ปรับครม.ประยุทธ์ 5

การลาออกจากตำแหน่งกะทันหันของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดีการสังคม เป็นตัวเร่งให้การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่เกิดขึ้นรวดเร็ว


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

การลาออกจากตำแหน่งกะทันหันของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดีการสังคม เป็นตัวเร่งให้การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่เกิดขึ้นรวดเร็ว

แม้พลเอกประยุทธ์จะยอมรับว่ากำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาปรับ ครม. “ประยุทธ์ 5” ปีนี้ เผยเห็นตรง “บิ๊กป้อม” โดยจะทำให้สัดส่วนรัฐมนตรีที่มาจากอดีตและนายทหารลดลง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการปรับใหญ่โตอะไรมากมาย

กระแสข่าวลือเรื่องบุคคลและเหตุผลของการปรับ ครม.ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในลักษณะ“เก้าอี้ดนตรีแห่งอำนาจ” (เช่น ใครจะลงตำแหน่งไหน ใครจะเข้า ใครจะออก ใครจะย้ายขึ้น หรือย้ายลง) ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นข่าวดีหรือร้ายต่อตลาดหุ้นในระยะต่อไปมากแค่ไหน ยังเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ

สำหรับคนที่ไร้เดียงสาทางการเมืองและอำนาจ (ถึงขั้นไม่เคยรู้จักหรืออ่านแม็กเคียเวลลีมาก่อนเลยผม) อาจะเชื่อโดยหลงผิดว่าคณะบุคคลในทำไมรัฐบาล นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการและผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นผู้สละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม อีกทั้งรักชาติอย่างหาที่เปรียบมิได้ หรือ “รักชาติทั้งยามตื่นและยามหลับ ปานจะกลืนกิน” แต่มายาคติเช่นนั้น ในทางปฏิบัติเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่ามีแต่ในเทพนิยายที่เสกสรรปั้นแต่ง

ในโลกของการเมืองแบบแม็กเคียเวลลีไม่เคยมี และจะไม่มีวันมี ที่การถือกำเนิดและปรับเปลี่ยนทางอำนาจใด เกิดขึ้นมา เพื่อประโยชน์ประชาชนตามคำกล่าวอ้างใดๆ ยกเว้นคำกล่าวอ้างว่าเพื่อรักษาอำนาจให้ยืดยาวออกไป

การปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อเป้าหมายหลังรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล มีความหมายแตกต่างจากเสถียรภาพของระบอบการเมืองการปกครองอย่างตรงกันข้ามเสมอ

ผู้นำรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากเส้นทางสายไหน ล้วนต้องการอำนาจ ไม่มีประธานาธิบดี หรือ นายกรัฐมนตรีคนใดไม่ต้องการอำนาจ เพราะเหตุผลหลักของอำนาจ นอกจากไม่เพียงแต่ช่วยเสริมส่งสถานะในสังคมเท่านั้น หากยังช่วยดูดซับทรัพย์ศฤงคาร และส่วนเกินทางเศรษฐกิจทั้งปวงอีกด้วย การปรับ ครม. ล้วนเป็นไปเพื่อเขม็งเกลียวบังเหียนแห่งอำนาจทั้งสิ้น ความแตกต่างของการปรับ ครม.ระหว่างรัฐบาลจากการเลือกตั้งและจากวิธีการอื่น อยู่ที่ท่าทีจากเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้น

รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะตกเป็นฝ่ายถูกตรวจสอบแรงจูงใจ และกระบวนการ รวมถึงความชอบธรรมด้านอื่นๆ ของตัวบุคคลที่ถูกปรับเข้าหรือออก แต่รายละเอียดทั้งหลายล้วนมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การตรวจสอบเพื่อคาดเดาอนาคตว่าด้วย ชะตากรรมของรัฐบาลหลังการปรับ ครม.ว่าจะมีความคงทน หรือ ความสามารในการขับเคลื่อนนโยบายได้ยั่งยืนแค่ไหน

รัฐบาลที่ถูกคาดว่าจะมีอายุแสนสั้นในอนาคต ย่อมทำให้นักลงทุนทั่วไปมีมุมมองเชิงลบ เพราะความสามารถในการดำเนินนโยบายที่มีมิติด้านเวลาสั้น การขับเคลื่อนนโยบายได้ไม่ต่อเนื่อง และไม่มั่นคง

ในกรณีของไทย แม้ว่าเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ชาติ 6 แนวทาง ในเงื่อนไข 20 ปี ตามที่ คสช.กำหนดเอาไว้ และกำลังจะมีกฎหมายออกมารองรับ อาจถูกเหมือนสร้างภาพให้เข้าใจในเชิงทฤษฎีให้พวก “โลกสวย” เชื่อกันว่าความต่อเนื่องทางนโยบายและเสถียรภาพทางการเมืองภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ (ที่ยังไม่รู้ชัดเจนว่าคืออะไร) จะทำให้ ดัชนีตลาดหุ้นใน 2-3 ปีข้างหน้ามีโอกาสทะลวงแนวต้านขึ้นไปยืนเหนือ 2,000 จุดได้ไม่ยากลำบากนัก แต่ก็มีคำถามเดียวที่ท้วงติงขึ้นมาว่า คสช. และคณะทหารมีความสามารถกำหนด “ชี้ฟ้า ท้าดิน” ได้มากถึงขนาดนั้นเชียวหรือ

