรรคการเมืองและนักการเมือง

ทั้งการกระทำต่อชื่อเสียง คะแนนนิยม องค์กรและบุคลากร รวมทั้งการสร้างฐานการเมืองสนับสนุนผู้นำ คสช.ให้กว้างและเข้มแข็งมากขึ้น ตนเป็นคนหนึ่งที่คิดว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า คนนอกมีโอกาสเป็นนายกฯ มากกว่าส.ส.จากพรรคการเมืองมาก แต่ฟังความเห็นนักการเมืองกับคอการเมือง รวมถึงประชาชนที่ได้คุยกันมาบ้างก็รู้สึกว่า หากคนนอกได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ใช่จะบริหารงานได้ราบรื่นง่ายดาย รัฐบาลอาจจะไม่มีเสถียรภาพเอาเสียเลยด้วยซ้ำ สถานการณ์น่าจะต่างจากสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบเมื่อ 30 กว่าปีก่อนอย่างมาก

เมื่อก่อนนี้ พรรคการเมืองในสภามีหลายพรรค พรรคที่ใหญ่ที่สุดมีส.ส.อย่างมากก็ประมาณหนึ่งในสามของส.ส.ทั้งหมด แต่ในระยะหลังพรรคการเมืองมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก ถึงแม้ระบบเลือกตั้งจะหาทางป้องกันไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก แต่ก็คงไม่เกิดสภาพเบี้ยหัวแตกอย่างในอดีตอีกแล้ว ดังนั้น หากพรรคการเมืองใหญ่แค่พรรคเดียวไม่ร่วมรัฐบาล รัฐบาลก็ใช่จะอยู่ได้แบบสบายเหมือนในอดีต

การต่อรองในรัฐบาลก็จะดุเดือดเข้มข้น พลาดนิดเดียวรัฐบาลก็ล้มได้เหมือนกัน ยิ่งรัฐบาลนายกฯ คนนอกต้องคอยเอาใจส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงและพรรคการเมืองต่างๆ โดยไม่ต้องคอยตอบสนองความต้องการของประชาชน ความมั่นคงทางการเมืองก็จะยิ่งน้อย นอกจากนั้น ในปัจจุบันดูจะไม่ง่ายนักที่พรรคการเมืองต่างๆ จะไปสนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯ โดยไม่ฟังเสียงประชาชน

กลายเป็นว่า ถ้าพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ถูกกำกับด้วยยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปจนทำอะไรไม่ได้ และคงอยู่ได้ไม่นานก็จะถูกกลไกในรัฐธรรมนูญจัดการให้พ้นหน้าที่ไป ถ้าเป็นรัฐบาลนายกฯ คนนอกก็จะเจอปัญหาอีกแบบ คือต้องเจอกับการต่อรองในฝ่ายรัฐบาลและยังขาดทั้งเสถียรภาพในสภาและขาดความชอบธรรมทางการเมืองอีกด้วย

เรามาถึงจุดนี้ก็เพราะคสช.ต้องการระบบที่ตนเองสืบทอดอำนาจได้แน่ๆเต็มๆ แต่พอร่างรัฐธรรมนูญกันออกมาแล้วกลับครึ่งๆกลางๆ ไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังที่ตั้งใจ เรื่องก็เลยจะไม่ง่ายอย่างที่วางแผนเอาไว้ คงมีความพยายามทำอะไรอีกมากเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้แต่ต้น ถ้าทำจนแน่ใจว่าเป็นไปตามแผนได้เร็ว การเลือกตั้งก็อาจไม่ล่าช้านัก แต่ถ้าทำอย่างไรก็ยังไม่อาจแน่ใจเสียทีว่า คนนอกจะได้เป็นรัฐบาลและบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น เราอาจเห็นการเลือกตั้งเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ก็ได้

ถึงอย่างไร โรดแมปก็เป็นแบบปลายเปิดอยู่แล้ว เคยบอกว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่แบบชัดๆ ลงไปเสียเมื่อไหร่ แต่ก็อยากจะเตือนเสียหน่อยว่า ใครก็ตามที่คิดจะมาเป็นนายกฯ คนนอก โดยคิดว่าอะไรๆ จะง่ายไปเสียหมดเหมือนตอนมีมาตรา 44 อยู่ในมือนั้น อย่าได้ฝันหวานไปเลย ที่น่าเป็นห่วงคือ จากระบบที่เขาออกแบบกันไว้นี้ หลังการเลือกตั้งประเทศก็ยังไม่มีเสถียรภาพและความเชื่อมั่นจากนานาประเทศก็อาจไม่เกิดขึ้น เพราะเขาก็รู้อย่างที่เรารู้เหมือนกัน

เป็นการอ่านการเมืองของฝ่ายรัฐประหารในมุมมองคนประชาธิปไตยน่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพราะท่าทีที่กำลังเป็นอยู่เวลานี้ มันสะท้อนภาพของการเลื่อนไหลได้ตลอดเวลา นั่นเพราะเพื่อให้เกิดความแน่ใจในกระบวนการเพื่อก้าวสู่อำนาจที่ฝ่ายผู้ครอบครองคิดว่าวางแผนไว้อย่างแยบยลแล้ว ก็อย่างที่จาตุรนต์ว่า ปฏิกิริยาของคนในประเทศนั่นก็น่าคิดประการหนึ่งว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเกิดการบิดพลิ้ว แต่สายตาและท่าทีของนานาประเทศที่จับจ้องมายังประเทศไทยอย่างมีเงื่อนไขต่างหาก ที่น่ากลัวกว่าที่คิด

Back to top button