เหยียบเรือ(โคลง)สองแคม

การเดินทางเยือนทำเนียบขาวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และการเสด็จเยือนรัสเซียครั้งแรกของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย แตกต่างและให้ผลสะเทือนต่อโลกอย่างไร


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

การเดินทางเยือนทำเนียบขาวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และการเสด็จเยือนรัสเซียครั้งแรกของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย แตกต่างและให้ผลสะเทือนต่อโลกอย่างไร

คำตอบต้องอยู่ที่รายละเอียด

ความคล้ายคลึงกันของการเยือนของผู้นำทั้งสอง อยู่ที่เป็นการเดินเกมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบ “เหยียบเรือสองแคม” ซึ่งเป็นเกมของนโยบายต่างประเทศของชาติทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคหลังสงครามเย็น

เกมเหยียบเรือสองแคม เป็นนโยบายต่างประเทศที่ไม่เน้นเอาอุดมการณ์ที่รัฐตนเองถือเป็นหลักเสาเอกเป็นตัวตั้งการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันกับชาติอื่นๆ ภายใต้ข้ออ้าง “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น” ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวเป็นแค่การอำพรางท่าทียึดถือผลประโยชน์ของชาติตนเองให้มีความสำคัญอันดับหนึ่ง

นโยบายต่างประเทศแบบ “ตีนติดดิน” (pragmatism) ที่อยู่คนละขั้วกับ “อุดมคตินิยม” (idealism) ไม่ใช่เรื่องแปลกในยามที่อำนาจของชาติมหาอำนาจเริ่มมีปรากฏการณ์เคลื่อนตัว “ย้ายสลับขั้วอำนาจ” ที่ดำเนินไปและยังไม่รู้ผลชี้ขาดชัดเจน

การจบสิ้นอย่างไม่เป็นทางการของ “ฉันทามติวอชิงตัน” ที่สหรัฐฯเป็นมหาอำนาจเดี่ยวมายาวนานนับแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่สมทบด้วยความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของชาติร่ำรวย G-7 อย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับศักยภาพใหม่ของชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้ง 7 (E-7) นำโดยจีน-อินเดีย-รัสเซีย หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เป็นรากฐานของการปรับเปลี่ยนท่าทีของนโยบายต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

กระบวนการปรับท่าทีมาใช้นโยบายต่างประเทศ “เหยียบเรือสองแคม” จึงไม่ใช่เป็นแค่เรื่องการตอกย้ำว่านโยบายดังกล่าวถูกต้องหรือ “คลาสสิก” แบบนกแก้วนกขุนทอง แต่เป็นความจำเป็นของช่วงเปลี่ยนผ่านของดุลอำนาจในเวทีการเมืองระหว่างประเทศทั่วโลก

จีนในยุคเปิดประเทศเพื่อเร่งการเติบโตในประเทศ เกือบสี่ทศวรรษมาแล้ว แม้ประสบความสำเร็จมาอย่างดีเยี่ยม แต่ก็ยังใช้ไม่ได้ผลทั้งหมดในทุกกรณี เพราะความขัดแย้งกับชาติอาเซียนในกรณีเกาะแก่งในทะเลจีนใต้ที่ยังคาราคาซัง ความสัมพันธ์กับอินเดียก็ยังไม่ดีขึ้น และมีข้อกังขาว่าจีนกำลังเป็นชาติ “จักรวรรดินิยมใหม่” ดังขึ้นเรื่อยๆ (ไม่นับรวมถึงการเปิดเกมรุกเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือชาติรอบๆ ช่องแคบมะละกา ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย)

บทบาทของจีนในตะวันออกกลาง ก็ยังน่าติตดามเพราะ จีนต้องพึ่งพาแหล่งน้ำมันตะวันออกกลางมากเกินกว่า 10% ของความต้องการ และการที่ตะวันออกกลางได้กลายเป็นแหล่งลงทุนและตลาดสินค้าใหญ่ของจีนไปแล้ว  การเล่นบทบาทเหยียบเรือสองแคมในกรณีอิหร่านและซีเรียชัดเจนยิ่ง

ส่วนรัสเซียยุคหลังสหภาพโซเวียต แม้ปัจจุบันจะลดอิทธิพลในยุโรปตะวันออกลงไปมาก แต่กลับมามีบทบาทเชิงรุกในตุรกีและตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นตัวถ่วงดุลอำนาจของโลกที่ชัดเจนในระดับที่ไม่สามารถเมินเฉยได้

การเดินทางเยือนรัสเซียของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบียจึงเปิดโฉมหน้าใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับโลก และตอกย้ำความสำคัญเฉพาะหน้าของนโยบาย “เหยียบเรือสองแคม” ที่ชาติมหาอำนาจขนาดใหญ่ตัดสินใจนำมาใช้

หากเชื่อในข้อสรุปข้างต้น การเดินทางเยือนทำเนียบขาวของพลเอกประยุทธ์ ก็ถือเป็น 1 ในล้านของความพยายามสร้างเกมวิน-วิน ระหว่างผู้นำทั้งสองชาติ โดยที่อเมริกันสามารถเหนี่ยวรั้งให้อิทธิพลเหนือรัฐไทยกลับมาบวกอีกครั้ง โดยมีผลประโยชน์เฉพาะหน้าและระยะกลางติดมือด้วย

