พาราสาวะถี
จากที่คิดว่า “แป๊ะ” ลั่นวาจาไปแล้วเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า แต่พลันที่มีเสียงทักท้วงจาก “ครูหยุย” วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. เรื่องการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูก โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ก็ทำให้เกิดอาการกระตุก พาลคิดกันไปต่อว่า ถ้าเช่นนั้นโรดแมปก็ต้องเลื่อนออกไป
อรชุน
จากที่คิดว่า “แป๊ะ” ลั่นวาจาไปแล้วเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า แต่พลันที่มีเสียงทักท้วงจาก “ครูหยุย” วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. เรื่องการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูก โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ก็ทำให้เกิดอาการกระตุก พาลคิดกันไปต่อว่า ถ้าเช่นนั้นโรดแมปก็ต้องเลื่อนออกไป
ไม่เพียงเท่านั้นยังสำทับด้วยคำพูดของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 หมายความว่าทุกอย่างดำเนินไปด้วยความราบเรียบลื่นไหลไม่มีอะไรให้สะดุด เมื่อผนวกเข้ากับสิ่งที่ วิษณุ เครืองาม ย้ำมาโดยตลอดโรดแมปไม่เคลื่อนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ข้างหน้า นั่นหมายความว่า ประเด็นนี้ไม่จำเป็นต้องตามใจแป๊ะแม้จะอยู่ในเรือลำเดียวกันก็ตาม ใช่หรือไม่
จะว่าไปแล้ว หากตัดประเด็นเรื่องร่างกฎหมายที่กำลังดำเนินการกันอยู่และกฎหมายลูกที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วออกไป รวมไปถึงไม่สนใจสัญญาประชาคมที่ได้ไปประกาศไว้ในที่ต่างๆ มองไปยังความต้องการของผู้มีอำนาจที่แท้จริงคืออยากให้ทุกอย่างสงบราบคาบ สามารถจัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้อยู่หมัดจึงค่อยจัดการเลือกตั้ง หากเป็นเช่นนั้นโอกาสยื้อเวลาออกไปก็มีความเป็นไปได้
ไม่ต้องกลัวเรื่องเสียสัตย์ หากมีปัจจัยรองรับบวกกับอำนาจพิเศษที่มีอยู่ในมือถามว่าใครจะกล้าหือ ขณะที่นักการเมือง กรณีของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่พลาดมหันต์ก็น่าจะเป็นภาพสะท้อนอย่างหนึ่งว่า จากนี้ไปทุกย่างก้าวในการขับเคลื่อนไม่ว่าจะโดยนโยบายหรือการหาเสียง แม้กระทั่งการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จะถูกจับจ้องเป็นพิเศษ ทั้งจากฝ่ายยึดกุมอำนาจและหูตาของฝ่ายตรงข้าม
ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงท่าทีอยากเลือกตั้งหรือต้องการให้มีการปลดล็อคเพื่อดำเนินกิจกรรมใดๆ เพราะยิ่งนานวันเงื่อนเวลาตามกฎหมายบังคับเหลือน้อยลง ก็จะกลายเป็นโจทย์ที่กดดันผู้มีอำนาจไปเอง ขณะเดียวกัน ถ้าภาวะความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ยังมีอยู่และไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งจะกลายเป็นตัวเร่งให้ผู้มีอำนาจอยากจะคืนอำนาจแล้วกลับมาจัดการกันใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง
ต้องไม่ลืมว่า ความกังวลเรื่องคนอื่นจะมาแย่งอำนาจนั้นแทบจะไม่มี ทุกอย่างที่ดำเนินการไปรู้กันอยู่แล้วว่าหลังจัดการเลือกตั้ง ใครจะขึ้นมาบริหารประเทศ ที่หวังกันในวันนี้คือขอให้สิ่งที่ทำไปเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชนเกิดมรรคผลบ้าง จะได้เป็นเหตุผลให้นำมาใช้ประกอบในยามหวนคืนสู่อำนาจสืบทอดว่าขอกลับมาเพื่อสานต่องานให้สำเร็จ
ความจัดเจนเรื่องการเมืองของท่านผู้นำ ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าไม่ธรรมดา การประกาศความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งก็เหมือนการยกภูเขาออกจากอก เพราะถือว่าได้แสดงเจตนาอันบริสุทธิ์โดยยึดโยงทุกอย่างตามกระบวนการและเงื่อนเวลาที่กฎหมายระบุไปหมดแล้ว ดังนั้น หากการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไป จึงไม่ใช่เรื่องของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เป็นปัจจัยอย่างอื่น ซึ่งในที่นี้คงหนีไม่พ้นกรธ.และสนช.
