เข้าสู่ช่วงเวลาพะวักพะวน
ในที่สุด ตัวเลขการขายทิ้งหุ้นไทยของฟันด์โฟลว์ต่างชาติก็ไม่อาจปิดบังได้มิด เพราะล่าสุดวานนี้หลงปิดตลาดไปแล้ว ปรากฏว่า ยอดสะสมซื้อสุทธิของต่างชาติในตลาดหุ้นไทย ตลอดปี 2560 เหลือเพียงแค่ 2.45 พันล้านบาททนั้น
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ในที่สุด ตัวเลขการขายทิ้งหุ้นไทยของฟันด์โฟลว์ต่างชาติก็ไม่อาจปิดบังได้มิด เพราะล่าสุดวานนี้หลงปิดตลาดไปแล้ว ปรากฏว่า ยอดสะสมซื้อสุทธิของต่างชาติในตลาดหุ้นไทย ตลอดปี 2560 เหลือเพียงแค่ 2.45 พันล้านบาททนั้น
คำอธิบายและตรรกะนักวิเคราะห์หลายรายที่ยอมรับข้อเท็จจริงว่า ฟันด์โฟลว์ต่างชาติแอบไหลออกในช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยทำท่าจะไปต่อเหนือ 1,730 จุด ระบุว่า มาจากปัญหาถอนตัวกลับไปแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการมืองในสเปน และการเมืองในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคำอธิบายแบบขอไปทีธรรมดา
พฤติรรมของฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับบรรดานักวิเคราะห์ที่พากันสรุปง่ายๆ ไม่กี่วันก่อนที่ว่า ต่างชาติมาแล้ว และยิ่งบอกว่าจะมากันมากขึ้นในช่วงถัดไป ก็เป็นแค่ความคาดหวังที่เลื่อนลอยเสมือน “วิมานเมฆ” อย่างแท้จริง
ความหวังของตลาดหุ้นไทยจากนี้ไป จึงอยู่ที่ว่า จะต้องพึ่งพาแรงซื้อของกองทุนในประเทศ โดยเฉพาะที่มีคนบอกว่า กองทุน RMF-LTF ที่เหมือนจะพร้อมลุยแหลก เพื่อตอกย้ำว่า เศรษฐกิจไทยยังดี
การที่ฟันด์โฟลว์ที่เข้ามาในตลาดหุ้นไทยต่ำเกิน (แถมยังแอบหนีก่อนใครเพื่อน) ทั้งที่ใครก็รู้ดีว่า กระแสเงินท่วมโลกที่มากกว่า 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะยังคงเป็นกระแสครอบงำโลกต่อไปจนกว่าจะถึง ต้นปี ค.ศ 2019 (เว้นแต่ธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นจะลดหรือเลิกมาตรการ QE ก่อนกำหนด) ทำให้คำถามเดิมว่านี่คือ ดัชนีตลาดที่พุ่งแรงในสองเดือนที่ผ่านมา เป็นกระทิงแท้ หรือ กระทิงเทียม หวนคืนกลับมาอีก
ก่อนหน้านี้ ส่วนนักวิเคราะห์ที่เข้าใจกระแสฟันด์โฟลว์ช่ำชองอย่างบริษัทหลักทรัพย์ที่ติดต่อกับกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติ จะมองอีกอย่างว่า ต่างชาติรอบนี้เป็นแค่การลี้ภัยชั่วคราว เพื่อเก็งกำไรระยะสั้นๆ จนกว่าสถานการณ์ชัดเจนเรื่องค่าดอลลาร์ อัตราดอกเบี้ยของเฟดฯ และราคาน้ำมัน ไม่ใช่ภาวะกระทิงแท้แต่อย่างใด แต่ก็หามีคนแยแสน้อยมากจนแทบไร้พลัง
ข้อเท็จจริงจากภาวะพลิกผันกะทันหันชองตลาดหุ้นไทยในหลายวันมานี้ บ่งบอกว่าความเป็นไปได้ที่ภาวะกระทิงของตลาดหุ้นไทยรอบนี้ น่าจะยังคงเป็นกระทิงเทียมมากกว่ากระทิงแท้ และกำลังจะจบสิ้นลง เป็นสิ่งที่พึงระวังให้รอบคอบ เพราะเส้นแบ่งระหว่างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า breakout (ผ่าทางตัน) กับ fake out (ล่อลวง) บางเบาอย่างมาก หากปราศจากการตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์
บทวิเคราะห์ของกองทุนการเงินระว่างประเทศและธนาคารโลกล่าสุด มีมุมมองร่วมที่ชัดเจนคือ พื้นฐานของปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นเป็นขาลงนั้นยังไม่ได้รับการขจัดปัดเป่าออกไป ซึ่งหมายถึงแนวรับของตลาดที่แท้จริงยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าแข็งแกร่งแค่ไหน เพราะแม้ปัจจัยลบเหล่านั้นอาจไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกพังทลายไป แต่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมมีลักษณะ “ซึมยาว” และผันผวนไปมา มีทั้งข่าวดีและร้ายสลับกันไปที่สั่นคลอนตลาดเก็งกำไร และข่าวร้ายจะมีมากกว่าข่าวดีเสมอ
ภาวะกระทิงรอบนี้ที่จะจบลงอีกไม่นานเกินรอ แม้จะยืนยันและตอกย้ำว่า โอกาสของการลงทุนเก็งกำไรไม่ได้สูญหายไปสิ้นเชิง แต่การที่นักลงทุนจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ซับซ้อนเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องของ “มือสมัครเล่น” แน่นอน
การแกว่งตัวรุนแรงระหว่างวันของสัปดาห์นี้ รุนแรง บ่งบอกถึงความมั่นใจที่เริ่มคลอนแคลนมากขึ้นของนกลงทุนกลุ่มต่างๆ แม้ว่า จะยังมีข่าวดีเจือปนเช่น ตัวเลขเศรษฐกิจของเดือน ก.ย. จากธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาได้ค่อนข้างดีประคองเอาไว้ แต่ก็ได้แค่ประคองตัว ไม่สามารถขับเคลื่อนไปเนือแนวต้านใหม่ๆ ได้ เพราะยังมีแรงกดดันจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่า
มุมมองของนักวิเคราะห์หลายสำนักที่ระบุว่า ภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากที่หลายหน่วยงานเริ่มปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/60 ที่ทยอยประกาศออกมา คาดว่ามีสัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนที่มีผลการดำเนินงานที่สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าสูงถึง 75% ทำให้ยังช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยให้สามารถปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น
ในทางตรงข้าม ปัจจัยลบจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นมาจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐออกที่มาดีกว่าคาดการณ์หลายตัว เช่น ตัวเลขภาคการผลิตและภาคการบริการที่มีการเติบโตขึ้นดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจน
ภาวะเช่นนี้ เสียงเตือนสติมีความสำคัญอย่างมาก จะไม่ฟังเสียเลยก็อาจหลงทาง จะฟังมากเกินไปก็ทำให้โลเลได้ง่ายเกิน