สนิมแต่เนื้อในตน

คำสั่งในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมาอย่างเกินคาดหมายของ ก.ล.ต. กล่าวโทษนายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและซีอีโอของบริษัททำธุรกรรมการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร  บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ด้วยข้อหาที่รุนแรง 3 ข้อหา คือ แต่งบัญชี-ยักยอก-ฟอกเงิน ถือว่าเป็นบทสรุปที่ดีซึ่งยืดเยื้อมายาวนานหลายเดือน นับจากข้อมูลที่ปิดไม่มิดเริ่มโผล่ออกมาจากหมายเหตุประกอบงบการเงินของผู้ตรวจสอบบัญชี ต่องบสิ้นงวดปี 2559 ของบริษั


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

คำสั่งในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมาอย่างเกินคาดหมายของ ก.ล.ต. กล่าวโทษนายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและซีอีโอของบริษัททำธุรกรรมการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร  บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ด้วยข้อหาที่รุนแรง 3 ข้อหา คือ แต่งบัญชี-ยักยอก-ฟอกเงิน ถือว่าเป็นบทสรุปที่ดีซึ่งยืดเยื้อมายาวนานหลายเดือน นับจากข้อมูลที่ปิดไม่มิดเริ่มโผล่ออกมาจากหมายเหตุประกอบงบการเงินของผู้ตรวจสอบบัญชี ต่องบสิ้นงวดปี 2559 ของบริษัท

ในฐานะคนทำสื่อด้านธุรกิจมายาวนานในกองบรรณาธิการเกือบทุกตำแหน่งตลอดเวลา 34 ปี จนกระทั่งต้องมาดูแลข่าวเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของธุรกิจที่จู่ๆ ก็มีกำไรพุ่งพรวดมากกว่าปกติ (กำไรสุทธิพิเศษเติบโตมากกว่า 300% ในปี 2559) และมีราคาหุ้นในกระดานซื้อขายพุ่งขึ้นมากที่สุดระดับหัวแถว (จากระดับ 17.00 บาท เมื่อต้นปี 2559 ไปถึงกว่า 90.00 บาท ในปลายปีเดียวกัน) แล้วตามมาด้วยข้อมูลที่บ่งชี้เรื่องความผิดปกติ ย่อมเป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อยไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับโจทย์มากมาย ที่เป็นทั้งความท้าทายและแรงกดดันของงานอาชีพ

โดยเฉพาะปฏิกิริยาตอบสนองจากคนที่เกี่ยวข้องกับ “สงครามชิงพื้นที่ข่าว” หลังจากที่ข่าวดังกล่าวถูกนำเสนอออกไป และมีผลต่อราคาหุ้นของบริษัทดังกล่าวค่อนข้างรุนแรง

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทันทีมาจากคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงและอ้อมหลายทางพร้อมกันคือ 1) ผู้บริหารบริษัทที่ตกเป็นข่าว 2) บริษัทรับจ้างทำประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัทที่ตกเป็นข่าว 3) นักวิเคราะห์หุ้นที่เคยเชียร์กันแหลกลาญ 4) สื่อมวลชนร่วมอาชีพเดียวกันและเป็น “คู่แข่งเสมือน” 5) เสียงค่อนแคะของ “นักสู้ไซเบอร์” ที่นิยมส่งเสียงดังแบบไร้สมองอย่างไม่สร้างสรรค์บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก 6) นักลงทุนที่แสวงหาโอกาสทั้งจากการ “ช้อน” และ “ทุบ” ในยามที่ราคาหุ้นผันผวนรุนแรง

กลุ่มแรกสุด ไม่มีปัญหาที่ต้องพยายามแก้ต่าง ด้วยการออกมาปฏิเสธว่าข้อมูลที่นำเสนอไม่เป็นความจริง บิดเบือน และไม่น่าเชื่อถือ

กลุ่มที่สอง ก็ต้องขานรับกลุ่มแรกโดยแต่งเติมข้อมูลและถ้อยคำใหม่ๆ เพื่อที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่นำเสนอเพื่อเอาใจนายจ้างของตนเอง

กลุ่มที่สาม ต้องออกมา ทบทวนท่าที หรือปกป้องท่าทีในการวิเคราะห์เดิมของตนเองตามจินตนาการและข้อมูลที่มีอยู่

กลุ่มที่สี่ บางคนในกลุ่มนี้พยายามหาทางจับผิดข้อมูลเพื่อนร่วมอาชีพที่นำเสนอ จะด้วยเหตุผลของอคติส่วนบุคคล หรือ ด้วยเจตนาแสวงหา “เศษเนื้อข้างเขียง” แต่ไม่ใส่ใจกับการติดตามหาข้อมูลและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ความเห็นของผู้สอบบัญชีในงบการเงินมีเบื้องหน้าเบื้องหลังเช่นใด

กลุ่มที่ห้า พวกนี้ถือโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและคัดค้านอย่างเป็นอิสระ บางกลุ่มประกาศตัวเป็นแฟนคลับปกป้องผู้บริหารของ GL อย่างไร้เหตุผล และตั้งเป้าเย้ยหยัน ข่าวหุ้นธุรกิจโดยเปิดเผยอย่างไร้สาระ

