พาราสาวะถี

มามุกเดิมที่เพิ่มเติมคือการเห็นภาพที่ชัดเจนต่อการคงอยู่และอยากอยู่ในอำนาจของผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งคำถามประชาชน 6 ข้อพร้อมคำอธิบาย อันประกอบไปด้วย ข้อที่ 1 เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาหรือไม่ในวันนี้ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การมีพรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ มีรัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์หรือไม่


อรชุน

มามุกเดิมที่เพิ่มเติมคือการเห็นภาพที่ชัดเจนต่อการคงอยู่และอยากอยู่ในอำนาจของผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งคำถามประชาชน 6 ข้อพร้อมคำอธิบาย อันประกอบไปด้วย ข้อที่ 1 เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาหรือไม่ในวันนี้ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การมีพรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ มีรัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์หรือไม่

ตามมาด้วยการบอกว่า ตนว่าใครหรือเปล่า ไม่ได้ว่านะ สื่ออย่าเขียนให้ทะเลาะกัน เพราะตนพูดกับประชาชน ไม่ได้พูดกับนักการเมือง คำถามข้อที่ 2 คือ การที่คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิ์ของคสช.ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว กับคำอธิบาย ตนเองจะสนับสนุนใครเป็นสิทธิ์ของตนหรือไม่ แล้วตนต้องไปเลือกตั้งหรือเปล่าก็เปล่าอีก เลือกตั้งได้ไหมก็ไม่ได้ ตนไม่ได้ลาออกก็จบแล้ว อย่างนี้แล้วตนจะไปอะไรกับเขา

“สิทธิ์ของผมมีไม่ใช่หรือ ผมสนับสนุนใครแล้วจะไปบอกใครและใครตั้งมา ผมจะไปสนับสนุนใครก็ได้ หรือไม่สนับสนุนใครเลยก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรใหม่ๆ มาผมก็ไม่สนับสนุน” ข้อ 3 สิ่งที่คสช.และรัฐบาลนี้ดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่ ข้อนี้น่าแปลกใจที่บิ๊กตู่ขยายความแค่สั้นว่า ถามรัฐบาลเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพพอหรือไม่

ข้อที่ 4 การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองก่อนหน้าที่คสช.และรัฐบาลนี้จะเข้ามา เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่

โดยท่านผู้นำมีคำอธิบายในประเด็นนี้ว่า วันนี้เห็นพูดว่าเอารัฐบาลในอดีต สมัยโน้นสมัยนี้มามันเหมือนกันไหม สถานการณ์ภายนอกมันเหมือนกัน ประชาชนเหมือนกันไหม สถานการณ์วันนี้โซเชียลมีเดียพัฒนามากไปไหม คนละเวลาหมด ก็จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีตก็ดีอยู่แล้วในบางรัฐบาล หรือบางช่วงก็แล้วแต่ก็ตาม “วันนี้อย่าลืมว่าผมเข้ามาในสถานการณ์อะไร มีความขัดแย้งหรือเปล่า สมัยก่อนขัดแย้งอย่างนี้ไหม ลืมกันหมดแล้วหรือไง”

คำถามข้อที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่อง ชัดเจนเพียงพอหรือไม่ ก่อนตั้งคำถามสั้นๆ ว่า ทำไมช่วงนี้นักการเมืองออกมาทุบคสช.จัง

คำถามที่ 6 ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหว ด้อยค่าคสช. รัฐบาล นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ ฝากถามพี่น้องประชาชนว่าเป็นเพราะอะไรอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ อยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยได้พิจารณาตัดสินใจ

แน่นอนว่าช่องทางในการตอบคำถามของประชาชนนั้นยังคงใช้กระทรวงมหาดไทยเหมือนกรณีตั้งคำถาม 4 ข้อก่อนหน้านี้ เมื่อพิจารณาจากคำถามทั้ง 6 ข้อแล้วเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นคำถามที่เต็มไปด้วยการชี้นำ ทวงบุญคุณ แสดงความเก่งกาจของตัวเองที่ไม่มีใครในประเทศนี้จะเทียบเคียงได้อีกแล้ว วนเวียนแต่เรื่องความขัดแย้ง โดยเฉพาะเรื่องกลุ่มการเมือง วิกฤติทางการเมือง