คำตอบของพวกโลกสวยก็ไม่ได้เลื่อนลอยเสียทีเดียว มีที่อ้างอิงน่าเชื่อถือ ทั้งจากการประเมินของธนาคารพัฒนาเอเชียที่บอกว่าสิ้นปีนี้จีดีพีของไทยจะโต 3.5% และปีหน้าจะโตอีก 3.6% จากการส่งออกที่ดีขึ้น แม้ตัวเลขนี้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียที่คาดว่าจะโตปีนี้ 5.7% และปีหน้าจะโต 5.8% เนื่องจากสินค้าหลายประเภทเช่น อีเล็กทรอนิกส์ เรื่องใช่ไฟฟ้า และเครื่องจักร ที่ส่งออกถูกมาตรการกีดกันทางการค้าของจีนถ่วงรั้งให้เป้าต่ำกว่าคาด

เช่นเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศก็มีมุมมองที่ดีต่อไทยเช่นกัน โดยล่าสุดมองว่าโดยมองว่าปีนี้จีดีพีจะเติบโต 3% แต่ปีหน้าจะโต 3.3%

อีกมุมมองที่เป็นบวกคือ เจ พี มอร์แกน ที่ประเมินว่าแม้ว่าการถ่วงรั้งขาขึ้นของราคาหุ้นในสหรัฐฯและยุโรปจะมีชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียยังจะเติบโตต่อไปเราะมีความเสี่ยงต่ำกว่าสหรัฐฯและยุโรปที่ราคาหุ้นนั้นสูงมากเกินสมควรแล้ว

มุมมองเชิงบวกทางเศรษฐกิจดังกล่าวน่าจะเป็นคุณกับรัฐบาลทหารของพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่น้อย แต่ต้องไม่ลืมว่ามุมมองดังกล่าวมีเงื่อนไขที่กำกับว่ารัฐบาลและคณะทหารที่กุมอำนาจเผด็จการเอาไว้ตั้งแต่กลางปี 2557 จะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใสได้ภายในก่อนสิ้นปี 2561

การปรับ ครม.ครั้งนี้ (ซึ่งข่าวว่าจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในคราวเดียวกัน) ภายใต้ข้ออ้างว่าต้องการสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม อันเป็นภารกิจช่วงโค้งสุดท้ายของ คสช. เเละรัฐบาลตามโรดเเมปเเละยุทธศาสตร์ 20 ปี ภายในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนการเลือกตั้ง จึงเป็นปริศนาชวนคิดว่า หากไม่คิดที่จะมีการต่อยอดรักษาอำนาจแล้ว ทำไมต้องเร่งสร้างผลงานในเวลากระชั้นชิดเช่นข้อกล่าวอ้าง

คำถามต่อไปคือ 3 ปีเศษที่ผ่านมา ได้ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันบ้าง นอกเหนือจากการอ้างที่ริมฝีปากถึง “ความรักชาติทั้งยามตื่นและยามหลับ ปานจะกลืนกิน” และการไล่ล่าทักษิณ ชินวัตร และพวกอย่างเอาเป็นเอาตาย

หากตอบคำถาม 2 ประเด็นข้างต้นไม่ได้ การปรับ ครม.ครั้งนี้ก็ไม่สามารถเข้าใจเป็นอย่างอื่นนอกจากคณะทหารต้องการซื้อเวลาให้เนิ่นนานโดยอ้างการเคลื่อนตัวของโรดแมปไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงข้ามจากมุมมองของพวกโลกสวย

ถ้าเป็นอย่างที่ว่า พวกโลกสวยจะทำอย่างไร ระหว่างการแสดงท่าทีเชิงลบต่อคณะทหาร หรือ ไม่ก็ ปรับมุมมองใหม่ของตนเองให้ยอมรับว่า ทหารทำอะไรก็ไม่ผิด พร้อมกับฝันกลางวันว่า สันติสุขใต้ท็อปบูตนั้น ปลอดภัยและได้ปรับประโยชน์ในฐานะ “ไก่คุ้ยกองขยะ” ที่น่าพึงพอใจกว่าการอยู่ใต้อำนาจของนักการเมืองอันเลวระยำที่น่าชัง

คำตอบคงไม่ได้อยู่ในสายลม แต่จะสะท้อนมาในราคาหุ้นและดัชนีหุ้นให้เห็นในเวลาอันรวดเร็ว

นักลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ได้กินหญ้า ฟางหรือแกลบและไม่ได้ผูกติดกับอุดมการณ์ใด นอกจากเป้า หมายเพื่อสร้างความมั่งคั่งเท่านั้น

Back to top button