กลุ่มสุดท้าย มีทั้งนักฉวยโอกาส และพวกขาใหญ่ติดหุ้นที่ต้องการถอนตัวโดยขาดทุนน้อยที่สุด กลุ่มนี้ มีบทบาทสำคัญหลายเดือนที่ผ่านมาในการ “ช้อน” และ “ทุบ” ราคาหุ้น GL เป็นระยะๆ

ปฏิกิริยาเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เข้าใจได้ และชาชินเสียแล้ว แต่บรรยากาศของการทำงานในกรณีนี้ ถือว่ามีความผิดปกติไปจาก “ปทัสถาน” ของการนำเสนอข่าวตามปกติ เพราะไม่เพียงแต่ยากกว่าเดิมในยุคที่ข้อมูลท่วมล้นเท่านั้น แต่ยังต้องหาทางสร้างเครื่องมือ “ป้องกันตัวเอง” จากคนรอบข้างที่ “มองหน้าไม่รู้ใจ” พร้อมกันไป

ตัวอย่างที่ง่ายๆ คือ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน คนในสำนักงานนี้ ได้รับ “เสียงแห่งความหวังดี” จากนักกฎหมายชื่อดังที่รู้จักกันค่อนประเทศ ให้ระมัดระวังการนำเสนอข่าวของGL ซึ่งสุ้มเสียงที่ออกมา เข้าใจได้ไม่ยากว่าเป็นเสียง “ปรามกึ่งขู่” มากกว่าความปรารถนาดีที่แท้จริง

โดยประสบการณ์ยาวนาน ปฏิกิริยาตอบโต้สาระของข่าวในเชิงลบ ซึ่งมีทั้งวิธีการง่ายๆ และซับซ้อน หนีไม่พ้น 3 สาระสำคัญต่อไปนี้ คือ 1) ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อมูลทางลบ 2) สร้างข้อมูลทางบวกทั้งของเดิมและใหม่ขึ้นมาหักล้างข้อมูลเชิงลบ 3) หาเหตุผลทำลายล้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลเชิงลบ 4) โจมตีผู้ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลบว่า ไม่ปรารถนาดี และไม่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และแต่ก็ไม่เคยถูกละเลยที่จะหยิบมาใช้ซ้ำซาก

ความภาคภูมิใจในวิชาชีพว่าไม่ได้หลงละเมอกับ “เศษเนื้อข้างเขียง” เหมือนกับใครบางคนที่พยายามนำเสนอข้อมูลอย่างมีเจตนาแอบแฝง อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่มีความหมายมากนัก แต่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นจุดยืนของทีมงาน ข่าวหุ้นธุรกิจ ได้ชัดเจนว่า ผลประโยชน์ของนักลงทุน (โดยเฉพาะรายย่อย) ได้รับการใส่ใจตามเจตนาของทีมงานอย่างจริงจัง แม้อาจจะไม่เต็มที่ ด้วยเหตุปัจจัยแวดล้อมและข้อจำกัดบ้างตามปกติของการทำงาน

วันนี้ และนับจากนี้ไป ข้อมูลของ GL ที่มีบทสรุปชัดเจนจาก ก.ล.ต. ด้วยประโยคทองที่ว่า ” ….ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายมิทซึจิ ให้ บริษัท กรุ๊ปลีส โฮลดิ้งส์ จำกัด (GLH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GL ที่ประเทศสิงคโปร์ ปล่อยกู้แก่บริษัทในต่างประเทศหลายแห่ง โดยพบหลักฐานว่า GLH ให้กู้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไซปรัส 4 แห่ง และสิงคโปร์ 1 แห่ง เป็นเงินให้กู้รวมประมาณ 54 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีนายมิทซึจิ เป็นผู้ควบคุมและเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง โดยเมื่อบริษัททั้ง 5 แห่งได้รับเงินกู้จาก GLH ไปแล้ว ได้นำไปหมุนเวียนในกลุ่มบริษัทผู้กู้เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่ GLH เป็นงวดๆ ซึ่งยอดดอกเบี้ยถูกนำไปรวมเป็นรายได้ในงบการเงิน อันเป็นการแต่งบัญชีและสร้างผลประกอบการของ GL ให้สูงเกินจริง…. ได้ยืนยันแล้วว่า  ประเด็นคำถามที่ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” เคยตั้งเอาไว้แต่ต้น ได้ถูกคลี่คลายไปบางส่วน

ภารกิจในการสืบค้นหาความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร อันเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะสื่อธุรกิจนั้น ยังคงจำเป็นตลอดไปของสื่อ ไม่ใช่เป็นภารกิจเฉพาะของ ก.ล.ต.หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น เนื่องจาก หากสังคมโดยรวมยังต้องการความจริงที่มากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้าของคนบางคน

ส่วนคำถามว่าด้วย คนบางคนในวิชาชีพเดียวกัน ที่มีคุณสมบัติชมชอบ “เศษเนื้อข้างเขียง” นั้น คงเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากันต่อไป เพราะเป็นคำถามที่ต้องยอมรับว่า ยากที่จะตอบได้ในเวลาอันสั้น

Back to top button