ทำไมต้อง TFF

การตัดสินคดีจำนำข้าว ศาลฯแยกเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก นโยบายจำนำข้าวไม่ผิด ศาลไม่ก้าวล่วงไปตัดสินเรื่องทางนโยบายของฝ่ายบริหาร แม้จะมีข้อผิดพลาดในการควบคุมบ้าง แต่ฝ่ายบริหารก็ได้มีการแก้ปัญหามาเป็นระยะๆ


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

การตัดสินคดีจำนำข้าว ศาลฯแยกเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก นโยบายจำนำข้าวไม่ผิด ศาลไม่ก้าวล่วงไปตัดสินเรื่องทางนโยบายของฝ่ายบริหาร แม้จะมีข้อผิดพลาดในการควบคุมบ้าง แต่ฝ่ายบริหารก็ได้มีการแก้ปัญหามาเป็นระยะๆ

ส่วนประเด็นที่ 2 ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมการทุจริตในคดีจีทูจีระบายข้าว ศาลฯตัดสินมีความผิด จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา

ประเด็นแรก คำตัดสินเรื่องนโยบาย ถือเป็นประเด็นหลักที่ป.ป.ช.ชุดเก่า ชุด วิชา มหาคุณ ฟ้องร้องเลยทีเดียว ถ้าไม่มีประเด็นที่ 2 ระบายข้าวจีทูจี งอกขึ้นมาภายหลัง .ส.ยิ่งลักษณ์ก็น่าจะพ้นผิด เพราะศาลฯตัดสินว่านโยบายจำนำข้าวไม่ผิด

ส่วนประเด็นระบายข้าวจีทูจี งอกมาภายหลังได้อย่างไร ก็ยังเป็นที่สงสัย เนื่องจากเป็น ประเด็นเพิ่ม” เข้ามาภายหลัง ขณะดำเนินการพิจารณาคดีไปแล้ว และก็เลยกำหนดหมายนำส่งบัญชีพยานไปแล้ว

อุปมาอุปมยก็เหมือนกับฟ้องนางปูว่าฆ่าแมว แต่ขณะไต่สวนความไป ก็มีการฟ้องเพิ่มว่าฆ่าหมาไปด้วย นางปูไม่ผิดคดีฆ่าแมว แต่ผิดคดีฆ่าหมา ซึ่งเป็นประเด็นเพิ่มเติมภายหลัง

ก็คงจะมีความกระจ่างเกิดขึ้นในอนาคตอันไม่ไกลนี้!

เรื่องที่ต้องการคำอธิบายอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การที่รัฐจะจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Infrastructure Fund (TFF) ว่า ทำไม…

ทำไมต้องตั้งกองทุน TFF ระดมทุนแทนการกู้เงินในช่องทางพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐบาลค้ำประกัน และต้นทุนทางการเงินก็ถูกกว่ากันมาก

นี่คือโจทย์ข้อใหญ่ที่สุด ซึ่งกระทรวงการคลังและรัฐบาล ต้องตอบข้อคาใจสาธารณชนให้ได้ และก็เป็นประเด็นที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกทพ.ฟ้องร้องไปยังศาลปกครองให้เพิกถอนมติครม.ในการจัดตั้งกองทุน TFF

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลชุด 5 ปีในปัจจุบัน ก็ยังอยู่แค่ 1.81% เท่านั้น แต่หากใช้บริการกองทุน TFF ผลตอบแทนคงไม่ต่ำกว่า 5-6% เพราะมีตัวเปรียบเทียบ

ตัวเปรียบเทียบสำคัญก็คือ กองทุนวายุภักษ์ ซึ่งประกาศเชิญชวนจะให้ผลตอบแทน 3% แต่ในทางปฏิบัติจริงก็จ่ายกันในระดับ 5-6% มาทุกปี

แต่ถ้าเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของเอกชน เช่น DIF ของทรู, JASIF ของจัสมิน หรือ BTSGIF ของ BTS ก็ต้องให้ผลตอบแทนกันในระดับ 7-9% ทั้งสิ้น สูงกว่าผลตอบแทนกองฯของรัฐบาลเสียอีก

สรุปแล้ว ถ้ารัฐบาลออกเป็นบอนด์ อัตราดอกเบี้ยอย่างเก่ง ยังไงก็ไม่เกิน 3% แต่หากออกเป็นกองทุนอินฟราฯ ฟันด์ อย่างน้อยก็ต้องมี 5-6% นี่ไม่ใช่ภาระต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นเหรอ!

สมมุติรัฐวิสาหกิจต้องการลงทุนโครงการมูลค่า 10,000 ล้านบาท หากออกเป็นพันธบัตรหรือบอนด์ ก็จ่ายดอกเบี้ยแค่ปีละ 300 ล้านบาทเท่านั้น แต่หากออกเป็นกองทุน TFF ก็ต้องจ่ายสูงเป็น 500-600 ล้านบาท

คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดเห็นจะเป็นธนาคารพาณิชย์ และนักลงทุนสถาบันเช่นกองทุนประกันชีวิตฯลฯเท่านั้น รายย่อยไม่ได้ประโยชน์สักเท่าไหร่หรอก เพราะเงินน้อยและอำนาจจองซื้อก็ต่ำ

รัฐบาลก็คงจะเดินหน้าจริงจังกับแผนการจัดตั้งกองทุน TFF แน่นอนแล้ว เพราะจะมีการเอาโครงการทางด่วนฉลองรัชและบูรพาวิถี ซึ่งมีรายได้แล้วไปเข้ากองทุนฯ เพื่อนำไปก่อสร้างทางด่วนสายดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ

มูลค่าการระดมทุนรวม 4.47 หมื่นล้านบาท

ที่สหภาพฯกทพ.เขาโวยก็เพราะแทนที่จะจ่ายดอกเบี้ย 2.5-3.0% แค่ปีละ 1.1-1.3 พันล้านเท่านั้น กลับต้องจ่ายเป็นผลตอบแทนหน่วยลงทุนสูงถึง 2.2-2.6 พันล้านบาท/ปี

ผลประโยชน์ชาติก็เสีย และผลประโยชน์พนักงานการทางพิเศษฯก็เสียในเรื่องของเงินเดือนและโบนัส

ผมว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่า คุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการสคร. คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจะคิดไม่ออก หรือกดเครื่องคิดเลขไม่เป็น

ทีแรก ผมก็คิดว่ารัฐบาลพูดเอาเท่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า มีวิธีระดมทุนได้อย่างหลากหลาย ไม่ติดขัดเรื่องเงินที่จะทำเมกะโปรเจกต์แน่

แต่นานวันเข้า รู้สึกจะเดินหน้ากองทุนฯไม่ถอยแฮะ แถมละเว้นจะเปิดเผยต้นทุนการเงินอันแสนแพงซะด้วย

เจตนาจริง คงต้องการเลี่ยงบันทึกเงินก้อนโตเป็น “หนี้สาธารณะ” จึงขอท้วงติงว่า คิดให้ดี

Back to top button