เงินเฟ้อในกลไกเศรษฐกิจ

ตัวเลขไม่เคยโกหก แต่คนแถลงตัวเลขจะโกหกหรือไม่ ต้องพิจารณากันให้ดี โดยเฉพาะตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจที่เปิดเผยโดยหน่วยงานรัฐที่ยิ่งใหญ่ และพร้อมจะ "ทาสีใหม่" เสมอเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ตัวเลขไม่เคยโกหก แต่คนแถลงตัวเลขจะโกหกหรือไม่ ต้องพิจารณากันให้ดี โดยเฉพาะตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจที่เปิดเผยโดยหน่วยงานรัฐที่ยิ่งใหญ่ และพร้อมจะ “ทาสีใหม่” เสมอเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

เมื่อวานตอนสาย น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ออกมาแถลงข่าวตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน โดยเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ตุลาคมที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้น 0.86% จากเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจาก 0.16% จากเดือน กันยายน ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นของราคาผักสดช่วงเทศกาลกินเจ, ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียมีแผนขยายเวลาลดกำลังการผลิตจนถึงสิ้นปี 2561 จากเดิมในเดือน มี.ค. 61 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการปรับขึ้นราคาสินค้าบุหรี่และสุราจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ในเดือนก่อนหน้า

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 0.62%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหรือ Core CPI เดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ 101.53 ขยายตัว 0.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.09% จากเดือน ก.ย. 60 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ยช่วง 10 เดือนปี 60 ขยายตัว 0.54%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ในกรอบ 0.4-1.0% โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 4/60 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 1% ส่วนแนวโน้มในปี 61 นั้นจะขอติดตามสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ก่อนจะสรุปออกมาเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้าต่อไป

อัตราเงินเฟ้อที่ดีขึ้น มีคำอธิบายว่า มาจากสมมติฐานหลัก 3 ข้อ คือ 1.เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 3-4% โดยเชื่อว่าจะมีการขยายตัวอย่างสม่ำเสมอจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นและการส่งออกที่ฟื้นตัว 2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีนี้อยู่ที่ระดับ 45-55 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ 3.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ อยู่ที่ระดับ 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงปลายปีจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

การแถลงตัวเลขที่คัดสรรมาแล้วว่าดูดี ของ น.ส.พิมพ์ชนก ดังกล่าว ดูเหมือนว่าจะลืมตัวเลขเดิมที่เธอผู้นี้เคยแถลงเอาไว้เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ว่ามันขัดแย้งกันพอสมควร และดูย้อนแย้งกับความพยายามของรัฐบาลที่พยายามพร่ำบอกประชาชนในเดือนหนึ่งที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยกำลังดีขึ้น

หากย้อนไปดูข้อมูลเก่าเมื่อวันที่ 4 มกราคมปีนี้ น.ส.พิมพ์ชนก ออกมาเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ธ.ค. 2559 อยู่ที่ระดับ 106.93 เพิ่มขึ้น 1.13% เมื่อเทียบจากระยะเดียวกันของปีก่อนถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงในอัตราสูงที่สุดในรอบ 25 เดือน โดยที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2559 ขยายตัว 0.19% ยังอยู่ภายใต้กรอบคาดการณ์ที่ 0.0-1.0% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.74% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

ครั้งนั้น คำอธิบาย คือ ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นตามการปรับตัวของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการที่ใช้พลังงาน

ขณะเดียวกัน น.ส.พิมพ์ชนกในคราวนั้นก็บอกอีกว่า ในปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะขยายตัวในกรอบ 1.5-2.0% ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3.0-3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 45-55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2560 ในช่วง 10 เดือน อยู่ที่ 0.62% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.54% ถือว่าต่ำกว่ากรอบเป้าหมายล่างสุดของกรอบที่กำหนดเอาไว้ แม้จะสูงกว่าปี 2559 ที่ต่ำเตี้ยแค่ 0.19%

โดยสรุปแล้ว อัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้ พ้นจากจุดต่ำสุด และพ้นจากภาวะเงินเฟ้อติดลบ (disinflation) แต่ยังไม่พ้นสภาพกับดักสภาพคล่อง เรียกว่ายังเป็น “บัวปริ่มน้ำ” ต่อไป เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ต้องเผ้าระวัง เช่น 1.) ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย 2.) ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังล้นตลาด 3.) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย

ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยเงินเฟ้อดังกล่าวไม่สำคัญเท่ากับการตีความตัวเลข เพราะเห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมาได้มีปรากฏการณ์ที่สะท้อนความสามารถพิเศษของหน่วยงานรัฐไทย ในการพยายามเสกสรรค์สร้างภาพและคำอธิบายถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจให้เป็นประโยชน์กับผู้กุมอำนาจรัฐจนดูดีเกินจริงได้ทุกสถานการณ์

เวลาที่ราคาสินค้าสูงขึ้น และเงินเฟ้อเริ่มผงกหัวขึ้น หน่วยงานรัฐไทยทุกแห่งจะหลบเลี่ยงคำว่า “ราคาสินค้าแพงขึ้น” ไม่ให้ติดที่ปลายลิ้น ทั้งที่ความหมายของเงินเฟ้อนั้น เชื่อมโยงเข้ากับราคาสินค้าที่สูงขึ้น เมื่อใดที่เงินเฟ้อมากขึ้น หมายถึงราคาสินค้าที่แพงขึ้น และเมื่อใดที่ “เงินเฟ้อติดลบ (disinflation)” ก็หมายถึงราคาสินค้าที่ถูกลง

ในปัจจุบัน ภูมิความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่แพร่หลาย ทำให้มุมมองถึงเหตุปัจจัยของการที่ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น ถูกพิจารณาในมุมมองที่รอบคอบกว่าอดีตว่า ต้องมีสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือทั้งหมด กล่าวคือ 1.) มีการเพิ่มปริมาณเงินในตลาดมากขึ้น 2.) มีการลดลงของสินค้าและบริการในตลาด 3.) มีการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์กะทันหัน เช่น มีประชากรเข้ามาในตลาดมากขึ้นเร็วกว่าปกติ

กลับกัน กรณีราคาสินค้าลดลงก็ต้องเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือ ทั้งหมดว่า 1.) มีปริมาณเงินในตลาดลดลง 2.) มีอุปทานของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 3.) มีการลดลงของอุปสงค์อย่างรวดเร็วเกินปกติ

ในทางปฏิบัตินโยบายการเงินของชาติต่างๆ จะให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษกับปริมาณเงินที่หมุนเวียนในตลาดนั่นเอง ที่เป็นกุญแจหลักชี้ขาดว่าเงินจะเฟ้อมากหรือน้อย โดยมีข้อสรุปง่ายๆ ว่ามูลค่าของเงินแปรผกผันกับเงินเฟ้อ ในขณะที่มูลค่าของสินค้าแปรผันตรงกับเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อนั้นมีลักษณะ 2 ด้านเสมอ ไม่ใช่เรื่องของราคาสินค้าอย่างเดียว แต่มันสะท้อนว่าผลประโยชน์ของคนกลุ่มไหนในกลไกเศรษฐกิจ ได้รับการดูแลมากหรือน้อยกว่ากัน

ในกรณีของไทย ผลประโยชน์ของรัฐ อยู่เหนือผลประโยชน์ของกลุ่มอื่นในสังคมเสมอ

Back to top button