Z.com กับบัญชีมาร์จิ้น
วันก่อนหน้านี้ทีมงาน “ข่าวหุ้นธุรกิจ” มีโอกาสนั่งพูดคุยกับผู้บริหาร Z.com
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
วันก่อนหน้านี้ทีมงาน “ข่าวหุ้นธุรกิจ” มีโอกาสนั่งพูดคุยกับผู้บริหาร Z.com
ชื่อนี้คนวงการตลาดหุ้น อาจจะยังไม่คุ้นนัก
Z.com เป็นโบรกฯ น้องใหม่ล่าสุดที่ใช้ชื่อว่า บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ–แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้บริหารที่เป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ไม่ใช่ใครที่ไหน
เขาคือ “เมกุมุ โมโตฮิสะ” หรือ โมโตะซัง
หากจำกันได้ โมโตะซัง คืออดีตผู้บริหารระดับสูงของ บล.เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ และเน้นการซื้อขายหุ้นแบบออนไลน์ พร้อมกับชูเรื่อง “คอมมิชชั่น” ขึ้นมาเป็นจุดขาย
ทว่า แนวทางนี้เหมือนไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่
และทำให้โบรกฯ แห่งนั้นเงียบๆ ไป
ก่อนที่จะมีชื่อของ โมโตะซัง เข้ามานั่งเป็นซีอีโอ ใน Z.com แห่งนี้
รูปแบบการดำเนินธุรกิจของ Z.com จะเน้นซื้อขายหลักทรัพย์แบบออนไลน์
แต่ที่น่าสนใจคือ ทุนจดทะเบียนของโบรกฯ แห่งนี้สูงถึง 1 พันล้านบาท ด้วยเหตุผลว่า กลยุทธ์หรือจุดขายทางธุรกิจจะเน้นไปที่บัญชีมาร์จิ้น หรือ“เครดิตบาลานซ์”
มีผู้บริหารระดับสูง Z.com อีก 2 คนที่มาร่วมให้ข้อมูลด้วย
นั่นคือ “ประกฤต ธัญวลัย” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
อีกคนคือ “เธียร ธนารักษ์โชค” รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด
ผู้บริหารทั้ง 2 คน ก็ถือว่าคร่ำหวอดในวงการตลาดหุ้นไทยมานานแล้วเช่นกัน
ประกฤต ให้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้ว เขาเปิดให้บริการบัญชีทางแคชบาลานซ์ และเครดิตบาลานซ์ แต่จะเน้นไปที่บัญชีประเภทหลัง
Z.com ได้เตรียมเงินไว้กว่า 500 ล้านบาท ที่จะปล่อยมาร์จิ้นในช่วง 1 ปีแรก
1 ปีแรกที่ว่านี้คือเริ่มจากวันที่เปิดตัวคือ 13 พฤศจิกายน 2560 ไปจนถึงวันและเดือนเดียวกันในปี 2561
เป้าหมายของลูกค้าในช่วงปีแรกก็วางไว้ว่าจะมีเข้ามาเปิดบัญชีกว่า 3 พันบัญชี และจะหาลูกค้าจากงานอีเว้นท์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับตลาดเงิน-ตลาดทุน
ผมถามรายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีมาร์จิ้น
ประกฤต ให้ข้อมูลเพิ่มว่า อัตราดอกเบี้ยจะคิดระดับ 8%(เงินกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์)
ส่วน “ตัวหุ้น” นั้น ก็มีจะวางไว้อยู่แล้วว่า มีตัวไหนบ้างที่จะใช้บริการบัญชีมาร์จิ้นได้(ศึกษาไว้ 200 ตัว) หรือมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงเอาไว้ ไม่ได้ปล่อยแบบมันมือ
ดูเหมือนว่า Z.com จะคาดหวังกับบัญชีมารจิ้นมาก
เพราะในแผนระยะยาว พวกเขามีโครงการที่จะเพิ่มทุนขึ้นไปอีก เพื่อเพิ่มสัดส่วนการปล่อยมาร์จิ้นให้มากขึ้น
ผมถามโมโตะซังว่า มองตลาดทุนไทยเป็นอย่างไร
เขาตอบว่า Very Good
คำตอบของโมโตะซัง เสมือนมีนัยสำคัญว่า เขาศึกษามาอย่างดีแล้วว่า ตลาดหุ้นไทยจะไม่มีปัญหา และบัญชีมาร์จิ้นที่เขาปล่อยนั้นจะไม่มีความเสี่ยงมากนัก
Z.com ได้ทำแผนระยะยาวว่า รายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยมาร์จิ้นจะคิดเป็น 25% ของรายได้จากค่าคอมมิชชั่น
เช่น ในปีแรกค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ที่ 34.9 ล้านบาท
ส่วน interest on margin loans อยู่ที่ 10.4 ล้านบาท
ปีที่ 2 ตัวเลขค่าธรรมเนียมฯ ขยับขึ้นเป็น 118.9 ล้านบาท และ interest on margin loans เพิ่มเป็น 35.4%
ขณะที่ในช่วงปีที่ 3-5 ตัวเลขจะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ
แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนแล้ว ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ และ interest on margin loans จะอยู่ในอัตราส่วน 3 : 1(ดูตาราง)
โครงสร้างค่าคอมมิชชั่นจะอยู่ระหว่าง เช่น 0.01-100,000 บาท คิด 100 บาท
100,001–200,000 คิดเท่ากับ 200 บาท
และ 200,001–200,000 บาท คิด 300 บาท และ 100 บาท สำหรับมูลค่าซื้อขายหุ้นทุกๆ 100,000 บาท
การวางโครงสร้างค่าคอมฯ แบบนี้ เพราะ Z.com จะมุ่งไปที่ลูกค้าระดับกลางๆ ขึ้นไป
ใครที่เทรดน้อยๆ ก็อาจไม่ค่อยคุ้ม
จากตัวเลขจะเห็นประเด็นที่น่าสนใจคือ ไม่ทำสงครามค่าคอมฯ
Z.com ปัจจุบันมีพนักอยู่อยู่ 75 คน ไม่มีมาร์เก็ตติ้ง แต่จะมีพนักงานคอลเซ็นเตอร์ นั่นเพราะเน้นเทรดแบบออนไลน์
และคาดมาร์เก็ตแชร์ปีแรกไว้ 0.5%
สำหรับโมโตะซังนั้น เขาประสบการความสำเร็จในการวางระบบเทรดออนไลน์ในประเทศญี่ปุ่น หรือเป็นคนวางระบบต้นแบบเลยก็ว่าได้
โมโตะซัง และ Z.com มั่นใจว่า พวกเขาจะประความสำเร็จในประเทศไทย