ไทยคม : เหยื่อแห่งเงาปีศาจ
เส้นแบ่งระหว่าง “ยุคสัมปทาน” กับ “ยุคใบอนุญาต” ในกิจการโทรคมนาคม ควรต้องเป็นปี 2553 ภายหลังพ.ร.บ.เกี่ยวกับองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงค์
เส้นแบ่งระหว่าง “ยุคสัมปทาน” กับ “ยุคใบอนุญาต” ในกิจการโทรคมนาคม ควรต้องเป็นปี 2553 ภายหลังพ.ร.บ.เกี่ยวกับองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย
การเข้าสู่ยุคใบอนุญาต อาจจะเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นยุคเปิดเสรีโทรคมนาคม เพื่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมก็ว่าได้ ซึ่งก็แน่นอน จะต้องมีการขจัดการผูกขาดโดยรัฐ
หน่วยงานรัฐทั้งหลาย ไม่ว่าทีโอที หรือ แคท เทเลคอม ซึ่งแต่ก่อนเป็นทั้งผู้คุมกฎและผู้ให้บริการ ก็ต้องสละฐานะผู้คุมกฎออกไป เหลือเพียงหมวกใบเดียว คือโอเปอเรเตอร์ หรือ ผู้ให้บริการเท่านั้น
กระทรวงไอซีทีตอนนั้น หรือ กระทรวงดีอีเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตอนนี้ ซึ่งแต่ก่อนมีอำนาจล้นเหลือ ก็ต้องลดทอนอำนาจลงมาเป็นแค่ผู้นำทางด้านนโยบายปฏิบัติเท่านั้น
อำนาจจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ และคลื่นโทรคมนาคม และการกำกับดูแลกิจการ ถูกถ่ายโอนไปยังกสทช.ทั้งสิ้น
ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 เป็นดาวเทียมที่เกิดขึ้นหลังปี 2553 และย่อมแน่นอนว่าเป็นดาวเทียมที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช.อย่างไม่ต้องสงสัย
แต่กระทรวงดิจิทัลฯโดย รมต.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ สงสัย และไม่เพียงแต่สงสัยธรรมดาเท่านั้น ยังได้มีหนังสือเมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมาไปยังบริษัทไทยคม ยื่นคำขาดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายใต้สัมปทานให้ครบถ้วน
ใบอนุญาตกสทช.ต้องไร้ความหมาย และต้นทุนประกอบการของบริษัทไทยคมก็ต้องเปลี่ยนไป
จากการจ่ายค่าใบอนุญาตราว 5% กว่า ต้องกลับไปสู่ระบบแบ่งรายได้สัมปทานในอัตราร้อยละ 22.5 ต้นทุนประกอบการจะสูงขึ้นมากมาย
จากบริษัทที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นไข้ ตั้งแต่เปิดดำเนินการปี 2534 มา เพิ่งจะมีกำไรเอาในปี 2556 ยุค ศุภจี สุธรรมพันธุ์เอง ก็อาจจะกลับไปเป็นบริษัทที่จมอยู่กับผลประกอบการขาดทุนต่อไปอีก
ปี 49-50 หลังการรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ก็มีการปลุกระดมจะซื้อคืนดาวเทียมไทยคมจากสิงคโปร์ซะให้ได้ รมว.ไอซีทีตอนนั้นเห็นจะชื่อ สิทธิชัย โภไคยอุดม ก็กระตือรือร้นน่าดู
แต่พอล้วงลึกไปถึงไส้ในกิจการไทยคมตอนนั้น ไปเจอเอาผลดำเนินการลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งที่ใช้เงินลงทุนสูงมาก ก็ถึงกับผงะออกไป แล้วแถลงเหตุผลเอาดื้อๆ ว่า โพลสำรวจประชาชนยังให้ความเห็นด้วยจะซื้อคืนไม่ถึง75%
ก็ฮาดี!
ก่อนหน้าที่ รมต.พิเชฐ จะยื่นคำขาดให้กลับไปสู่ระบบสัมปทานมา บริษัทไทยคม ก็เพิ่งสูญเสียลูกค้ารายใหญ่ไปหยกๆ
นั่นคือบริษัทซอฟท์ แบงก์ประเทศญี่ปุ่นที่จะเช่าใช้ดาวเทียมไทยคม 9 ถึง 30% เนื่องจากกระทรวงดีอีได้สละสิทธิ์การจองวงโคจรดาวเทียมไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2558
อาจจะเนื่องมาจากไม่มีปัญญาให้หน่วยงานรัฐทำเอง หรือไม่ก็อาจจะระแวงว่าต้องยกดาวเทียมลูกที่ 9 และ 10 ไปให้ไทยคมทำอีก ก็ไม่รู้สิ
กรณี รมต.กระทรวงดิจิทัลฯมีหนังสือไปยังบริษัทไทยคม ให้กลับมาเป็นบริษัทรับสัมปทาน ทั้งที่หมดยุคหมดสมัย เป็นบริษัทที่ข้ามแดนเข้ามาเป็นบริษัทรับอนุญาตจากกสทช.ไปแล้ว จึงค่อนข้างจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ ว่า เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาได้อย่างไร
คนเป็นถึงระดับเสนาบดีไม่รู้หลักกฎหมายเชียวหรือว่า กฎหมายใหม่ย่อมล้มล้างกฎหมายเก่า และในรายละเอียดของกฎหมายใหม่ก็ระบุไว้ชัดแล้วว่า ไม่กระทบต่อกิจการใดที่ผูกพันทำกันมาในอดีต
นั่นคือดาวเทียมไทยคม 1-6 อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ก็ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามเดิมกันต่อไป แม้มีกฎหมายใหม่ออกมาแล้ว แต่ดาวเทียมไทยคม 7-8 ซึ่งทำขึ้นหลังกฎหมายใหม่แล้ว ก็ต้องยึดถือปฏิบัติเป็นระบบใบอนุญาต
การเรียกร้องหรือใช้อำนาจบังคับใดให้กลับสู่ระบบสัมปทาน จึงเป็นเรื่องกระทำการผิดกฎหมาย
ยิ่งบริษัทไทยคมนำเรื่องฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการ แล้วรมต.พิเชฐท้าทายให้ฟ้องศาลปกครองไปเลย ยิ่งแสดงความไม่รู้กฎหมายของรัฐมนตรีเข้าไปใหญ่ เพราะเป็นข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา
ปีศาจทักษิณนี่มันแรงจริงๆ แม้แค่เงา คนก็ยังผวา ถึงกับจะชักพากิจการโทรคมนาคมย้อนยุคสู่ป่าเขา