CHO ดวงชง
ไม่รู้เพราะว่า เสี่ยจิง หรือ สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เป็นวิศวกรที่จบจากญี่ปุ่น หรืออย่างไร จึงไม่เชื่อเรื่องดวง และการชงกันของดวง
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
ไม่รู้เพราะว่า เสี่ยจิง หรือ สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เป็นวิศวกรที่จบจากญี่ปุ่น หรืออย่างไร จึงไม่เชื่อเรื่องดวง และการชงกันของดวง
ผลลัพธ์คือ ทำให้การที่ CHO เข้ามาทำธุรกรรมข้องแวะกับรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องการขาดทุน จากบริการเดินรถประจำทางเรื้อรัง จึงมีแต่เรื่องอุปสรรคมากมายไม่เว้นตั้งแต่เรื่องเล็กยันเรื่องใหญ่
3 ปีก่อน CHO และเสี่ยจิง เคยปวดหัวและอกหักในที่สุดมาแล้ว กับความไม่เอาไหนของบอร์ด ขสมก.ที่นอกจากขี้ขลาดและบ้องตื้นกับการตั้ง TOR ประมูล เพื่อเป็นผู้ผลิตและประกอบรถเมล์ให้รถประจำทาง NGV ให้กับ ขสมก.จำนวน 489 คัน มูลค่า 1.5 พันล้านบาทเศษ พร้อมกับสัญญาซ่อมบำรุงอีกประมาณ 2.2 พันล้านบาทภายใน 10 ปีข้างหน้า ทั้งที่ประมูลชนะมาอย่างใสสะอาด
สาเหตุสำคัญก็อย่างที่รู้กันดีว่า เบื้องหลังมาจาก ปัจจัยลบที่เรียกว่า “เบสท์ริน กรุ๊ป เอฟเฟ็กต์” นั่นเอง….ทำให้ค่าเสียโอกาสของ CHO มีมหาศาล ราคาหุ้นตกรูดมหาราช
มาปีนี้ CHO และเสี่ยจิงยังไม่ยอมเข็ดหลาบ พาตัวเองเข้าร่วมประมูลติดตั้งระบบตั๋วที่เรียกว่า e-Ticket ให้กับ ขสมก.อีก ภายใต้ชื่อกิจการร่วมค้า JVCC และชนะ โดยมีเงื่อนไขใน TOR ระบุไว้ชัดเจนที่ย่นย่อว่า 1) ผู้รับจ้างต้องติดตั้งระบบ e-Ticket บนรถโดยสาร ขสมก.ไม่ต่ำกว่า 100 คันภายในระยะเวลา 120 วันนับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญา 2) จากนั้นต้องติดตั้งระบบได้ไม่น้อยกว่า 700 คันภายใน 180 วัน และ 3) ติดตั้งให้ครบ 2,600 คัน ภายใน 1 ปี ภายในเงื่อนเวลา สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561
เงื่อนไขระบุชัดว่า ตราบใดที่ยังไม่ครบ จะไม่มีการชำระบัญชีให้ CHO แต่อย่างใด
ระหว่างเดือนมิถุนายนที่มีการลงนามเซ็นสัญญากันไป จึงถือว่าเป็นการทดสอบระบบการทำงาน โดยมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง คือ กรมบัญชีกลาง สำนักนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) ธนาคารกรุงไทย ขสมก. และตัวแทนของ CHO ทุกวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์ เพื่อทดสอบและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความเรียบร้อยของโครงการ
เรื่องทำท่าจะเรียบร้อยราบรื่นดี เพราะพันธมิตรร่วมค้าของ CHO นั้นเป็นเจ้าของเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้ ที่ทำงานด้านนี้มายาวนานไม่เคยมีปัญหามาเลย
จู่ๆก็เหมือนมีมารมาผจญ…..มีเอกสารแถลงข่าวผ่านกรมประชาสัมพันธ์ ลงชื่อ นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ออกมารับรองข้อกล่าวหาของสหภาพรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ที่ออกมาระบุว่า CHO ดำเนินการไม่เป็นไปตามสัญญา และเสนอให้นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.สั่งการตรวจสอบและเร่งรัดให้ CHO ปฏิบัติตามสัญญา …ตามด้วยข้อเสนอว่า ควรบอกเลิกสัญญา และให้รายอื่นที่มีความพร้อมเข้ามาดำเนินการแทน
