เชื้อชั่วไม่เคยตาย
ปีก่อน มีเรื่องอื้อฉาวจากยุโรป เมื่อบริษัทผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินยักษ์ใหญ่ โรลส์รอยซ์ ของอังกฤษออกมายอมรับว่า จ่าย “ใต้โต๊ะ” ให้ผู้บริหารหลายประเทศเพื่อคว้าออเดอร์สั่งซื้อเครื่องยนต์สายการบิน สำหรับเครื่องบินประจำการของค่าย โบอิ้งสหรัฐฯ
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ปีก่อน มีเรื่องอื้อฉาวจากยุโรป เมื่อบริษัทผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินยักษ์ใหญ่ โรลส์รอยซ์ ของอังกฤษออกมายอมรับว่า จ่าย “ใต้โต๊ะ” ให้ผู้บริหารหลายประเทศเพื่อคว้าออเดอร์สั่งซื้อเครื่องยนต์สายการบิน สำหรับเครื่องบินประจำการของค่าย โบอิ้งสหรัฐฯ
ครั้งนั้นฮือฮาในสื่อไทย เพราะมีชื่ออดีตคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลายยุคสมัย แต่กลุ่มคนที่ตกเป็นเป้าเชือด หนีไม่พ้น “พวกทักษิณ” เป็นหลัก เพราะถูกเชื่อทันทีว่าพวกนี้ “พร้อมโกงทุกสถานการณ์”
วันนี้เรื่องนั้นเงียบไปแล้วในไทย แต่ที่ยุโรป มีเรื่องใหม่เข้ามานำเสนอแทนที่โด่งดังไม่แพ้กัน คือเรื่อง “เงินหล่นใต้โต๊ะ” ของธุรกรรมบริษัทผลิตเครื่องบินแอร์บัส
ในอดีต แอร์บัส รอดพ้นข้อกล่าวหาว่าจ่ายใต้โต๊ะมาโดยตลอด เพราะถือว่าแผนกการตลาดระหว่างประเทศ หรือ international marketing operations ได้รับการยืดหยุ่นให้กระทำผ่านบริษัทนายหน้าภายนอกหรือ external consultants ได้ ดังนั้นความรับผิดเรื่องการจ่ายใต้โต๊ะจึงตกกับบริษัทนายหน้าดังกล่าว ไม่โยงถึงแอร์บัส ต่างจากกรณีของค่ายโบอิ้งสหรัฐฯที่มีกฎกติกาเข้มงวดมากกว่า
ความยืดหยุ่นของแอร์บัสที่เคยมี กำลังจะจบสิ้นลง เพราะความเข้มงวดเรื่องจ่ายใต้โต๊ะเริ่มลุกลามมาครอบคลุมแอร์บัสด้วยโดยตรง
กรณีการตรวจค้นล่าสุดที่โยงเข้ากับการขายเครื่องบินรบของบริษัทผลิตสรรพาวุธ ชื่อเดิม EADS ในการขายเครื่องบินรบให้กับกองทัพอากาศ ออสเตรีย ที่โยงเข้ากับบริษัทนายหน้าชื่อ Constantin Ster จดทะเบียนในโรมาเนีย ที่ล้มละลายไป แต่ทิ้งเอกสารลับลมคมในมากมายของธุรกรรมดังกล่าว ในปีค.ศ. 2015 ว่าได้รับรายได้โดยทางลับจาก EADS
ข้อมูลเบื้องต้น ส่งผลพวงต่อไปถึงการตรวจสอบทางลึกเพิ่มเติม ที่ส่งผลสรุปท้ายสุดว่ายอดวงเงินประมาณ 5 ล้านยูโร ที่สูญหายไป (จากดีลใหญ่เครื่องบินรบ 18 ลำ มูลค่า 4 พันล่านยูโร) ที่เชื่อกันว่า น่าจะอยู่ในกระเป๋าเงินของผู้บริหารแอร์บัส และผู้บริหารกองทัพอากาศออสเตรีย
จากการที่ทางการเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ร่วมมือกันสอบค้นเพื่อหาความเชื่อมโยงของการฟอกเงินที่หน่วยงานของอังกฤษ Serious Fraud Office (SFO) ได้มาจากกรณีของ โรลส์รอยซ์ ที่ถูกสั่งปรับ 671 ล้านปอนด์ หรือ 837 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปแล้ว ได้พบเส้นทางเงินที่สืบค้นต่อได้ของดีลที่ซื้อขายของเครือแอร์บัสกระทำ (ดังตารางประกอบ)
การกระทำฉ้อฉลดังกล่าว ถือว่าทำผิดกฎหมายเพราะดีลซื้อขายได้ใช้ประโยชน์ทางภาษีและสินเชื่อพิเศษด้านการส่งออกจากธนาคารกลางของชาติยุโรปชัดเจน
เงินจ่ายที่ต้องสงสัยบางส่วนที่สำคัญของดีล ผ่านบริษัทนายหน้าในลอนดอนชื่อ Vector Aerospace ที่มีพนักงานเพียงแค่ 2 คน ได้รับเงินจาก EADS 114 ล้านยูโร โดยเงินดังกล่าวรับเข้าบริษัทนี้เพียง 9 ล้านยูโร ที่เหลือจ่ายต่อไปยัง บริษัทกระดาษในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และ เกาะเวอร์จิ้นไอส์แลนด์ จากนั้นเงินส่วนนี้ ก็ไร้ร่องรอยไป
เอกสารล่าสุดของอัยการเยอรมนีที่เพิ่งหลุดมาถึงสื่อ ระบุว่า เงินใต้โต๊ะที่ EADS จ่ายให้นี้ เริ่มจากกลุ่มบริษัทร่วมการค้าหรือ คอนซอร์เตียม ซึ่งมี EADS ร่วมด้วย ว่าเงินจ่ายผ่านนายหน้าอังกฤษชื่อ Vector Aerospace ที่เสนอตัวขายเครื่องบินรบ ถูกฟอกไปให้กับค่าสินบนเพื่อให้ชนะการประมูลของกองทัพอากาศออสเตรีย แต่ไม่ระบุจำนวนเงิน
ความจริงแล้วเรื่องการจ่ายเงินใต้โต๊ะของแอร์บัส ในธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์ ระดับโลกเคยถูกตั้งข้อสงสัยมานานแล้วในฐานะ “ปิดกันให้แซ่ด” และดูเหมือนว่าผู้บริหารนี้ก็รู้ดีว่าจะต้องถูกเล่นงานสักวันหนึ่ง ปีที่ผ่านมา ก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และเริ่มทำความสะอาดบ้านใหม่เพื่อทำตัวให้พ้นข้อกล่าวหา แต่ในที่สุดกรณีของการขายเครื่องบินรบโผล่ออกมาก่อน แม้จะมีมูลค่า ดีลไม่ใหญ่นัก แต่เส้นทางการเงินที่ฉ้อฉลก็บ่งบอกว่าอาจจะมีดีลที่ซับซ้อนกว่าซ่อนเอาไว้มากมาย และอาจทำให้เก้าอี้ผู้บริหารทั้งของแอร์บัสและคู่ค้า รวมทั้งดีลทั้งหลายในโลกนี้ในอดีต ถูกขุดขึ้นมาตรวจสอบ
แต่ก็เชื่อได้เลยว่า เชื้อชั่วจะไม่มีวันตาย เพราะบางกรณีการจ่ายใต้โต๊ะมันก็เปรียบน้ำมันหล่อลื่นที่ทำให้ธุรกรรมเดินหน้าได้