รัฐวิสาหกิจกับบรรษัทภิบาล (3) : OECD Guidelines 2015 (2)
OECD Guidelines on Corporate Governance of State-Owned Enterprises (2015 EDITION) กำหนดหลักการบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจไว้ 7 ประการ ดังนี้
CAP & CORP FORUM
รัฐวิสาหกิจกับบรรษัทภิบาล (3) : OECD Guidelines 2015 (2)
OECD Guidelines on Corporate Governance of State-Owned Enterprises (2015 EDITION) กำหนดหลักการบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจไว้ 7 ประการ ดังนี้
(1) เหตุผลในความเป็นเจ้าของโดยรัฐ
รัฐทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น รัฐจึงควรประเมินและเปิดเผยวัตถุประสงค์ที่เหมาะสมกับความเป็นเจ้าของโดยรัฐอย่างรอบคอบ และนำเสนอการทบทวนถึงความจำเป็นดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
(2) บทบาทของรัฐในฐานะเจ้าของรัฐวิสาหกิจ
รัฐควรทำหน้าที่เจ้าของที่รับทราบข้อมูลการดำเนินงานและมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของ เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐวิสาหกิจมีบรรษัทภิบาลที่ดี มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีความรับผิดชอบ โดยมีการบริหารงานอย่างมืออาชีพและมีประสิทธิผล
(3) รัฐวิสาหกิจในระบบกลไกตลาด
เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุผลในการเป็นเจ้าของโดยรัฐ กรอบนโยบายด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับสำหรับรัฐวิสาหกิจควรสร้างความเท่าเทียมและการแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรมเมื่อรัฐวิสาหกิจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแข่งขันกับเอกชน
(4) การปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุนอื่น ๆ
ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจดทะเบียนซึ่งประกอบด้วยนักลงทุนอื่น ๆ ที่มิใช่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐ รัฐและบริษัทรัฐวิสาหกิจควรตระหนักถึงสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกรายและต้องให้สิทธิผู้ถือหุ้นทุกรายในการเข้าถึงข้อมูลของบริษัทรัฐวิสาหกิจอย่างเท่าเทียมกัน
(5) ความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียและความรับผิดชอบต่อการดำเนินการทางธุรกิจ
นโยบายความเป็นเจ้าของโดยรัฐควรตระหนักถึงความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่และรัฐวิสาหกิจควรรายงานความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ และควรมีความชัดเจนว่ารัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบโดยรัฐวิสาหกิจอย่างไร
(6) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
รัฐวิสาหกิจควรปฏิบัติตามมาตรฐานความโปร่งใสขั้นสูงสุด และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีการเปิดเผยข้อมูล อีกทั้งปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานการสอบบัญชีที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียน
(7) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจควรมีอำนาจหน้าที่ที่จำเป็นเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์และติดตามผลการปฏิบัติการของรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการต้องกระทำการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบต่อการกระทำของตน
2015 Guidelines เป็นการปรับปรุงจาก 2005 Guidelines โดยได้เพิ่มเติมแก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นพลวัตและบทบาทของรัฐวิสาหกิจในระบบเศรษฐกิจ มากขึ้น ด้วยการเพิ่มเติมประเด็นสำคัญ 2 ส่วน กล่าวคือ ข้อ (1) ว่าด้วยความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้าไปเป็นเจ้าของวิสาหกิจ และข้อ (3) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจในระบบกลไกตลาด
ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีหน้าที่ในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงเจ้าสังกัดและในบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (บรรษัท)
ร่างมาตรา 34 กำหนดให้ คนร.ประกาศแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงเจ้าสังกัด เพื่อให้รัฐวิสาหกิจดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบโปร่งใส และบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง โดยประกาศดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้รัฐวิสาหกิจ กรรมการ ผู้บริหาร และบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต โดยปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับและแนวปฏิบัติที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจนั้น
ส่วนร่างมาตรา 48 กำหนดให้บรรษัทประกาศกำหนดแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในบรรษัท เพื่อให้บรรษัทดำเนินการด้วยความรับผิดชอบ โปร่งใส และบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบรรษัทตามหลักเกณฑ์ที่ คนร. กำหนด และร่างมาตรา 58 กำหนดให้กรรมการของบรรษัทปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต เช่นเดียวกับกรรมการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
จากข้อมูลข้างต้น เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เปรียบเทียบ 2015 Guidelines จะพบว่ามีหลายส่วนที่ร่าง พ.ร.บ. ไม่ได้กล่าวถึงและอาจมีนัยสำคัญต่อการบริหารจัดการและบรรษัทภิบาล โดยเฉพาะหลักการตามข้อ (1)–(5) ของ 2015 Guidelines ที่แทบไม่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเลย.
ศุภวัชร์ มาลานนท์