ข้อกล่าวหาที่ระบุว่าร้ายแรงจนถึงขั้นต้องยกเลิกสัญญาประกอบด้วย 1.ภายใน วันที่ 13 ตุลาคม 2560 CHO ต้องติดตั้งระบบให้ได้ จำนวน 100 คัน แต่กลับใช้งานได้เพียง 57 คัน 2.CHO ทำการติดตั้งระบบ E- Ticket ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2560 ได้ประมาณ 190 คัน แต่ไม่สามารถใช้งานได้ โดยต้องนำบัตรจอดรถเป็น คูปองให้พนักงานเก็บค่าโดยสารฉีกหางบัตรจอดรถแทน และจะนำอุปกรณ์มือถือ Mobile Phone มาให้ ขสมก.ใช้แทนชั่วคราว 3.ระบบไม่สามารถใช้งานได้เกิดปัญหาในการตรวจสอบจำนวนผู้โดยสารและจะเกิดปัญหาในการคำนวณหรือคิดค่าตอบแทนให้กับพนักงานประจำรถ และรายได้ค่าโดยสาร 4.มีการแก้ไขเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าหากระบบ E -Ticket เกิดขัดข้องไม่สามารถใช้งานได้ CHO จะต้องนำช่างมาแก้ไขภายใน 2 ชั่วโมง ให้เป็น 3 ชั่วโมง ซึ่งขัดกับ TOR ที่กำหนดไว้
เจอคนระดับรักษาการ ผอ. ขสมก.เปิดไฟแดงมาแต่ไกลอย่างนี้…จะให้นอนกอดหุ้นได้ยังไง….พ่ะย่ะค่ะ
ทีมงานแฉฯ…..พยายามใช้ความพยายามคุ้ยแคะ TOR จนปรุไป 2 ตลบ ไม่พบข้อความตามข้อกล่าวหาอย่างใดเลย…เพราะโดยข้อเท็จจริง ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองระบบเท่านั้น เนื่องจากมีการระบุชัดว่า เมื่อบริษัทติดตั้งระบบครบ 800 คันภายใน 180 วัน บริษัทจึงอนุญาตให้ ขสมก.ให้นำรถเมล์มาวิ่งได้….และเมื่อติดตั้งครบ 2,600 คันจะเรียกเก็บเงินค่าเช่า 5 ปี โดยขณะนี้ CHO ยังไม่ได้รับเงินค่าเช่าอะไรเลย
เหตุผลที่การทดสอบยังไม่เสร็จ เพราะ….แมวมองบอกว่า
1) รายละเอียดต่างๆ เรื่องรถที่ต้องรับมาติดตั้งจาก ขสมก. และข้อมูลที่ต้องรับจากสนข. มีความล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเข้าติดตั้งตามแผนได้ในช่วงเดือนตุลาคมที่มีการใช้งานค่อนข้างมาก เรื่องนี้ที่ประชุม 5 ฝ่ายรับทราบกันดี
2) พนักงานของ ขสมก. ยังมีความลักลั่นในการใช้งานระบบที่ติดตั้ง ถึงแม้บริษัทจะมีการอบรมแล้ว (ตามทีโออาร์กำหนดให้อบรมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำนวน 5,000 คนหรือ 20 อู่ ในจำนวน 1 ครั้ง) แต่บริษัทมีแผนอบรมเพิ่มเติมให้อีก 1 ครั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน ไม่ใช่ความผิดของระบบของ CHO
3) มีรายงานที่ชัดเจนระบุว่า พนักงานของ ขสมก.และประชาชนผู้ใช้บริการ ยังเกิดความสับสน โดยมีการนำบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยที่มาจากต่างจังหวัดมาใช้ อย่างผิดประเภท ไม่สามารถใช้งานระบบของขสมก.ได้ เพราะว่าออกแบบมาให้ใช้ได้เฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามภาครัฐกำหนด จึงทำให้ได้รับการเข้าใจผิดว่าระบบอีทิกเก็ทใช้งานไม่ได้
4) รถเมล์ใต้สังกัด ขสมก. นอกจากมีความหลากหลายยี่ห้อและรุ่นชนิด “ร้อยพ่อพันแม่” แล้ว ยังมีอายุการใช้งานที่ไม่เท่าเทียมกันอีก ทำให้มีปัญหาเรื่องระบบไฟเพื่อติดตั้งเครื่องจ่ายตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เกี่ยวโดยตรงกับระบบ e-Ticket ของบริษัทร่วมค้า
ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 4 ข้อ ที่ประชุมร่วม 5 ฝ่ายร่วมรับรู้กันดีตลอดว่า เป็นผลมาจากทางเทคนิคของรถ การสื่อสาร และความเข้าใจผิดของพนักงานและประชาชน ไม่มีการกล่าวหากันเลย ว่าทำผิด TOR แต่อย่างใด…แต่มีคนที่พูดในห้องประชุมอย่างหนึ่ง แต่พูดนอกห้องประชุมอีกอย่างหนึ่ง ทำให้เป็นเรื่องขึ้นมา
ปฏิบัติการ “สหภาพชงให้….ประยูรช่วยตบ” จึงเกิดขึ้นอย่างที่เห็น…หาได้เกี่ยวข้องอะไรกับ TOR แต่อย่างใด
ยิ่งเรื่องข้อกล่าวหาสุดท้ายว่า มีการแก้ไขที่ผิดจาก TOR เดิม….ยิ่งเลอะเทอะกันไปใหญ่ เพราะ TOR ที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว CHO หรือ ขสมก. แก้ไขเองไม่ได้ เพราะต้องผ่านการรับรองโดยสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วเท่านั้น
ไม่ทราบว่าคุณพี่ประยูร เป็น รักษาการ ผอ.ขสมก.นี้อีท่าไหนกันแน่…เคยเปิด TOR อ่านมั่งรึป่าว…..ขอรับกระผม
หรือคุณพี่จะให้เข้าใจกันว่า ดวงของ CHO ชงกับ ขสมก.โดยเจตนา
หุ หุ หุ