PTTEP ถลำลึกในก้นเหว

วันนี้ มีคำถามผุดขึ้นทันที 2 คำถามว่า 1) โครงการ มาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดาที่บริษัทลูกของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ประกาศ "ปรับแผนลงทุน" (ใช้คำที่ดูดีกว่า "ยกเลิก" หลายเท่า เพราะมีคำต่อท้ายว่า "การชะลอการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย" ปนเปื้อนด้วย) อยู่ที่ไหนกันหนอ?


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

วันนี้ มีคำถามผุดขึ้นทันที 2 คำถามว่า

1) โครงการ มาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดาที่บริษัทลูกของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ประกาศ “ปรับแผนลงทุน” (ใช้คำที่ดูดีกว่า “ยกเลิก” หลายเท่า เพราะมีคำต่อท้ายว่า “การชะลอการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย” ปนเปื้อนด้วย) อยู่ที่ไหนกันหนอ?

2) ทำไมการ “ปรับแผนลงทุน” ดังกล่าวต้องทำให้ PTTEP ต้องบันทึกการขาดทุนทางบัญชีจากการด้อยค่ามากถึง 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือโดยประมาณเท่ากับ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขขาดทุนสุทธิไตรมาสสามปีนี้ของบริษัทตกประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท หรือทำให้กำไรของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT หดหายไปมากกว่า 7.0 พันล้านบาท

ก่อนตอบคำถามข้างต้น ข่าวจากนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTEP แจ้งก่อนปิดงบไตรมาสสามว่า กรณีที่บริษัท PTTEP Canada Limited (PTTEPCA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PTTEP ได้เข้าลงทุนในโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดา โดยมีการถือสัดส่วนการลงทุนจำนวน 100% ได้พิจารณาปรับแผนการพัฒนา ซึ่งรวมถึงการชะลอการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) ของโครงการออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับผลการศึกษาการพัฒนาโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท “คำนึงถึงความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์” ภายใต้สภาวะอุตสาหกรรมปัจจุบัน

พูดภาษาชาวบ้านคือ ยิ่งขืนทำยิ่งเจ๊งหนัก…นั่นเอง

การปรับแผนดังกล่าว ส่งผลให้ในไตรมาสสามนี้ บริษัทจะรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เป็นจำนวนประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นไปตามมาตรฐานทางบัญชี … แต่การด้อยค่าของสินทรัพย์ดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินสดในมือ และกระแสเงินสดของบริษัทแต่อย่างใด

พลิกปูมเก่าแก่ พบว่า โครงการมาเรียน่า ออยล์ แซนด์ นั้นก่อนหน้านี้ ถูกเรียกในชื่ออื่น โดยที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีการ สว๊อปโครงการที่เดิม ซึ่งสร้างความเสียหายก่อนหน้าของ PTTEPCA กับเจ้าของเดิมคือ สแตท ออยล์ ของนอร์เวย์ แต่ในชื่อบริษัทย่อย สแตทออยล์ แคนาดา

ทั้งนี้ ข่าวแต่เดิมระบุว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 บริษัท PTTEPCA ได้ลงนามในสัญญา PURA กับสแตทออยล์ฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือสัดส่วน ด้วยการแลกเปลี่ยนการถือสัดส่วนร้อยละ 40 ในแหล่ง Leismer และ Corner (LC) เพื่อได้มาซึ่งสัดส่วนร้อยละ 60 ในแหล่ง Thornbury, Hangingstone และ South Leismer (THSL) รวมถึงเงินสดจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินสดที่คำนวณจากเงินทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 จนกระทั่งวันที่สัญญามีผลสมบูรณ์ หรือประมาณ 235 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ในเดือน พ.ค. ทำให้ PTTEPCA จะถือสัดส่วนร้อยละ 100 และเป็นผู้ดำเนินการในแหล่ง THSL และจะได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากบริษัทสแตทออยล์ แคนาดา ในขณะที่บริษัทสแตทออยล์ถือสัดส่วนร้อยละ 100 และเป็นผู้ดำเนินการในแหล่ง LC

การแลกเปลี่ยนสัดส่วนในโครงการ KKD ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารและกลั่นกรองการลงทุน (portfolio management) เพื่อให้บริษัทฯ สามารถบริหารแผนการลงทุนและได้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานในระดับที่น่าพอใจภายใต้สภาพแวดล้อมของธุรกิจในปัจจุบัน

ข้อเท็จจริงเดิมนี้เท่ากับการยืนยันว่า มาเรียน่า ออยล์ แซนด์ ก็คือ Thornbury, Hangingstone และ South Leismer (THSL) หรือเดิมเรียกกันว่า Thornbury นั่นเอง… เอกสารของ PTTEP ก็ยืนยันชัดเจน

คำตอบข้อแรกเสร็จแล้ว มาสู่คำตอบข้อต่อไป

ครั้งเมื่อปี 2557 นั้น ผู้บริหารของ PTT และ PTTEP ต่างยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า การโอนสิทธิ์ไขว้ในสัมปทานขุดเจาะ ออยล์ แซนด์ระหว่างสัมปทานเก่ากับใหม่นั้น “….ทำให้ PTTEP ลดค่าใช้จ่ายการลงทุน 5 ปี 2557 ไปได้ 2 พันล้านเหรียญ แลกกับปริมาณการผลิตและการขายปิโตรเลียมลดลง 2% ….” และสำทับอีกว่า “….มั่นใจสามารถพัฒนาแหล่ง Thornbury เฟสแรกได้ในปี 2562 ….”