แต่ฟากของกรธ. มีชัย ฤชุพันธุ์ นั่งยันนอนยันมาตั้งนานแล้ว หลังกระบวนการยกร่างกฎหมายลูกแล้วเสร็จ ถือว่าได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว หากจะมีการปรับแก้หรือทักท้วงใดๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อย้อนกลับไปดูสิ่งที่ครูหยุยพูดก็ยิ่งทำให้เห็นว่าใครหรือกลุ่มใด ที่จะเป็นปัจจัยหรือตัวถ่วงทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป
พิจารณาจากร่างกฎหมายที่เหลืออยู่ในมือกรธ.วันนี้ จะเห็นได้ว่ามีโจทย์ยากอยู่ในมือแทบทั้งสิ้น ร่างกฎหมายที่ว่าด้วยป.ป.ช. องค์กรที่ได้รับผลกระทบส่งข้อทักท้วงกลับมาก็พบว่ามีมุมมองที่เห็นต่างจากกรธ.แทบทุกมาตรา เมื่อเป็นเช่นนั้นย่อมที่จะส่งผลต่อเงื่อนเวลาในการพิจารณาก่อนที่จะส่งไม้ต่อไปยังสนช. และยิ่งมีประเด็นขัดแย้งมาก ก็มีโอกาสที่จะถูกทักท้วงหรือซักถามมากขึ้นเท่านั้น
ขณะที่ร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ปมปัญหาที่มีชัยบอกมาเองเป็นเรื่องการเลือกไขว้กันของกลุ่มต่างๆ ที่เกรงว่าสนช.จะทักท้วงหนัก หากเป็นเช่นนั้นจริงก็มีโอกาสที่ร่างกฎหมายจะถูกอภิปรายอย่างกว้างขวาง สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมและถ้าสนช.ยังติดใจก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาจรุนแรงถึงขั้นถูกตีตกก็เป็นได้
ไม่ต่างกันกับร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. หากสนช.เห็นต่างจากกรธ.แบบหนังคนละม้วน ก็ยิ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ อะไรที่คิดว่าง่ายทุกอย่างต้องตามใจแป๊ะ แต่ถ้าแป๊ะเกิดใจดีขึ้นมาและอยากจะยึดเอาหลักการอันเป็นประชาธิปไตย ปล่อยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องว่ากันไปตามกระบวนการ นั่นเท่ากับว่า โรดแมปเลือกตั้งจะขยับไปเป็นต้นปี 2562 จะเป็นความจริงขึ้นมาทันที
ในระหว่างรอกระบวนการของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อจิ๊กซอว์ให้ชัดว่าจะเลือกตั้งกันได้เมื่อใด การขับเคลื่อนงานนโยบายของรัฐบาลคสช.ก็ต้องลุ้นกันทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย คนยากคนจน ท่านผู้นำประกาศไว้แล้วการช่วยเหลือจะยึดโยงกับหลักความเป็นจริง ไม่หว่านเม็ดเงินไปมั่วซั่ว
ทว่าปัญหาที่คนอดตั้งคำถามไม่ได้คือ นับตั้งแต่บริหารประเทศมากว่า 3 ปี เม็ดเงินที่ใช้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก มันแปรกลับมาในรูปของตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นมรรคเป็นผลมากน้อยขนาดไหน เอาแค่การช่วยคนจนจากแจกคนละ 1,500-3,000 บาทเมื่อปีที่แล้ว มาสู่บัตรสวัสดิการของรัฐหรือบัตรคนจน มีคำถามตามมามากเหลือเกินว่าช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยจริงหรือ
ความจริงสิ่งที่ จาตุรนต์ ฉายแสง ตั้งข้อสังเกตก็ถูกส่วนหนึ่ง กล่าวคือโครงการบัตรคนจน เริ่มต้นด้วยความสับสน มีข้อห่วงใยและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก การกำหนดนโยบายที่เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ไม่ควรทำกันแบบเพิ่มนั่นเติมนี่ไปตามใจชอบ โดยไม่รู้ว่ากำลังจะเดินไปสู่อะไร แต่ควรจะมีกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์นโยบายอย่างเป็นระบบที่ต้องเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางไม่ใช่อย่างที่ทำกันอยู่ แต่เมื่อเลือกที่จะเดินกันแบบตัวกูของกูต้องยอมรับบทสรุปที่จะเกิดขึ้นว่ามันคุ้มค่าแก่การลงทุนหรือสูญเปล่าเป็นประเภทตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