ข้อตกลงขายสินค้าบางรายการ (อาจจะรวมถึงอาวุธในระยะต่อไป) ที่ไม่มากนัก ทำให้สร้างภาพว่าทำเนียบขาวบรรลุผลในการลดดุลการค้าที่มีต่อไทยลง และเปิดทางให้กับการประมูลผลประโยชน์ของแหล่งขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยปีหน้าของยักษ์ใหญ่น้ำมันจากสหรัฐฯอย่างเชฟรอนกว้างขึ้น

ส่วนผู้นำไทยนั้น ที่กำลังโหยหาความชอบธรรมทางการเมืองจากเวทีโลก หลังการขึ้นสู่อำนาจโดยการรัฐประหาร ข้ออ้างถึงความสำเร็จสารพัดของการเยือน ที่มีการหนีบธุรกิจยักษ์ใหญ่ 30 รายของไทยร่วมไปด้วยว่า เป็นทั้ง ผู้นำอาเซียนคนที่ 3 และเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยในรอบ 12 ปี ที่เข้าทำเนียบขาวได้ ก็เป็น “วาระ” ที่ต้องช่วงชิงความชอบธรรมทางอำนาจตามปกติ

ประเด็นคำถามสำหรับอนาคต ที่นอกเหนือจากความชอบรรมทางอำนาจที่ (เชื่อว่า) หยั่งรากลึกลงของรัฐบาลปัจจุบัน ว่า รัฐและสังคมไทยจะได้รับประโยชน์อะไรมากขึ้นจากนโยบาย “เหยียบเรือสองแคม” ที่มีบริบทในเวทีโลกต่างจากอดีต ภายใต้วังวนของการเร่งแผ่อิทธิพลและสกัดกั้นการสยายปีกระหว่างกันของสองพี่เบิ้ม อย่างสหรัฐฯและจีน (โดยมีตัวแปรสอดแทรกคือญี่ปุ่น) ยังต้องการคำตอบในอนาคต

เหตุผลเพราะ ยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศที่มหาอำนาจใหญ่ของโลกยามนี้เลือกใช้ นักวิชาการบางคนเรียกว่าเป็น “การปิดล้อมรูปแบบหลวมหลายขั้ว” (multilinear soft balancing) คือการพยายามหาพันธมิตรเพื่อสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจขั้วอื่นๆ โดยไม่มีต่อต้านแบบทื่อๆ หรือใช้มาตรการทางการทูตแบบแข็งกร้าวเหมือนในอดีต เพราะเหตุผลว่า 1) เพราะมหาอำนาจมีหลายขั้ว 2) มหาอำนาจทุกขั้วยังมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่อย่างลับ-ลวง-พราง มีการทูตที่เสมือนปกติ และมีการค้าขายระหว่างกัน แม้กระทบกระทั่งในเรื่องเล็กน้อย

เกมเหยียบเรือสองแคมนี้ หลายคนอ้างและเชื่อกันว่า รัฐไทยถนัดมากเพราะอยู่ใน DNA และ “เข้าทาง” รวมทั้งเคยประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ยุคโบราณ ยุคล่าอาณานิคม และยุคสงครามเย็น โดยพยายามมองข้ามไปว่า การจะเล่นบทดังกล่าวต่อไปในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตได้ ต้องมีปัจจัยสำคัญสนับสนุนที่เอื้อต่อการหาประโยชน์ในระยะยาวด้วย

ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเพิกเฉยได้เลยคือ ภายใต้กรอบ “เหยียบเรือสองแคม” นี้ มหาอำนาจไม่เคยละทิ้งท่าที “ได้มากกว่าเสียเสมอ” อาจจะยอม “เสียระยะสั้น แลกได้ระยะยาว” หรือ “เศษหมูไป ไก่ต้องมาหลายตัว” จากความสัมพันธ์

รายละเอียดในประวัติศาสตร์ยุคโบราณที่รัฐอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยินยอมแลกการได้ประโยชน์ทางการค้ากับราชวงศ์จีนโดยเมินเฉยคำอ้างจีนว่าเป็น “เมืองขึ้นจิ้มก้อง” ของปักกิ่ง หรือการที่ยอม “เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” แลกกับสนธิสัญญาเบาว์ริ่งและอื่นๆ ในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือการยอมเสียดินแดนส่วนของแหลมมลายูให้อังกฤษ แลกกับการเป็น “รัฐกันชน” ป้องกันการคุกคามของฝรั่งเศส สะท้อนให้เห็นว่า การ “เหยียบเรือสองแคม” ไม่ได้มีแต่ด้านบวกอย่างเดียว

ไม่ต้องพูดถึงการ “เหยียบเรือสองแคม” ที่ด้านหนึ่งร่วม “วงศ์ไพบูลย์เอเชียบูรพา” กับญี่ปุ่น (ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง) อีกด้านหนึ่งร่วมกับสัมพันธมิตรสร้าง “ขบวนการเสรีไทย” ขึ้นมา และ ความพยายามละเลย “ตั้งใจลืม” ในการพูดถึงนโยบาย “เลือกขั้วสุดตัว” ที่ผิดพลาดในช่วงสงครามเวียดนาม ที่ทำให้สังคมไทยไม่สามารถถอยหลังกลับไปได้อีก

การยกเอาแนวทาง “เหยียบเรือสองแคม” โดยยกเอาความสำเร็จของการเยือนสหรัฐฯของพลเอกประยุทธ์ ว่าจะสามารถใช้การได้ดีแบบอกาลิโก โดยมองข้ามรายละเอียดของข้อดีและเสียของปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต จึงเป็นการอ้างแบบ “เหมาเข่งของอดีต” ที่หยาบเกินกว่าจะน่าเชื่อถือว่า จะไม่เกิดปัญหา “กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด” อีก

Back to top button