ความชัดเจน กับตลาดหุ้น
คำอธิบายง่ายๆ ของนักวิเคราะห์ในวงการหุ้น บอกว่า การที่ราคาหุ้นถูกแรงดันเข้ามามากจนดัชนีพุ่งแรงตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา หลังจากที่นายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย. 61 และจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 61 เกิดจากความชัดเจนทางการเมือง
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
คำอธิบายง่ายๆ ของนักวิเคราะห์ในวงการหุ้น บอกว่า การที่ราคาหุ้นถูกแรงดันเข้ามามากจนดัชนีพุ่งแรงตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา หลังจากที่นายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย. 61 และจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 61 เกิดจากความชัดเจนทางการเมือง
บางคนไปไกลกว่านั้น บอกว่า ให้ซื้อหุ้นที่เกี่ยวกับการเมืองเช่นหุ้นที่อิงเข้ากับนโยบายทางเศรษฐกิจหรือกระตุ้นทางเศรษฐกิจ
คำอธิบายดังกล่าวระบุว่า นักลงทุนไทยนั้น มีความใส่ใจหรือหมกมุ่นกับการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองต่ำ และพลอยมีความรู้ทางการเมืองต่ำด้วยสอดรับกัน บางคนไม่สนใจด้วยซ้ำว่าใครจะชนะหรือแพ้ เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการคือความชัดเจนว่าจะไปทางไหนกันแน่ จะได้รับมือกับสถานการณ์เหมาะสม
หากไม่มองจากอุดมการณ์ทางการเมือง (ที่มองไปก็เปล่าประโยชน์) จะพบกับถ้อยคำสำคัญที่อธิบายแก่นแท้ของนักลงทุนไทย รวมทั้งนักลงทุนต่างประเทศได้ดีเช่นกันว่า ความไม่แน่นอน และความเสี่ยง เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการตัดสินใจซื้อ หรือ ขาย หรือ ถือของนักลงทุนที่มีความหมาย และอธิบายพฤติกรรมของตลาดเก็งกำไรได้ดียิ่ง
ความไม่แน่นอน และความเสี่ยง แฝงอยู่ในโอกาสทั้งในฐานะองค์ประกอบและในฐานะปัจจัยตรงกันข้าม แต่ที่สำคัญ ต้องทำความเข้าใจกันในเวลาที่พูดถึงเรื่องนี้คือ ล้วนเชื่อมโยงเข้ากับปัจจัยภายนอกและภายในของตลาดเก็งกำไรเสมอ
บางครั้งก็ปะปน บางครั้งแยกออกจากกัน บนความซับซ้อนของตัวแปรต่างๆ เรียกร้องความรู้เชิงประสบการณ์ (a posteriori knowledge) มากกว่าความรู้ด้วยตรรกะ (a priori knowledge)
เนื่องจากความไม่แน่นอน และ ความเสี่ยง มักจะถูกใช้สลับกันไปมั่วซั่วจนดูเหมือนว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันชื่อ แฟรงก์ เฮช. ไนท์ แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ในหนังสือคลาสสิกที่ชื่อว่า “Risk, Uncertainty and Profit” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1921 ได้แยกแยะนิยามของสองคำนี้ให้ชัดเจน
ตามมุมมองของไนท์ ความเสี่ยง (Risk) คือเหตุการณ์ที่เราพอจะคาดเดาถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดได้จากการคำนวณความน่าจะเป็น
ตัวอย่างง่ายๆ คือ เวลาเรากำลังจะโยนเหรียญ แม้ว่าจะไม่รู้ผลลัพธ์ของการโยนในแต่ละครั้งว่าออกหัวหรือก้อย แต่รู้ได้ว่าโอกาสการเกิดหัวหรือก้อยของการโยนหลายๆ ครั้งจะอยู่ที่ 50:50 ส่วนความไม่แน่นอน (Uncertainty) คือเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถคาดเดาหรือวัดได้ เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้ถึงความน่าจะเป็นทางสถิติของผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละกรณี
ความพยายามที่จะวัดหรือสร้างเกณฑ์วัดความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจ โดยนักเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่โดดเด่นกว่าใครคือผลการศึกษาของ Scott Baker, Nicholas Bloom and Steven Davis (2016) ชื่อว่า Measuring Economic Policy Uncertainty นำเสนอวิธีการวัดโดยประยุกต์ใช้เครื่องมือทางด้านเหมืองข้อความ (Text mining) กับข้อมูลข่าว เพื่อสร้างตัวแทน (proxy) ที่สะท้อนถึงระดับความไม่แน่นอนทางนโยบายเศรษฐกิจ จนได้ข้อสรุปว่า หากมีข่าวที่เขียนเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางนโยบายในช่วงเวลาหนึ่งเป็นจำนวนมาก ก็น่าจะแสดงให้เห็นว่าระดับความไม่แน่นอนกำลังเพิ่มสูงขึ้น จากนั้นก็นำไปวิเคราะห์ต่อได้อีกด้วย