เมื่อเป็นเช่นนั้นคนก็อดที่จะถามย้อนกลับไปที่ท่านผู้มีอำนาจว่า สิ่งที่เรียกว่าวิกฤตินั้นมันวิกฤติแท้หรือวิกฤติเทียม กลุ่มที่ตั้งขึ้นมาล้มรัฐบาลเลือกตั้งใครอยู่เบื้องหลัง และวันนี้ยังหน้าสลอนสนับสนุนคนที่ยังอยู่ในอำนาจอย่างแข็งขัน ถามต่อไปว่า อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นการรวมหัวกันล้มประชาธิปไตยปล้นอำนาจคนที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกหรือเปล่า

ยิ่งในประเด็นเรื่องการอ้างสิทธิในการสนับสนุนพรรคการเมือง ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความหน้าทนและสะท้อนภาวะของคนที่ลุ่มหลง มัวเมาในอำนาจอย่างไม่ลืมหูลืมตา ที่น่าหัวร่อคือ คนที่จำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในหลายๆ เรื่อง รวมไปถึงยังไม่คืนสิทธิให้กับพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม ทั้งๆที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว กลับมาอ้างสิทธิของตัวเองหน้าตาเฉย อย่างไม่กระดากและละอายใจ

มากไปกว่านั้น จริงอยู่ที่ท่านและคณะมีสิทธิจะสนับสนุนใครก็ได้ หากกติกาที่ใช้ในกระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม แต่สิ่งที่เห็นและการกระทำที่ผ่านมา มันยิ่งมาตอกย้ำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นผ่านคำถามของท่านผู้นำว่า การยกร่างกติกาไม่ว่าจะเรื่องการเลือกตั้ง เรื่องพรรคการเมือง รวมไปถึงประเด็นนายกรัฐมนตรีคนนอก มันเป็นการใช้ความจัดเจนด้านกฎหมายเอื้อประโยชน์เพื่อใคร

หากท่านจะอ้างสิทธิในการสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็ได้ โดยเหตุผลเพียงว่านายกฯและหัวหน้าคสช.ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว ดูท่าจะเป็นการพูดเอาดีเข้าตัวมากไปหน่อย ถ้าอยากจะให้ประชาชนคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ไม่มีการสืบทอดอำนาจ นอกจากท่านจะประกาศสนับสนุนพรรคการเมืองใดแล้ว ก็ควรจะประกาศให้ชัดเสียด้วยว่า ไม่รับตำแหน่งนายกฯคนนอกและคนในองคาพยพแห่งอำนาจปัจจุบัน ก็จะไม่เข้าร่วมวงแห่งอำนาจหลังการเลือกตั้งด้วย

กล้าที่จะใช้ความเป็นชายชาติทหารประกาศเช่นนั้นหรือเปล่า เมื่อไม่มันก็สะท้อนเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ได้อย่างแจ่มชัดที่สุด หรือจะเป็นอย่างที่อดีตทหารหญิงที่มียศแค่ร้อยโทอย่าง สุณิสา เลิศภควัต ว่า อันที่จริงคำถามทั้งหกข้อเป็นคำถามที่ไม่น่าถาม เพราะผู้มีอำนาจย่อมใช้สามัญสำนึกตอบตัวเองได้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร และเห็นๆ กันอยู่ว่ารัฐบาลคสช.บริหารประเทศล้มเหลว ทำให้ประเทศชาติถอยหลังลงคลอง ไม่เห็นน่าเอามาตั้งเป็นคำถามให้เสียเวลาตอบ ไม่รู้ใช้สมองส่วนไหนคิด

การถามแบบนี้ เพื่อหวังเอาคำตอบไปใช้เป็นข้ออ้างเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอย่างน่าเกลียด และจะสร้างความลำบากให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องไปเกณฑ์คนมาตอบเพื่อให้ถูกใจรัฐบาลและคสช.อีกต่างหาก ความจริงลองย้อนกลับไปดู 4 คำถามที่ชงให้ประชาชนตอบเมื่อปีที่แล้ว คึกคักในช่วงแรกก่อนที่จะมุบมิบงุบงิบ เก็บงำกันมาจนถึงวันนี้ ถ้าคำถามมันเห็นเจตนาและวิธีการมันก็เด่นชัดว่าส่งผลต่อการตอบในตรงกับความต้องการของผู้ตั้งคำถาม มันจะเกิดประโยชน์อะไร จะมีผลดีต่อประเทศชาติตรงไหน

Back to top button