เบื้องหลังการตัดสินใจครั้งปี 2557 ระบุว่า “….เนื่องจาก PTTEP ต้องการเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) เองดีกว่า หลังจากเข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 40 มาตั้งแต่ปี 2553 และร่วมงานกันมา 2-3 ปีแล้ว (ใน 5 พื้นที่โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ เคเคดี (KKD)) มีความมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาแหล่งดังกล่าวได้ด้วยตนเอง เพราะที่ผ่านมาการบริหารงานโดยสแตทออยล์ประสบปัญหาการขาดทุน เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง แต่ราคาขายลดลง ….”

ความเชื่อมั่นที่เคยเอ่ยอ้างเมื่อ 3 ปีก่อน เหือดหายไปได้อย่างไร… หรือว่าวิสัยทัศน์ที่เคยชูสูงเมื่อยุคน้ำมันแพง ถูกบั่นทอนไปไม่เหลือหรอ….เป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบทันที

แรกเริ่มเดิมทีนั้น PTTEP ในยุคของนายอนนท์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ทุ่มเงินเข้าลงทุน (ไม่ระบุจำนวนเงิน) ร่วมกับ สแตทออยล์ แคนาดาในแหล่ง KKD ประกอบด้วย 5 พื้นที่หลัก ได้แก่ เลสเมอร์, คอร์นเนอร์ (Corner), ธอร์นเบอรี่ (Thornbury), แฮงกิ้งสโตน (Hangingstone) และเซาท์ เลสเมอร์ (South Leismer) โดยมีปริมาณ Bitumen ที่คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 4.3 พันล้านบาร์เรล มีการพัฒนาการผลิตจากแหล่งใต้ดิน (in-situ) โดยใช้ไอน้ำแบบ Steam Assisted Gravity Drainage (SAGD) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาและเป็นที่ยอมรับ โดยคาดว่าจะมีอายุการผลิตของโครงการยาวนานกว่า 40 ปี

ครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นย่างก้าวไปต่างประเทศที่อึกทึกครึกโครมของ PTTEP ถึงขั้นพาคณะผู้สื่อข่าวชุดใหญ่ไปดูว่า เป็นโครงการสุดยอดวิสัยทัศน์ยาวไกลกว่า 100 ปีกันทีเดียว พร้อมคำอธิบายว่า สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ดึงเอาน้ำมันดิบจากบิทูเมน (น้ำมันดิบที่มีความหนืดสูง ที่อยู่ในออยล์ แซนด์) ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และคุ้มค่าต่อการลงทุน

ชะตากรรมของ PTTEP พลิกผัน เพราะราคาน้ำมันดิบเริ่มถดถอยในปี 2558 เป็นต้นมา และเทคโนโลยีแปลงบิทูเมนเป็นน้ำมันดิบ ไร้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทำให้กลางปี 2558 นักวิเคราะห์พากันปรับมุมมองเชิงลบต่อการลงทุนของ PTTEP โดยคาดว่าจะบันทึกด้อยค่าของสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ และมอนทาราในประเทศออสเตรเลีย ประมาณ 270 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 6% ของมูลค่าทรัพย์สิน แม้ว่าสัญญาป้องกันความเสี่ยง (hedged) ในสัดส่วน 70% ของปริมาณยอดขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวของบริษัทในไตรมาสที่ 4/57 ที่ระดับราคาประมาณ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล มาช่วยชดเชยผลขาดทุนไว้ได้

แต่…..บรรดานักวิเคราะห์ก็คาดเดาผิดหมด เพราะปีนั้น PTTEP ยอมเผชิญกับผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ 4.62 หมื่นล้านบาท จากการบันทึกการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ (impairment charges) ที่ประกาศออกมาสูงถึง 4.98 หมื่นล้านบาท โดยไม่รวมการด้อยค่าจากโครงการในแคนาดาเข้าไปด้วย

จะบอกว่า ผู้บริหาร PTTEP เล่นเกม “ซื้อเวลา” กับตัวเลขด้อยค่าแหล่ง ออยล์ แซนด์ มานานกว่า 2 ปี ….ก็อาจจะไม่ผิด แต่ไม่ถูกต้องแน่นอน

รู้กันแค่ว่าบันทึกด้อยค่าปีนี้ (นัยหนึ่งคือ คัท ลอสส์) มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดเดาเดิมไว้กว่า 100%….ถลำลึกไปอักโขภิณีเลยเชียว

งานนี้ เนติบริกรคนล่าสุดของ PTT อย่าง นางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ อดีตนักกฎหมาย “มือทอง” ของสำนักดัง บริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และเพียงพนอ จำกัด คงต้องมานั่งเหนื่อยกับการประดิษฐ์คำ “แก้ต่าง” เพิ่มเติม เพื่อให้ภาพลักษณ์ของ PTTEP จากบาดแผลของ ออยล์ แซนด์ ไม่ขี้เหร่เกินกว่าเหตุ

อิ อิ อิ

Back to top button