ตัวอย่างที่เปรียบเทียบชัดเจนสุดเห็นจะได้แก่ การชกมวย ซึ่งนักมวยทั้งสองฝ่ายได้รับทราบถึงกฎกติกาก่อนการชก ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำทั้งสองฝ่ายคือ กำหนดกลยุทธ์ในการชกเพื่อเอาชนะอีกฝั่งให้ได้ ความเสี่ยงคือ ไม่มีฝ่ายใดรู้ล่วงหน้าว่าใครจะชนะหรือแพ้ แต่ถ้าเป็นการชกที่ไม่บอกกติกา หรือ มีกติกาแบบเดาสุ่ม ไม่บอกว่าอะไรถูกหรือผิดล่วงหน้า ความไม่แน่นอนจะครอบงำการชกมวยนั้นท่วมท้น
การแยกแยะปัจจัยความเสี่ยงและความไม่แน่นอนออกจากกัน ทำให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นมาว่า แม้ภายใต้ความแน่นอน ความเสี่ยงก็ยังปรากฏให้เห็นได้ แต่ไม่น่ากังวล แต่ความเสี่ยงภายใต้ความไม่แน่นอนต่างหากที่อันตรายอย่างยิ่ง
เศรษฐกิจของโลกยุคหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง กระแสโลกาภิวัตน์ภายใต้ฉันทามติวอชิงตัน มีบทบทครอบงำการเคลื่อนย้ายทุน และทรัพยากรต่างๆ ของโลก ซึ่งปรากฏว่าในช่วง 25 ปีมานี้ มีข้อมูลทางสถิติชี้ชัดตรงกันว่า สภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจเพิ่มระดับขึ้นโดยเฉลี่ย และมีอัตราเร่งขึ้นตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 และได้ทะยานเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา
แล้วหากเจาะลึกลงในลงมาดูรายละเอียดในระดับประเทศพบว่า สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน มีความไม่แน่นอนทางนโยบายเศรษฐกิจเหนือกว่าชาติอื่นๆ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปและจีนกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นส่งผลลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญทั้งระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากในระยะสั้น เมื่อผู้บริโภคและผู้ผลิตมีความกังวลถึงความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นก็อาจเลือกที่จะชะลอหรือเลื่อนการบริโภคและการลงทุนออกไป ส่งผลต่อเนื่องไปยังศักยภาพการผลิตของประเทศลดลงในระยะยาวได้
ความเสี่ยงภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ เปิดช่องให้มีโอกาสที่จะเกิดความรู้สึกและพฤติกรรมแบบกระต่ายตื่นตูม ที่มีการซื้อหรือขายความตื่นตระหนกง่าย และมีแรงเหวี่ยงที่สุดขั้ว ซึ่งเป็นจิตวิทยาและพฤติกรรมร่วมทางสังคม แบบที่ชาร์ลส แมคคาย เรียกว่า “ความบ้าคลั่งของฝูงชน” เพิ่มมากขึ้นไปด้วย
ที่น่าสนใจคือ ความเสี่ยงภายใต้ความไม่แน่นอน ที่ปรากฏชัดในวงการตลาดเงิน และตลาดเก็งกำไร เริ่มทำให้นักลงทุนเริ่มตระหนักว่าได้ถูกลดทอนความสามารถในการคาดเดา และคาดหวังจะหาประโยชน์ได้น้อยลงด้วยกระบวนการปกติ ความผันผวนก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นง่ายมากขึ้น
ผลลัพธ์คือความเสี่ยงและความไม่แน่นอนเริ่มจะหาเส้นแบ่งยากขึ้นเรื่อยๆ
ปรากฏการณ์ที่ราคาหุ้นและดัชนีทะยานขึ้นแรงหลังจากมีข่าวจะประกาศเลือกตั้ง และกำหนดวันเลือกตั้ง ทั้งที่ไม่มีรายละเอียดเป็นชิ้นเป็นอันอะไรเลย เพราะการเมืองยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่ได้หมายความว่า นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีจิตวิญญาณโหยหาประชาธิปไตยสุดลิ่มทิ่มประตู หรือ เพราะเชื่อมั่นรุนแรงว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอนาคตดีขึ้นมากมายหลังเลือกตั้ง
ความจริงแล้วอาจจะเป็นแค่ปฏิกิริยาเข่ากระตุกธรรมดาที่เฮตามกัน เพราะรอจังหวะมานานหลายวันแล้วเท่านั้น