BBL – AIA และ BLA

การจับมือของแบงก์กรุงเทพ(BBL) และเอไอเอ ถือเป็นดีลใหญ่ส่งท้ายปีนี้เลย


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

การจับมือของแบงก์กรุงเทพ(BBL) และเอไอเอ ถือเป็นดีลใหญ่ส่งท้ายปีนี้เลย

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างเงียบมาก

ไม่มีข่าวหลุด หรือเหตุการณ์ใดชวนให้สงสัย

เพราะแบงก์กรุงเทพเองก็มีบริษัทประกันชีวิตลูกรัก ที่ “กลุ่มโสภณพนิช” ถือหุ้นร่วมกันไม่ต่ำกว่า 30%

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นระหว่าง BBL และ BLA

และเอไอเอ มาจับมือกับ BBL ได้อย่างไร

ที่ผ่านมารายได้จากค่าธรรมเนียม หรือค่าฟี ของ BBL เติบโตโดยเฉลี่ย 5-6%

ทว่าหากเทียบกับสัดส่วนรายค่าฟี กับรายได้อื่นๆ เช่นดอกเบี้ย ยังถือว่ามีจำนวนที่ค่อนข้างน้อย

และเมื่อเทียบกับแบงก์ขนาดใหญ่ด้วยกัน ก็จะยิ่งพบว่า BBL ทำได้เป็นอันดับท้ายๆ เลย โดยเฉพาะค่าฟีจากการขายประกันประเภทต่างๆ

BBL ในช่วง 2-3 ปีหลัง กำไรแม้จะสูงขึ้นในแต่ละปี

แต่อัตราการเติบโตเป็นไปแบบถดถอย

ล่าสุด กำไรกลับลงไปอยู่อันดับ 3-4 ทั้งที่สินทรัพย์มีมากเป็นอันดับ 1 หรือ 3.01 ล้านล้านบาท

นั่นแสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการหารายได้ และการทำกำไรสู้แบงก์อื่นๆ ไม่ได้

แบงก์กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ถือว่ามีความโดดเด่นมากๆ ในการหารายได้ค่าฟี จากการขายประกัน โดยเฉพาะประกันชีวิต

ส่วนกรุงไทย ตัวเลขค่าฟีจากการขายประกันดีขึ้นมาตามลำดับ

เห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว BBL คงต้องกล้าตัดสินใจอะไรบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองในการเพิ่มความสามารถต่อการหารายได้และทำกำไร

เอไอเอ นั้น เป็นบริษัทประกันชีวิตยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย

มีส่วนแบ่งการตลาดมากเป็นอันดับ 1 มาเป็นเวลาหลายสิบปีติดต่อกัน

แต่เพิ่งจะมาเสียแชมป์(เบี้ยประกันรับรวม) ในช่วง 7-8 เดือนแรก ปี 60 ให้กับ “เมืองไทยประกันชีวิต”

ที่ผ่านมาเอไอเอ พยายามเข้าหาช่องทางการขายผ่านธนาคาร

มีการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับธนาคารพาณิชย์บางแห่งบ้าง แต่ก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอันซักเท่าไหร่

รวมถึงมีข่าวว่าจะเข้าไปซื้อหุ้น บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ราวๆ 49% และเป็นพันธมิตรกับแบงก์ไทยพาณิชย์ เพื่อที่จะขายประกันผ่านสาขาของ SCB

และเหมือนว่าดีลดังกล่าวจะ “ล้มเหลว”

ล่าสุด ก็คือการโผล่มาจับมือกับ BBL นี่แหละ

จึงเกิดปรากฏการณ์แบงก์พาณิชย์อันดับ 1 ของไทย และประกันชีวิตอันดับ 1 ของไทยเช่นกัน หันมาจับมือกัน

นักวิเคราะห์ต่างมองว่า งานนี้ “วิน-วิน” ทั้งคู่

เอไอเอ มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากในเรื่องประกันชีวิต และเมื่อนำมาอยู่ในช่องทางขายของ BBL ก็จะช่วยส่งเสริมงานขายได้ราบรื่นขึ้น

ผ่านมาถึงตรงนี้ ยังไม่มีข้อมูลเป็นตัวเลขว่า BBL ได้รับเงินค่าฟีเท่าไหร่ จากการที่เอไอเอเข้ามาใช้ช่องทางการขาย

รวมถึงตัวเลขค่าฟีจากการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในแต่ละประเภท

ข้อมูลที่ได้มีเพียงว่า BLA พันธมิตรเดิมของเอไอเอ ยังสามารถขายเบี้ยประกันชีวิตผ่าน BBL ได้เฉพาะเบี้ยประกันแบบ Endowment (แบบสะสมทรัพย์ระยะสั้น) ที่ไม่ซ้ำกับของเอไอเอ และเบี้ยประกันคุ้มครอง(Credit life)

ขณะที่ “ไม่สามารถ” ขายเบี้ยประกันระยะยาว(Wholelife) ได้อีกต่อไป

จะเห็นว่า โอกาสในทางขายของเอไอเอมีมากกว่า BLA อย่างมาก

BBL ทำสัญญากับเอไอเอ ไว้เป็นเวลา 15 ปี เริ่มปี 2518

จริงๆ แล้วไม่ได้มีข้อตกลงในการขายผ่านสาขาเท่านั้น

แต่ยังรวมถึงช่องทางการขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของ BBL ด้วย

วานนี้ บทวิเคราะห์ของโบรกฯต่างๆ ต่างแนะนำซื้อหุ้น BBL และหากมีการได้ตัวเลขต่างๆ เข้ามาเพิ่มเติม ก็จะมีการปรับเพิ่มคาดการณ์กำไร และราคาเป้าหมาย

ส่วนหุ้น BLA ส่วนใหญ่แนะนำเหลือเพียง “ถือ” และให้ “ขาย”

มีบางโบรกฯ ที่ยังคงแนะนำให้ “ซื้อ” บ้าง

เวลายักษ์ใหญ่จับมือกันเพื่อขยับสู้

จึงเป็นเกมแข่งขันที่น่าชมจริงๆ

Back to top button